Posted: 23 Dec 2017 07:27 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเหตุให้มีการดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 16 ราย

โดยมีการแจ้งข้อหาความผิดในหลายฐาน เช่น ต่อสู้และขัดขวางการจับกุมและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ร่วมกันเดิน หรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางทางจราจร

กรณีการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้น ยังปรากฏว่ามีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกมาภายหลังจากที่ได้มีการสลายการชุมนุมแล้ว

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านคำสั่งและเอกสารที่เกี่ยวข้องเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจหลายประการอันควรนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ เพื่อนำไปสู่การถกเถียงซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม

การเดิน...เทใจให้เทพา ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2560 ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายตั้งแต่ต้น หากแต่มีการแจ้งการชุมนุมในภายหลัง และภายหลังจากการแจ้งระหว่างรอคำสั่ง กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนขบวนออกเดินโดยไม่รอผลของคำสั่งแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทำให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม

ผู้เขียนเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีปัญหาทั้งในแง่ความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย และปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เองที่อาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

พ.ร.บ. ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้ที่ต้องการจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนมีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

การแจ้งดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตการชุมนุม เว้นแต่เป็นการชุมนุมในพื้นที่ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 7 หรือเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ตามมาตรา 8 เท่านั้น ที่อาจมีคำสั่งให้แก้ไขได้

การแจ้งการชุมนุมจึงไม่ใช่การขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดชุมนุมสาธารณะขึ้น และการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ 24 ชั่วโมง ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีเวลาเตรียมพร้อม เพื่อดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ สอดคล้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 19 การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกเดินไม่รอผลของคำสั่งราวกับว่าผู้ชุมนุมต้องรอคำสั่งอนุญาตจึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด

หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการแจ้งการชุมนุมข้างต้นแล้ว การแจ้งหรือไม่แจ้งการชุมนุมจึงไม่ควรเป็นเงื่อนไขสำหรับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมแต่อย่างใด

หากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมก็เป็นความเสี่ยงที่การชุมนุมของตนอาจจะไม่เป็นไปโดยสงบ อันเนื่องมาจากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้

อันเป็นการบอกโดยนัยว่าการแจ้งการชุมนุมเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการก่อนมีการชุมนุม กรณีจึงอาจเกิดคำถามในทางรัฐธรรมนูญได้ว่า ในกรณีนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ การชุมนุมย่อมมีเป้าหมายเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นบางประการต่อสังคม จึงมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำให้เป็นที่สนใจ และรับรู้ของผู้คนในสังคม เช่น การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ การเดินขบวน เป็นต้น

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการใช้พื้นที่สาธารณะ ในหลายครั้งอาจจะขัดแย้งกับกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งกฎหมายนั้นๆ อาจจะกำหนดความผิดอาญาไว้

สำหรับในกรณีเดิน...เทใจให้เทพานี้ ก็มีการตั้งข้อหาความผิดเกี่ยวกับการกีดขวางการจราจรด้วย

ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายในกรณีนี้ควรเป็นอย่างไร หากตีความว่าในเมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรกำหนดให้การกีดขวางการจราจรเป็นความผิดอาญาแล้ว การใช้เสรีภาพในการชุมนุมบนถนนสาธารณะจึงไม่อาจทำได้ ก็ดูจะเป็นการใช้และตีความกฎหมาย ที่ทำให้การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นไปได้เลยในทางปฏิบัติ

สำหรับในประเด็นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการชุมนุม ส่วนกฎหมายจราจรเป็นกฎหมายทั่วไปสำหรับการใช้รถใช้ถนน เมื่อกฎหมายการชุมนุมกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยหลักการตีความกฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายชุมนุมก่อนกฎหมายจราจร

เมื่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยอมรับให้มีการใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุม การเดินขบวนชุมนุมบนท้องถนน จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจราจร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เช่น ผู้สัญจรไปมาบนท้องถนน ได้เช่นกัน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวได้ การใช้และตีความกฎหมายในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกัน ของสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของทุกคนเป็นไปได้อย่างสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จากกรณีการเดิน...เทใจให้เทพา เมื่อการเดินดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบ มีการเปิดพื้นที่จราจรให้ผู้คนยังสัญจรไปมาได้อยู่ ก็ไม่ควรถือเป็นการกระทบสิทธิของผู้อื่นจนเกินสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด

เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ผู้เขียนหวังว่าข้อถกเถียงที่ได้นำเสนอในบทความนี้ จะมีส่วนทำให้การใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว เป็นสิ่งที่ช่วยหนุนเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มิใช่กลายเป็นสิ่งที่จะถูกใช้ทำลายเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในท้ายที่สุดไปเสีย



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.