Posted: 20 Dec 2017 04:34 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์

หลังจากที่ “ล่า” บทประพันธ์ของทมยันตี ถูกนำมาถ่ายทอดใหม่เป็นครั้งที่ 3 (ครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์เมื่อปี 2520 และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี2537 ดังนั้นครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่2 ในรูปแบบละครโทรทัศน์) ไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ได้สร้างกระแสบนสังคมออนไลน์ไปไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของการตามล่าล้างแค้นผู้ชายทั้ง7คน ที่สร้างบาดแผลในชีวิตไว้ให้นางเอกและลูกสาว แน่นอนว่า ฉากสำคัญฉากหนึ่งอันเป็นที่มาของการที่ทำให้ผู้หญิงธรรมดาๆที่คิดร้ายต่อใครไม่เป็น ผู้หญิงธรรมดาๆที่เพียงอยากมีชีวิตเพื่อเป็นแม่ที่ดีของลูก กลับต้องลุกขึ้นมา “ล่า” เพื่อเอาคืนชายโฉด7คน ฉากนั้นก็คือฉากการ “รุมโทรมข่มขืน”

ในส่วนของการสร้างละครภายใต้การกำกับดูแลของ “สันต์ ศรีหล่อแก้ว” เท่าที่ได้ดูการออกอากาศไปแล้ว โดยรวมๆผู้เขียนถือว่าทำได้ดีมาก ฉากที่นางเอกและลูกสาวถูกรุมโทรมข่มขืน ดูไม่ล่อแหลมเกินไปแต่สะเทือนความรู้สึกมาก รายละเอียดอื่นๆอาจมีข้อถูกท้วงติงบ้าง ซึ่ง ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ท่านได้กรุณาให้ความเห็นไปแล้ว แต่รวมๆผู้เขียนยังมองว่าละครเวอร์ชั่นนี้ทำได้ดีมาก (อย่างน้อยก็ดีกว่าละครไทยที่ผ่านมาอีกหลายเรื่องมากๆ)

แต่ผมอยากถ่ายทอดมิติความรุนแรงทางเพศ เมื่อการ “ข่มขืน” เป็นมากกว่าเพียงเรื่องการสนองอารมณ์ความต้องการทางเพศ

ถ้าใครได้ดูละครเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือได้อ่านบทประพันธ์ จะเห็นว่า มูลเหตุจูงใจของการข่มขืน ไม่ใช่เรื่องของความหื่นกระหายทางเพศ ยิ่งเรื่องประเด็นการแต่งตัวล่อแหลมของนางเอกและบุตรสาว ตัดออกไปได้เลย (และเรื่องแบบนี้ สำหรับผม ไม่อาจยอมรับเป็นเหตุผลได้ เพราะมันคือมิติความรุนแรงทับซ้อนในเชิงมายาคติ)

มูลเหตุมาจากเรื่องที่นางเอก เอาของกลางคดีค้ายาเสพติดไปส่งให้ตำรวจ พวกผู้ร้ายในเรื่องจึงโกรธแค้น และพยายามตามมาแก้แค้น เมื่อมีช่วงสบจังหวะ จึงเข้าทำการฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราบนตึกร้าง

ตามบทโทรทัศน์ “ไอ้แป๊ว” หัวหน้าแก๊งค์ 7 ทรชนพูดขึ้นมาว่า “พวกมึงสองคน ต้องชดใช้สิ่งที่ทำกับพวกกูด้วยชีวิต!” ก่อนลงมือข่มขืน ตรงนี้อาจชี้ให้เห็นได้ว่า การรุมโทรมข่มขืนครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งการสนองอารมณ์ทางเพศเป็นหลัก (แม้ในฉากที่ผ่านๆมา ตัวละครบทร้ายทั้ง 7 คน อาจมีการแทะโลม ใช้วาจาส่อทางกามบ้าง แต่ก็ไม่มีทีท่าที่คิดจะคุกคามบังคับขืนใจนางเอกกับลูกสาว)

แต่มุ่งใช้การข่มขืนในการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อสองแม่ลูกตัวละครเอกของเรื่องนี้ ให้กลายเป็นบาดแผลในชีวิต ให้เหมือนตกนรกทั้งเป็น

