Posted: 28 Dec 2017 08:31 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

28 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2560 โดยระบุว่า สถานการณ์ด้านสื่อในนี้ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตกอยู่ในสถานการณ์ “ควบคุม คุกคาม คลุกคลาน” เป็นอีกปีหนึ่งที่สื่อยังคงปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของอำนาจรัฐ อีกทั้งเผชิญกับท่าทีของผู้นำที่มีอคติในการทำงานของสื่อ เป็นปีที่สื่อยังถูกกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐด้วยข้ออ้างเหตุผลความมั่นคงของรัฐ ถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดัน แทรกแซงการทำงานของสื่ออยู่เสมอ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ยังเป็นปีที่สื่อยังต้องเผชิญกับวิกฤติจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยีสู่โลกดิจิทัล และผลจากปัญหาเศรษฐกิจทำให้สื่อหลายค่าย ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวีดิจิทัล ต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่นำมาสู่การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

โดยมีรายละเอียดดังนี้



ควบคุมเข้มข้น

ปี 2560 เป็นปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการทำประชามติ เพื่อเตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง คืนเสรีภาพให้ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้รองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ไว้ ในมาตรา 34 และมาตรา 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2557 ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. โดยมีเจตนาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. ยังคงมีผลบังคับใช้ เพื่อควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องระมัดระวังตัวและเซ็นเซอร์ตัวเอง โดยเฉพาะประเด็นตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล บุคคลในคณะรัฐบาล ต่อเรื่องความโปร่งใสต่างๆ ที่มักจะถูกเตือน และกดดันจากคนในรัฐบาล ส่งผลต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

รัฐบาลคสช. ยังคงควบคุมเวทีเสวนาการแสดงความเห็นที่มีต่อนโยบายรัฐ ที่องค์กรต่างๆ จัดอย่างเข้มงวด ผู้จัดจะต้องแจ้งไปยังสถานีตำรวจในท้องที่ทราบทุกครั้งก่อน หลายเวทีถูกเจ้าหน้าที่ร้องขอให้ยกเลิก เช่น เวทีของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย หรือ FCCT ที่เตรียมจัดหัวข้อ "ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 - ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย" เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีให้เหตุผลว่ากระทบต่อความมั่นคง ผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ให้เกิดความวุ่นวาย หรือ เวทีเสวนาแถลงจุดยืนผลกระทบของประชาชนที่มีต่อ 'ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ - ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า' ฉบับใหม่ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ถนนรามคำแหง 39 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้เข้าควบคุมและปิดกั้นไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารายงานข่าว อ้างว่ากลัวกลุ่มการเมืองจะเอาเยี่ยงอย่าง

ความพยายาม “ควบคุม” สื่อมวลชน ยังสะท้อนผ่านการเสนอร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่เสนอให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบ ซึ่งเป็นข้อเสนอในกรอบการปฏิรูปประเทศด้านสื่อจากแม่น้ำ 5 สายของคสช.

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อและนักข่าวได้รวมพลังคัดค้านอย่างหนัก เพราะเห็นเป็นกฎหมายที่มีหลักการควบคุมบังคับมากกว่าคุ้มครอง เปิดทางให้รัฐเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อ รวมถึงให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ เช่นวิชาชีพอื่นๆ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ หากรายงานข่าวผิดจากมาตรฐานกลาง จะถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพไม่สามารถกลับมาทำงานสื่อมวลชนได้ หรือถ้าสื่อไม่มีใบอนุญาต จะถูกปรับ และผู้บริหารสื่อองค์กรสื่อที่ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษจำคุกด้วย

