Posted: 23 Dec 2017 07:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สุรพศ ทวีศักดิ์
เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ปฏิวัติสยาม 2475 เราไม่พบวาทกรรม “คนดี” เช่นไม่มีการกล่าวถึงว่าคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือกลุ่มคนดี หรือฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรก็เรียกว่า “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” หรือ “ฝ่ายนิยมเจ้า” มากกว่าจะเรียกว่าฝ่ายคนดี
แม้แต่พุทธทาสภิกขุที่แสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง “พุทธธรรมกับเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย” ณ พุทธสมคมกรุงเทพฯ ในปี 2483 ซึ่งมีคนมีชื่อเสียงอย่างปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ วิลาศ มณีวัตรเป็นต้นมานั่งฟังด้วย ในเนื้อหาของปาฐกถาธรรมนั้นก็ไม่ได้เน้นเรื่อง “คนดี” แต่เน้นว่า หลักคำสอนพุทธศาสนาเรื่องอะไรบ้างที่สอดคล้องกับความหมายของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ
แต่ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์ 14 ตุลากับ 6 ตุลา เมื่อพุทธทาสเสนอแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” จึงได้เน้นความสำคัญของ “คนดี” เพราะเผด็จการโดยธรรม หมายถึงเผด็จการโดยคนดีที่ใช้อำนาจปกครองเพื่อประโยชน์สุขของสังคม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่เกิดกระแสรณรงค์ให้เลือกคนดีมาเป็นผู้แทน เพราะยังเป็นช่วงของการต่อสู้ทาง “อุดมการณ์” มากกว่า
กระแสรณรงค์ให้เลือกคนดีมาเป็นผู้แทน น่าจะเกิดในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือหลังจากนั้น ในยุคนี้บุคคลที่มีภาพลักษณ์ “คนดี” น่าจะเป็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพราะถูกยกย่องในเรื่อง “ความซื่อสัตย์” และ “ความจงรักภักดี” ด้วยสถานะความเป็นคนดีเช่นนี้จึงทำให้เขาถูกเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง และต่อมาเขาได้กลายเป็นต้นแบบของคนดีที่เรียกว่า “เสาหลักทางจริยธรรมของชาติ” เจ้าของวาทะ “จงทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” เพราะแผ่นนี้มีพระสยามเทวาธิราชศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษา คนชั่วที่อกตัญญูต่อแผ่นดิน ย่อมถูกสาปแช่งให้มีอันเป็นไป
นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักการเมืองอาชีพ” และเป็น “คนดี” ที่ยกย่องกันว่า “ซื่อสัตย์” และ “ยึดมั่นหลักการ” จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณชวน หลีกภัย เขามีอัตลักษณ์ในเรื่องความซื่อสัตย์ สมถะเรียบง่าย แต่เราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในฐานะนักการเมืองอาชีพยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองมาก็มาก เขาเคยออกหน้าต่อต้าน คัดค้าน หรือประท้วงการทำรัฐประหารบ้างหรือไม่ อย่างไร ผลงานจากการเคยเป็นรัฐมนตรีแทบทุกกระทรวง และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของเขามีอะไรบ้าง เราอาจต้องใช้เวลานึกนานพอสมควร เพื่อจะหาคำตอบว่า เขาได้สร้างผลงานอะไรให้สังคมประทับใจแบบนึกถึงได้ทันทีบ้าง
เทียบกับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่มีภาพลักษณ์คนดี แถมยังถูกมองว่าเป็น “ปีศาจทักษิณ” เสียอีก แต่อย่างน้อยๆ ชาวบ้านชาวช่องยังจำกันได้ว่า ระบบประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกโรค” เกิดขึ้นในยุคทักษิณ
อีกคนหนึ่งคือ คุณจำลอง ศรีเมือง ฉายา “มหา 5 ขัน” เพราะอาบน้ำวันละ 5 ขัน กินมังสวิรัติ ซื่อสัตย์ เสียสละ สมถะ เรียบง่าย เขาเป็นทั้งแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง มีผลงานโดดเด่นต่อต้านเผด็จการสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเป็นนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง แต่บทบาทสุดท้ายคือเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยอมรับรัฐประหาร 2549 และเคยเสนอให้ใช้ “กฎอัยการศึก” จัดการกับมวลชนร่วมหมื่นคนที่ราชประสงค์ในปี 2553