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้คือ พฤติการณ์นี้ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมายาคติในสังคม ที่บ่อยครั้งพวกเราเอง อาจตกเป็นผู้มีส่วนร่วมกันโดยไม่รู้ตัว ไม่ทันได้คิด

ประการแรก สังคมไทยเรายอมรับการดำรงอยู่ของมายาคติในเรื่องที่ว่า การที่ผู้หญิงสักคนสูญเสียพรหมจรรย์* หรือความบริสุทธิ์ทางเพศให้ผู้ชายสักคน นั่นคือการสูญเสียความเป็นเจ้าของในชีวิต สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนให้กับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับตน ไม่ว่าโดยยินยอมก็ดี ไม่ยินยอมก็ดี

บางครั้ง เราก็มีวาทกรรมที่สะท้อนมายาคติที่แฝงความรุนแรงเช่นนี้ออกมาในรูปของการพูดหยอกล้อกันเล่นๆ เช่น “แม้ชีวิตจริงเราไม่ได้เป็นอะไรกัน แต่ในความฝันเธอเสร็จฉันตั้งนานแล้ว” สิ่งที่แฝงอยู่ในประโยคนี้นั่นคือการยอมรับว่า การที่ผู้ชายสำเร็จความใคร่กับผู้หญิงได้สำเร็จ นั่นคือการที่ชีวิต ร่างกายของผู้หญิงผู้นั้นจะต้องเป็นของผู้ชายแล้ว

หรือแม้กระทั่งการที่ผ่านมาจนครบรอบ10ปีแล้ว ที่เครือข่ายองค์กรสตรีได้ผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 ได้สำเร็จ แต่สุดท้าย คนในสังคมจำนวนหนึ่ง ก็ยังไม่เข้าใจ หรือยอมรับในเรื่องความผิดฐาน “ข่มขืนภรรยา” นี่ก็เป็นผลพวงจากมายาคติการเอาเรื่องพรหมจรรย์ไปผูกติดกับการทำให้ผู้ชายมีความเป็นเจ้าของชีวิตของฝ่ายหญิง

และในอดีตที่ผ่านมา พบว่า เรายอมรับกันแม้กระทั่ง การให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่ข่มขืนตน เพื่อยุติปัญหา โดยไม่ได้นึกถึงว่านี่คือการตอกย้ำความรุนแรงทางเพศที่ซ้ำซ้อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากมิติการเอาเรื่อง ความเป็นเจ้าของในชีวิตร่างกายไปผูกติดกับเรื่องพรหมจรรย์แล้ว ประเด็นเรื่องการใช้การข่มขืนเพื่อย่ำยี ทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมโลก ที่ปรากฏว่าในหลากหลายสงครามนับแต่โบราณกาล ก็มีกรณีที่ทหารผู้รุกรานใช้การข่มขืนสนองตัณหาและย่ำยีประชาชนในดินแดนที่ตนไปรุกราน รวมถึงยังมีบางประเทศ ก็มีการใช้การรุมโทรมข่มขืน เป็นบทลงโทษผู้หญิงที่ถูกพิพากษาว่าประพฤติผิดระเบียบ ผิดจารีตของสังคมนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงมีปรากฏในบางประเทศจนถึงปัจจุบัน

อีกประการที่ต้องขอกล่าวถึง หากใครได้รับชมละครเรื่องดังกล่าวมาต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มออกอากาศ แม้ว่าเนื้อเรื่องเวอร์ชั่นนี้จะได้ปรับเข้ากับบริบทสังคมสมัยใหม่ แต่กระนั้น แนวคิดการยัดเยียดตราบาปให้ผู้ถูกกระทำ ก็ยังคงปรากฏผ่านตัวละครที่เป็นอดีตสามีของนางเอก ที่ตามมาอาละวาดที่โรงพยาบาล ว่าตนรู้สึกอับอาย ให้นางเอกและบุตรสาวที่เกิดกับตนไปเปลี่ยนนามสกุลและขอตัดขาด

