Posted: 26 Dec 2017 01:55 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ชี้ทางออกสังคมผู้สูงอายุ เสนอจัดตั้ง “กองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” เก็บเบี้ยประกันประชากรวัยทำงาน เริ่มปีละ 500 บ. และปรับเพิ่ม 500 บ. ทุก 5 ปี หนุนเป็นค่าใช้จ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ขณะที่ครอบครัวและท้องถิ่น ร่วมจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล มอบ สปสช. บริหารกองทุน เชื่อได้รับการตอบรับ เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ซื้อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


26 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวทีเสวนา “สานฝัน สร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนถ้วนหน้า ในงาน “งานกับอุดมคติของชีวิต” ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมีข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ว่า เมื่อดูค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่รัอยละ 4 ของจีดีพีประเทศ และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อดูรายจ่ายสุขภาพพบว่าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้รายจ่ายสุขภาพประเทศเพิ่มขึ้นคือโครงสร้างประชากรประเทศที่เป็นจากผลนโยบายวางแผนครอบครัวในอดีต ทำให้ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าจะขยับขึ้นไปอยู่ร้อยละ 30 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17 ของประชากรประเทศ

วรวรรณ กล่าวต่อว่าขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยในกระทรวงสาธารณสุข พบว่า 5 โรคเรื้อรังหลักของคนไทย ได้แก่ มะเร็ง, เบาหวาน, ความดันโลหิต, โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจ มีส่วนอย่างมากในการใช้ทรัพยากรโรงพยาบาล หรือร้อยละ 20 และเมื่อดูการใช้ทรัพยากรผู้ป่วยในตามกลุ่มอายุภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในมากกว่าร้อยละ 50 ใช้กับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นั่นคือโรคเรื้อรัง

สำหรับภาพระบบการรักษาพยาบาลในอนาคต ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาจัดการปัญหาได้หรือไม่ แม้ว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่สามารถลดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทางเลือกหนึ่งคือ “การมีระบบประกันดูแลระยะยาว” เน้นการดูแลที่บ้านแทนที่จะให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุมาใช้ทรัพยากรที่โรงพยาบาล แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินงานอยู่ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรค ทั้งข้อจำกัดของระเบียบงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจึงน่าจะมีแนวทางใหม่ในการจัดการ อย่างการจัดตั้ง “กองทุนระยะยาวเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง”

ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า งบประมาณกองทุนฯ ร้อยละ 25 มาจากการจ่ายสมทบของประชาชนวัยทำงานอายุ 40-65 ปี เพื่อนำมาสนับสนุนในส่วนค่าวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนร้อยละ 37.5 มาจากท้องถิ่น และร้อยละ 37.5 มาจากการร่วมจ่ายของผู้รับบริการ หรือครอบครัวของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพื่อนำมาเป็นค่าจ้างผู้ดูแล มีการจัดระบบการดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลระบบดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) พร้อมกันนี้ยังดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วม ซึ่งกองทุนฯ นี้ดูแลเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ได้รับการประเมินโดยแพทย์

“ในการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ หากเริ่มปี 2560 นี้ เบื้ยประกันที่จัดเก็บจากประชากรวัยทำงานจะอยู่ที่ 500 บาทต่อปี และปรับเพิ่ม 500 บาททุก 5 ปี เพื่อให้ระบบยืนอยู่ได้ แม้ว่าภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการดำเนินกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) แต่เป็นการสนับสนุนงบประมาณโดยภาครัฐจากภาษีประชาชน ซึ่งแนวโน้มค่าใช้จ่ายดูแลจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ในปี 2590 จะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท จึงต้องมีระบบรองรับดูแลที่ยั่งยืน ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ เพราะนอกจากโรงพยาบาลเตียงเต็มเข้าไม่ถึงบริการแล้ว ยังไม่มีระบบรองรับการดูแลที่บ้าน” ที่ปรึกษา TDRI กล่าว

วรวรรณ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการกองทุนนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาบริหาร ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานกองทุน LTC อยู่แล้ว แต่ให้มีการจัดเก็บเบื้ยประกันสมทบเพื่อเข้ากองทุนและปรับให้เหมาะสม สำหรับข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นทิศทางที่ให้ประชาชนช่วยกันคิดว่า กองทุนลักษณะนี้ในสังคมไทยควรเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งในด้านวิชาการได้ศึกษาและคำนวณความเป็นไปได้แล้วว่า หากจัดเก็บเบี้ยประกันในรูปแบบและอัตราระดับนี้จะครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้ ไม่แต่เฉพาะบัตรทอง แต่ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคนในประเทศ

“ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนฯ นี้เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ ซึ่งในการเก็บประกัน ก่อนอื่นคนไทยต้องรู้ว่าจ่ายเบี้ยประกันนี้แล้วได้อะไร ดังนั้นเป็นเรื่องข้อมูลความรู้ที่ต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะมีส่วนในการคิดและตัดสินใจของประชาชน ที่ผ่านมาเรามักกลัวว่าประชาชนจะยอมร่วมจ่ายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงของการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ไม่ให้เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ดร.วรวรรณ กล่าว
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.