ถึงแม้ คณะกรรมาธิการจะยอมปรับเนื้อหา ไม่บังคับให้สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตและลดตัวแทนภาครัฐเหลือเพียงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อลดกระแสคัดค้านจากสื่อมวลชน จนที่ประชุมสปท. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่งให้รัฐบาลพิจารณาออกเป็นกฎหมาย แต่องค์กรวิชาชีพสื่อยังคงคัดค้านและได้เข้าพบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับปากว่าหากรัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองสื่อจะไม่ยึดรูปแบบของสปท. แต่เห็นด้วยที่จะให้มีกลไกกำกับดูแลสื่อ มีผู้ตรวจการสื่อรับเรื่องร้องทุกข์แต่ละสังกัด และให้ประชาชนมีบทบาทตรวจสอบสื่อที่ละเมิดจริยธรรม ตามแนวทางที่องค์กรวิชาชีพสื่อเสนอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านอื่น โดยตั้งตัวแทนจากภาครัฐ สปท. สื่อมวลชน และนักวิชาการเข้าร่วม เพื่อวางกรอบการปฏิรูปสื่อสารมวลชนทั้งระบบ แยกออกเป็น 6 ประเด็น อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน การปฏิรูปดูแลสื่อออนไลน์ การปฏิรูประบบความปลอดภัยไซเบอร์ การปฏิรูประบบข้อมูลข่าวสารภาครัฐ และการปฏิรูปมาตรฐานวิชาชีพและระบบกำกับดูแลสื่อมวลชน ซึ่งในเรื่องหลังนี้ยังพบว่า มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฉบับสปท. ให้พิจารณา รวมถึงยังมีความพยายามผลักดันแนวคิด “ควบคุมสื่อ” ผ่านกรรมการที่ใกล้ชิดภาครัฐ

จึงต้องจับตาว่า ในแผนการปฏิรูปสื่อที่จะเสนอเป็นร่างกฎหมายออกมาในปี 2561 จะเกิด “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ”ครอบคลุมสื่อทุกประเภท มากำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนวิชาชีพในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากย่ิงขึ้น โดยยังคงรักษาหลักการ“กำกับดูแลกันเอง”ของสื่อมวลชน โดยองค์กรวิชาชีพ ในมาตรฐานสากล เคารพกฎหมาย สำนึกแห่งความรับผิดชอบด้านจริยธรรมวิชาชีพ ในช่วงรอยต่อการปฏิรูปนี้จริงหรือไม่
คุกคามลุยฟ้อง

การคุกคามสื่อมวลชนที่ชัดเจนคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินคดีกับนายณัฐพร วีระนันท์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ข้อหาบุกรุกสถานที่และยึดโทรศัพท์มือถือ หลังจากได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ในชื่อ “เก๋ไก๋ อพาร์ทเม้นท์” ภายในซอยพหลโยธิน 32 ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหอพักของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เชิญตัวนายณัฐพรไปโรงพักและยึดโทรศัพท์มือถือ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่ คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพราะขณะที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ได้แสดงตนและสังกัดชัดเจน ไม่ได้เข้าไปในจุดห้ามเข้า หรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่เข้าข่ายบุกรุกสถานที่ ตามที่พนักงานสอบสวนทำสำนวนฟ้องอัยการ

อีกกรณีคือ การฟ้องร้องสื่อ นักวิชาการกลุ่มการเมืองด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา พบแนวโน้มการฟ้องร้องจากเจ้าหน้าที่ทหารสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 รวมแล้วจนถึงขณะนี้เกือบ 30 คดี ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลคสช. และเป็นการติชมโดยสุจริต โดยในปี 2560 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตั้งข้อหากับนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Khaosod English กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก ที่มีข้อความกระทบกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวน 5 โพสต์ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของคสช. ซึ่งหากผิดจริง โทษความผิดสูงสุดจำคุก 20 ปี

การฟ้อง “เหมาเข่ง” ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อใช้ปรามนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชนที่วิจารณ์รัฐบาลโดยสุจริต ซึ่งการฟ้องในช่วงหลังจะพ่วงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เข้าไปด้วยตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงกวดขันหัวหน้าหน่วยตรวจสอบข้อมูลในโซเชียลมีเดีย หากถูกพาดพิงทำให้เสียหายก็ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม หากดูผลของคดีความผิด มาตรา 116 จำนวน 20 กว่าคดีจะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นสอบสวนและการพิจารณาของศาล มี 6 คดีที่ศาลได้จำหน่ายคดีและสั่งไม่ฟ้อง
ล้มลุกคลุกคลาน