ความจริงในสังคมคือ มายาคติการยัดเยียดตราบาปแก่ผู้ถูกกระทำ ยังมิได้หมดไปจากสังคมเสียทีเดียว มันยังคงปรากฏในรูปแบบของการหาเหตุผลต่างๆมากล่าวโทษหรืออ้างอิงเหตุการณ์ เช่น การกล่าวโทษเรื่องการแต่งกายของเพศหญิงว่าล่อแหลม ยั่วยวนให้เกิดการข่มขืน การกล่าวอ้างว่าผู้หญิงไม่ควรดื่มสุรา หรือแม้แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุข่มขืนที่เกิดในละครเรื่องนี้ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่มีทั้งเรื่องการแต่งกายล่อแหลม หรือการดื่มสุรา แต่ก็ยังมีความคิดเห็นบางส่วนจากผู้ชม ที่แม้แสดงออกว่าเห็นใจผู้ถูกกระทำ แต่ก็ยังไม่ก้าวข้ามมายาคติที่คิดว่า ผู้หญิงไม่ควรเดินในที่เปลี่ยว

แม้ในทางปฏิบัติ เราอาจต้องระมัดระวังพื้นที่เปลี่ยว พื้นที่สุ่มเสี่ยงอาชญากรรม แต่ผู้เขียนก็ขอเรียกร้องว่า หากเรายืนยันว่าความเสมอภาคของบุคคลคือสิ่งสำคัญ ประเด็นการแต่งกาย การใช้ชีวิตไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่ควรเป็นเหตุรองรับการถูกข่มขืนทั้งสิ้น

การสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนต่างหาก ที่ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราในฐานะพลเมืองของสังคม

และผู้เขียนยังขอยืนยัน ณ ตรงนี้ในจุดยืนเดิมที่ยึดถือมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ผู้เขียนร่วมทำงานรณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกกรณี ผู้เขียนอยากให้คนในสังคมได้มองเห็นประเด็นร่วมกันจากละครเรื่องนี้ มากกว่าการเรียกร้องโทษประหาร หรือเพิ่มโทษในคดีการข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เขียนอยากให้ผู้คนในสังคมตระหนักร่วมกันในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ผู้เขียนอยากขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และหวังว่าผู้ชมละครทุกท่านจะรวมกันในสนับสนุน ให้มีการนำเอาเรื่อง Battered Person Syndrome หรือ “ภาวะกดดันจนต้องฆ่า” มาใช้ในการพิจารณาคดีที่อาจมีผลพวงมาจากการที่จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำความรุนแรงสะสมต่อเนื่อง

จริงอยู่ เราอาจไม่ยอมรับการแก้แค้น หรือแก้ไขปัญหาในสังคมกันด้วยความรุนแรง และกรณีอย่างในละครนี้ที่นางเอกได้ฆ่าชายโฉด 7 คน โดยไตร่ตรองวางแผนเป็นอย่างดี มันคือการแก้ปัญหานอกวิถีทางกระบวนการยุติธรรม แต่เนื้อเรื่องก็ได้นำเสนอภาพการถูกกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับตัวนางเอก ตั้งแต่การทำร้ายทุบตี นอกใจ เหยียดหยามดูหมิ่นโดยอดีตสามี ต่อเนื่องมาจนถึงการข่มขืนรุมโทรมโดยชายโฉด 7 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้แก่นางเอกได้เลย

อย่างการลงโทษในคดีข่มขืน ผู้เขียนเองก็มองว่า แม้บทลงโทษที่ระบุนั้น จะไม่ได้เบาเกินไป และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทลงโทษ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ความเสื่อมศรัทธาที่สังคมมีต่อกระบวนการยุติธรรม ก็คือการบังคับใช้ ที่ขาดประสิทธิภาพตั้งแต่การพิจารณาโทษ ไปจนถึงกระบวนการลงโทษ ที่ขาดการขัดเกลาพฤติกรรม การติดตามผลที่ดี จนสุดท้ายเรือนจำ ยังเหมือนจะกลายเป็น “โรงเรียนอาชญากรรม” สำหรับอาชญากรมือใหม่ไปเสียอีก !

