Posted: 29 Dec 2017 12:06 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรียบเรียง
ประชาไทยกให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นบุคคลแห่งปี 2017 ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาคือภูมิคุ้มกันระบบหลักประกันสุขภาพที่มีผู้คนอยู่ภายใต้ระบบนี้ราว 48 ล้านคน ในช่วงปีที่ผ่านมาพวกเขาจับตา เกาะติดการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลที่อาจนำไปสู่การล้มหรือทำลายหัวใจหลักของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ยืนยันในสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันของคนไทย
แม้ว่าการมุ่งโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพจะเกิดขึ้นมานานแล้วนับแต่เริ่มต้นดำเนินนโยบาย แต่ภัยคุกคามปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุดในยุครัฐบาล คสช. ประชาไทรวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์ส่วนที่เกิดในรัฐบาล คสช. เพื่อย้อนดูว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พวกเขาทำให้เราถอยห่างจากหัวใจของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปไกลเท่าไร
1.จากข่าวโรงพยาบาลขาดทุน สู่การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวคราวที่ระบุว่าโรงพยาบาลของรัฐกำลังตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือขาดทุนนั้นมีให้เห็นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหลายครั้งมีการโยงปัญหาการขาดทุนไว้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันว่า โครงการบัตรทอง, 30 บาทรักษาทุกโรค
หากนับเฉพาะปีนี้มีหลายข่าวที่ปรากฏขึ้น เช่นข่าว 19 โรงพยาบาลของรัฐขาดทุนหลังหักเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินเพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ยังต้องให้บริการต่อไป และได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้แยกงบเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว หรือกรณีการออกมายอมรับของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ซึ่งระบุว่า โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐขาดทุน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งอีกหลายเรื่องราวที่พุ่งเป้าโยนบาปเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ และการบริหารจัดการของ สปสช.
แม้ว่าประเด็นเรื่องการแยกเงินเดือน ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น จะเป็นประเด็นหลักที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว หลักการตั้งต้นของการรวมเงินเดือนหมอไว้กับงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ ซึ่งก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วเพราะเหตุใดกันแน่ที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเริ่มต้นแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลับพบว่าไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรทางแพทย์ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวเท่านั้น ยังมีการเพิ่มเติมแก้ไขโครงสร้างบอร์ดบริหารของ สปสช. รวมอยู่ด้วย อีกทั้งประเด็นที่เป็นเรื่องน่าจับตาที่สุดคือ ยังมีความพยายามที่จะทำให้มีการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมอยู่ด้วย แม้ภาคประชาชนจะยื่นข้อเรียกร้องให้ตัดประเด็นดังกล่าวออก อีกทั้งประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ
2.คสช.กับข้อเสนอเรื่องการร่วมจ่าย และการโยนหินถามทาง
ประเด็นเรื่องการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งถูกพูดถึงอีกเช่นกัน แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือเอกสารหลุด หลังจากการตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุขของ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2557 ซึ่งในรายงานบันทึกการประชุมมีตอนหนึ่งที่ระบุว่า “เห็นด้วยกับการที่ประชาชนจะมีส่วนในการร่วมจ่ายค่าบริการ กระทรวงสาธารณสุขต้องคำนวณตัวเลขออกมาว่าการมีส่วนร่วมจ่ายของประชาชน ต้องจ่ายเท่าไหร่ เช่น 30 – 50 % และต้องหาหลักเกณฑ์ออกมา เพราะอนาคตข้างหน้าเห็นแล้วว่าแนวทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ไปต่อไม่ไหว”
หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวก็เกิดกระแสต่อต้านจากภาคประชาชน แต่ก็ไม่วายที่ผู้มีอำนาจจะโยนหินถามทางอีกหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งมีรายงานแนวทางการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง โดยผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2558 และนำส่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 ซึ่งระบุถึงแนวทางการปฏิรูปในด้านการรักษาพยาบาลไว้ว่า สนับสนุนให้ผู้มีเงินได้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้บริการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ และให้มีการพิจารณาความเหมาะสมของการนำระบบการมีส่วนร่วมจ่าย เพื่อจูงใจให้มีจิตสำนึกในการประหยัดค่ารักษาพยาบาลและลดการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น
หรือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ (นาทีที่ 14.20) ว่า ในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการให้ความเป็นธรรมนั้น เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนมีฐานะพอสมควร หรือมีผู้มีรายได้ปานกลางไม่ลำบากมาก จึงได้มอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาสิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค (ระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า) ว่าจะให้มีการเสียสละไม่ใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำจริงๆ ซึ่งกำลังมีการลงทะเบียนกันอยู่นั้น ซึ่งถ้าทำได้จะถือว่าเป็นกุศล
“ถ้าท่านเสียสละแบบนี้ ผมว่าเป็นกุศล ผมเองก็พร้อมจะสละ ไปไหนก็หาหมอเองได้อยู่แล้ว แต่คนจนเขาไม่มีโอกาสเลย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
3.การสนับสนุนให้คนซื้อประกันสุขภาพ การเกิดขึ้นของบัตรคนจน และคำว่าเสมอภาคที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ
ในรายงานแนวทางในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ฉบับ สปช. และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้วคือ การออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยให้ประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตและการเงินฝากที่มีเงื่อนไขประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาท โดยกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่ามาตรการนี้จะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศมากนัก แต่จะเป็นการช่วยลดหย่อนภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นก็ได้ปิดการลงทะเบียนในครั้งแรก และส่งมอบบัตรให้ผู้ที่ลงทะเบียนซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มคน คือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี รวมแล้วจำนวนทั้งสิ้น 11.4 ล้านราย
การลงทะเบียนคนจนนี้เป็นโครงการเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 แม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมว่าจะมีการจำกัดสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ไว้ให้กับคนที่มาลงทะเบียน 11.4 ล้านคนนี้เท่านั้น แต่นโยบายหรือการดำเนินการต่างๆ ในรัฐบาล คสช. แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะทำให้การรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ได้เป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้สำหรับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอีกต่อไป
หลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนคือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 47 ซึ่งระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์”
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐคือ ความเสมอภาค การได้รับบริการที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน การได้รับบริการที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปที่หัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีหลักการว่า ‘คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม’ เส้นทางที่รัฐบาล คสช. ได้พาคนไทยเดินทางนั้น ดูห่างไกลกับหัวใจสำคัญนี้ไปทุกที
[full-post]
แสดงความคิดเห็น