กองเศรษฐกิจสุขภาพฯ สธ. แจงสถานการณ์เงินบำรุง รพ. ระบุ รพ.ในสังกัด สป.สธ.ภาพรวมไม่ขาดทุน ในช่วง 3 ปี รพ.ที่ขาดทุนมีแนวโน้มลดลง เผย 2 ปัจจัยหลักขาดทุน เหตุงบที่ได้รับไม่พอและประสิทธิภาพการบริหารของ รพ. ชี้ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากการบริหารของ สปสช.
22 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากกรณีข่าววิกฤติระบบสาธารณสุขไทย กางตัวเลข รพ.รัฐ เงินบำรุงติดลบ 558 แห่ง 12,700 ล้านบาท ดังนี้
1.ข้อมูลหน่วยบริการแสดงเงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สินติดลบ ไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2560 ในกลุ่มโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ เงินบำรุงของหน่วยบริการติดลบรวมกัน 12,700 ล้านบาท เป็นความจริงแต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากเงินบำรุงคงเหลือหักหนี้สินของหน่วยบริการไม่ได้รวมสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ที่สำคัญในการดำเนินการ คือ ยา เวชภัณฑ์และสินค้าคงคลังอื่น รวมถึงลูกหนี้ของโรงพยาบาล หากรวมรายการดังกล่าวจะติดลบรวมกัน 1,861 ล้านบาท โดยยังมีหน่วยบริการที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนในการดำเนินงานเป็นบวกอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการที่มีโรงพยาบาลที่มีทุนสำรองสุทธิติดลบยังเป็นปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง
2.หน่วยบริการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนส่วนใหญ่ และจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปจริงหรือไม่ ?
ตอบ การดำเนินงานของหน่วยบริการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมไม่ขาดทุน และมีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยบริการส่วนใหญ่ไม่ขาดทุน สาเหตุของหน่วยบริการที่ขาดทุน เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ งบประมาณจัดสรรของระบบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขมีกลไกในการบรรเทาปัญหาให้หน่วยบริการที่ขาดแคลนทรัพยากรในการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากรที่คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว และหน่วยบริการยังให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับจังหวัด เขต และประเทศ มีการจัดการด้านประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินงานให้บริการประชาชนจะได้ไม่มีปัญหา
3.การจัดสรรงบประมาณจาก สปสช.เป็นต้นเหตุให้เกิดการขาดทุนและเงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สินติดลบจริงหรือไม่ ?
ตอบ ยังไม่สามารถสรุปว่า เกิดจากการบริหารของ สปสช. เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านนอกจากการจัดสรรรเงิน เช่น จำนวนประชากร สภาพต้นทุนในการบริหาร และประสิทธิภาพในการบริหารการเงินของหน่วยบริการที่แตกต่างกัน และรายได้ของหน่วยบริการยังมีเงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่มีความจริงที่ว่าปัจจัยหนึ่งของการเกิดปัญหาการเงินของโรงพยาบาล คือ งบประมาณด้านสาธารณสุขในภาพรวมมีจำกัด โดยเฉพาะงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องขอการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล
[full-post]
แสดงความคิดเห็น