ในชีวิตจริง การฆาตกรรมหรือพยายามฆ่า ที่เกี่ยวข้องกับผลพวงจาก Battered Person Syndrome มีไม่น้อย ดังเช่นคดีฆาตกรรมอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ ที่บุคคลผู้เป็นภรรยาตัดสินใจจ้างมือปืนมาฆ่าสามีของตน เนื่องจากตนถูกสามีทำร้ายร่างกายมาตลอด แม้ว่าเรื่องราวตกเป็นข่าวดัง แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การช่วยเหลือของ “แม่พระหน้าสื่อ” ก็เป็นเพียงฉากสร้างภาพที่ไม่ได้ทำงานกระบวนกับต้นตอปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขที่เหมาะสม !

เมื่อกระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้ ความรุนแรงยังเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด ความกดดันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การฆ่า จึงอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ผู้เปราะบางทางสังคม จะสามารถใช้เป็นหนทางออกจากความกดดันที่ตนแบกรับได้

และผู้เขียนยังเชื่อว่า มีผู้ถูกกระทำกดดันสะสมอีกจำนวนมาก ที่ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่า พยายามฆ่า หรือกำลังคิดที่จะฆ่า !

การหยิบเรื่อง Battered Person Syndrome มาใช้พิจารณาคดี แม้ต่อให้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมอย่างเหมาะสมได้เต็มที่ แต่อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และพลเมืองอย่างเราๆ จะได้ใส่ใจต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงต่อเด็กที่ยังมีอยู่อีกมากมายในสังคม เพราะเชื่อได้ว่า เรื่องนี้มิเพียงแต่เป็นวงจนที่ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็น “ผู้กระทำ” อันเป็นผลจากการถูกกระทำจนต้องหาทางออกด้วยการฆ่าเท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เรื่องการถูกกระทำความรุนแรงสะสมในรูปแบบต่างๆ ยังทำให้เด็กและเยาวชนของเราจำนวนอีกไม่น้อย กำลังเตรียมพร้อมที่จะกลายเป็น “ผู้กระทำ” ต่อผู้อื่นต่อไปได้อีก

แม้ในชีวิตจริง เรื่องการมีองค์กรลับที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน กลายเป็นนักฆ่า ตามล้างแค้นผู้ชายที่ย่ำยีตนอย่างในละครอาจไม่มีอยู่จริง แต่ละครเรื่องนี้ ก็น่าจะพอทำให้เราได้เห็นภาพว่า หากเราไม่ร่วมมือกัน ใส่ใจจริงจังต่อปัญหาความรุนแรงที่ถูกถ่ายทอดส่งผ่านในสังคมตั้งแต่โครงสร้างจนถึงฐานราก ผู้ถูกกระทำก็สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นผู้กระทำ และความรุนแรงจะยังดำรงอยู่ในสังคมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !


ข้อเสนอเพิ่มเติม: ผู้เขียนอยากให้ทางผู้จัดละครและผู้กำกับ ได้พิจารณาหาทางสอดแทรกเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวภูมิหลังของผู้กระทำทั้ง 7 คน ที่แต่ละคนอาจเคยเป็น “ผู้ถูกกระทำ” มาก่อน เพื่อชี้ให้เห็นว่า การกำเนิดอาชญากรนั้น มีที่มาที่ไป บาดแผลความรุนแรงที่เปลี่ยนเยาวชนเป็นอาชญากร คือสิ่งที่ถูกส่งต่อผ่านสังคมที่พวกเราอยู่ทุกวันนี้ เพื่อกระตุกต่อมคิดให้ผู้คนได้ร่วมกันขบคิดถึงความรุนแรงแฝงกันมากขึ้นและตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อวางรากฐานความดีงามให้เด็กและเยาวชนของเรา มากกว่าที่จะมุ่งแนวคิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน หากไม่เป็นภาระแก่ผู้จัดละครและสถานีโทรทัศน์มากเกินไปก็โปรดพิจารณา



หมายเหตุ: *พรหมจรรย์ ในความหมายตามตัวอักษร หมายถึง ความประพฤติบริสุทธิ์สะอาด แต่ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตนำมาใช้ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในสังคมไทย
[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.