เป็นปีที่สื่อมวลชนอยู่ในภาวะยากลำบากจากผลกระทบของสึนามิดิจิตอลลูกใหญ่ที่รุนแรง หรือ Digital Disruption จากพฤติกรรมผู้อ่านที่เปลี่ยนไปเสพสื่อออนไลน์ที่ฟรีและเร็วกว่า ควบคู่กับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ยอดงบโฆษณาลดลง บริษัทสื่อขนาดใหญ่ปรับลดขนาดองค์กร ลดพนักงาน นิตยสารชื่อดังที่อยู่คู่สังคมมาหลายสิบปีถึงคราวอวสานลง ส่วนทีวีดิจิตอลก็ลดคน เป็นปีแห่งการล้มลุกคลุกคลานของสื่ออีกปี

สื่อกระแสหลักในค่ายดังประกาศนโยบายเออลี่ รีไทร์เช่น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกโครงการสมัครใจเกษียณก่อนกำหนดรอบที่สาม และขายสินทรัพย์บริษัทรวม 1,403 ล้านบาท อาทิ มหาวิทยาลัยเนชั่น บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 127 คน ปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการ ลดความเข้มข้นในรายการข่าว และวิเคราะห์ข่าวการเมืองเพื่อความอยู่รอด ส่วนเครือมติชนปรับโครงสร้างลดต้นทุน ยุบแผนกการพิมพ์ แผนกขนส่ง มีพนักงานถูกเลิกจ้าง 270 คน ยังมีอีกหลายค่ายที่ไม่เป็นข่าวแต่ก็ได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่ต่างกัน หนังสือพิมพ์ลดจำนวนหน้าเพื่อลดต้นทุนและมุ่งทำเนื้อหาบนออนไลน์

ในปี 2560 เป็นปีขาลงของนิตยสารทั้งไลฟ์สไตล์ การเมือง แฟชั่น บันเทิง ต่างประสบชะตากรรมจำนวนมาก “ดิฉัน” ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเดือนธันวาคม 2560 รวมอายุ 37 ปี "ขวัญเรือน" อำลาผู้อ่านฉบับเดือนธันวาคมเป็นฉบับสุดท้ายเช่นกัน รวมอายุ 49 ปี “คู่สร้างคู่สม” ฉบับสุดท้ายเดือนธันวาคม อวสานในอายุ 38 ปี “เนชั่นสุดสัปดาห์” ก็ปิดตัวหลังโลดแล่นมา 25 ปี ยังไม่นับนิตยสารฉบับดังที่จากลาไปเมื่อปี 2559 เช่น ขวัญเรือน สกุลไทย Cosmopolitan บางกอกรายสัปดาห์ เปรียว หรือ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ขณะที่ทีวีดิจิทัล ได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากผู้บริโภคที่หันไปดูทีวีออนไลน์แทน ผลประกอบการส่วนใหญ่ขาดทุน หลายช่องแก้ปัญหาด้วยการดึงกลุ่มทุนเข้ามาถือหุ้น ในปี 2560 ทีวีดิจิทัลที่ประกาศโครงการเออรี่รีไทร์ เช่น ไทยรัฐทีวี วอยซ์ทีวี ส่วนไทยพีบีเอส ออกโครงการออลี่ รีไทร์รอบสอง ค่ายเนชั่น ขายช่อง NOW26 แต่หากนับจากปลายปี 2559 เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อลมหายใจหลายช่อง เช่น เครือแกรมมี่ขายช่อง GMM25 ให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี ส่วนอีกช่องของแกรมมี่ คือ ช่อง ONE กลุ่มปราสาททองโอสถเจ้าของช่องพีพีทีวี เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 50 เช่นเดียวกับ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งฯ เจ้าของช่อง AMARIN ขายช่องให้กับ ตระกูลสิริวัฒนภักดี

วิกฤติอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทำให้มีข้อเสนอจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ถึงรัฐบาลให้เข้าแก้ปัญหา โดยขอให้รัฐเป็นผู้รับภาระค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลืออยู่ทั้งหมดของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้วรวมมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าคลื่นที่ใช้ในกิจการทีวีดิจิทัลในปัจจุบันทั้งหมด

จากสถานการณ์สื่อในปี 2560 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนร่วมวิชาชีพยืนหยัดต่อสู้ต่อผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้จะเหนื่อยยากเพียงใด ทั้งนี้เพื่อธำรง รักษาอุดมการณ์ของความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพที่มีหน้าที่นำเสนอข่าวสาร ข้อมูลเพื่อประชาชนส่วนรวม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างแน่วแน่ มั่นคงต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.