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นนักการเมืองอีกคนที่สังคมยอมรับกันว่าเป็น “คนดี” เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ แต่ต่อมาเขาได้ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และในฐานะนายกรัฐมนตรีเขาได้สั่ง “กระชับพื้นที่” คนเสื้อแดงที่ชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ด้วยวาทกรรม “คืนความสุขให้คนกรุงเทพฯ” และประกาศ “เขตใช้กระสุนจริง” ผลก็คือมีประชาชนบาดเจ็บร่วมสองพันคน เสียชีวิตร่วมร้อยคน แต่เขาไม่มีความผิดใดๆ
ยังคงมีนักการเมืองที่เป็น “คนดี” อีกหลายคน แต่คนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ไหนแต่ไรมาเขาไม่เคยถูกยกย่องว่าเป็น “คนดี” ตรงกันข้ามสังคมขังขาในบทบาทความเป็นนักการเมือง “สีเทา” ของเขามาตลอดด้วยซ้ำ แต่เมื่อเขาสวมบทบาท “ลุงกำนัน” นำมวลมหาประชน กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อขับไล่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคัดค้านการเลือกตั้ง เขาได้ถูกยกย่องให้เป็น “มหาตมะคานธี” แห่งไทยแลนด์โอนลี่เลยทีเดียว ยิ่งเมื่อเขาได้ไปบวชพระถวายพระราชกุศล ณ สวนโมกข์ เขาได้อ้างวาทกรรมพุทธทาสสนับสนุนรัฐบาล คสช.ว่า “ผู้ปกครองจะมาแบบไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เขาเป็นคนดี เข้ามามีอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง”
โดยรวมๆ แล้ว “คนดี” ที่ผมยกตัวอย่างมา(เป็นต้น) พวกเขาอาจมีอัตลักษณ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป แต่ “อัตลักษณ์ร่วม” ของบรรดาคนดีคือ พวกเขาต่างไม่ยึดมั่น “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อชนะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับ สนับสนุน หรือใช้วิธีการนอกระบบประชาธิปไตยได้เสมอ
และอัตลักษณ์ร่วมอีกอย่างคือ ความซื่อสัตย์ของบรรดาคนดีนั้น ไม่จำเป็นต้อง “ซื่อสัตย์ต่อความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย” คนที่โกงระบบ ล้มระบบประชาธิปไตยก็ยังถูกยกย่องให้เป็นคนดี เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมของสังคมได้เสมอ
ล่าสุดคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. กล่าวว่า “ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำอย่าไปรังเกียจเขา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ทนายความ อาจารย์ ทุกคนมีสิทธิ์ได้ทั้งนั้น ถ้าเขาเป็นคนดีและทำได้ดีพอ...” (ดูhttps://www.matichon.co.th/news/774472) คำกล่าวนี้สะท้อนว่าเมื่อยึด “คนดี” เป็นมาตรฐานสูงสุดในการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ย่อมทำให้เกิดการบิดเบือนความหมายของ “หลักการสาธารณะ” เช่น ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิ์” นั้น โดยปกติหมายถึงการใช้ “สิทธิ” เข้ามามีอำนาจรัฐตามกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่ทำรัฐประหารเข้ามาแล้วบอกว่าเขามีสิทธิ์เพราะเขาเป็นคนดีและทำได้ดีพออะไรแบบนั้น
แปลว่าในการเมืองที่ยึด “คนดี” เป็นตัวตั้ง มันทำให้ความหมายของหลักการสาธารณะ เช่นสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศีลธรรม ฯลฯ ถูกบิดเบือนไป เพราะหลักการสาธารณะถูกให้ความหมายภายใต้อภิสิทธิ์ของบรรดา “คนดี” ที่ยึดกุมอำนาจรัฐซึ่งตรวจสอบไม่ได้
การเมืองไทยภายใต้วาทกรรม “คนดี” จึงเป็นการเมืองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย หรือทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยไทยล้าหลัง ไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที เพราะวาทกรรมคนดีได้ลดทอนความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้หลักการ อุดมการณ์ หรือ “ระบบ” ไร้ความหมาย กลายเป็นการเมืองยึดติดตัวบุคคล และเป็นสังคม “กบในกะลาเลือกนาย” ที่เปิดโอกาสให้พวกนักฉวยโอกาสเข้ามาครองอำนาจรัฐอย่างไม่แคร์ความชอบธรรมได้เสมอไป
แสดงความคิดเห็น