แม้หลายฝ่ายหวั่นแรงงานพม่าจะกลับไปทำงานยังบ้านเกิดหลังมีความเปลี่ยนแปลงในประเทศ แต่รายงานวิจัยขององค์กรพัฒนาเอกชนพบแรงงานภาคสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้าในย่างกุ้ง มีรายได้เฉลี่ยรวมที่ 120,000 จ๊าต (หรือประมาณแค่ 2,866.76 บาท/เดือน) เท่านั้น
ที่มาภาพประกอบ: Confederation Trade Unions of Myanmar (CTUM) (แฟ้มภาพ)
25 ธ.ค. 2560 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในประเทศพม่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ประกอบกับความเข้มงวดเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานจากพม่าจะกลับไปทำงานยังบ้านเกิดแทน และอาจจะส่งผลให้แรงงานในไทยขาดแคลน แต่กระนั้นเมื่อมองไปที่คุณภาพงานและค่าตอบแทนจากการทำงานในประเทศพม่าพบว่าก็ยังคงมีปัญหาอยู่
จากงานวิจัย THE YOUNG WOMEN FROM RURAL VILLAGES POWERING AN URBAN INDUSTRY: A BASELINE SURVEY OF YANGON’S GARMENT SECTOR WORKFORCE ที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 องค์กรพัฒนาเอกชนอันได้แก่ Enlightened Myanmar Research Foundation (EMReF) , Andaman Research & Advisory และ มูลนิธิ C&A ที่ทำการสำรวจระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2560 ด้วยการสัมภาษณ์แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้า 778 คน (ร้อยละ 94 เป็นแรงงานหญิง) ที่เขตอุตสาหกรรมในเมือง Hlaing Tharyar และเมือง Shwepyithar เขตนอกเมืองย่างกุ้ง
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นจาก 110,000 คน เป็น 250,000 คนในช่วงปี 2555-2559 ซึ่งเป็นช่วงที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากการสำรวจพบว่าหญิงสาวจากชนบทเป็นแหล่งแรงงานหลักสำหรับโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธ์พม่าที่ประมาณร้อยละ 75 ตามมาด้วยชาติพันธ์ยะไข่ที่ร้อยละ 19 พวกเธออพยพมาจากต่างเมืองและส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงอายุ 18-23 ปี มีรายได้เฉลี่ยรวม (เงินเดือนรวมค่าทำงานล่วงเวลา) ที่ 120,000 จ๊าต หรือประมาณแค่ 2866.76 บาท/เดือน เท่านั้น
ด้านสภาพการทำงานพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 99 ต้องทำงาน 6วัน/สัปดาห์ และร้อยละ 90 ทำงานระหว่าง 8-10 ชั่วโมง/ต่อวัน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่พึ่งทำงานได้ไม่เกิน 3 ปี และร้อยละ 60 ทำงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นครั้งแรก
ด้านสิทธิแรงงานการสำรวจพบว่าร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน แต่ร้อยละ 56 ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน และร้อยละ 33 ตระหนักถึงกลไกการร้องทุกข์ในที่ทำงาน ทั้งนี้มีผู้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงร้อยละ 15 และผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 52 ระบุว่าพวกเธอจะไม่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ส่วนอีกร้อยละ 42 ระบุว่าต้องการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
ในงานวิจัยยังระบุว่าแรงงานจำนวนมากยังคงเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะมีเพียงร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาแรงงานพม่าชุมนุมประท้วงที่ย่างกุ้งและมัณฑะเล เรียกร้องให้ทางการปรับเพิ่มค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 5,600 จ๊าต (ประมาณ 134.62 บาท) จากเดิม 3,600 จ๊าต (ประมาณ 86.54 บาท)
[right-side]
แสดงความคิดเห็น