Posted: 23 Dec 2017 03:21 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

อ่านรายละเอียดที่ บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอทช์) และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน คือหนึ่งในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’

‘ประชาไท’ สนทนากับเธอเกือบ 1 ชั่วโมงเพื่อสืบสาวที่มาของกลุ่ม ไล่เรียงไปจนถึงการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อะไรทำให้ระบบนี้สามารถดูแลผู้คนได้ถึง 48 ล้านคนทั้งที่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ทำไมจึงยังมีหลายกลุ่มไม่พอใจระบบหลักประกันฯ ทั้งที่มันได้พิสูจน์ตัวเองจากผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากรอดตาย เข้าถึงการรักษา และครอบครัวผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญโรคยากจนเฉียบพลันจากการรักษาพยาบาล

และคำถามสำคัญที่ว่า อะไรคือภัยคุกคามต่อระบบมากที่สุดในเวลานี้

“การที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน” คือคำตอบของกรรณิการ์


กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคือใคร เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่


ตอนนั้นทีมอาจารย์คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ตั้งโครงการ Health Reform Project ขึ้นมาเพื่อหาหนทางปฏิรูปและนำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ตอนแรกมันเป็นโครงการ มันจะมีโปรเจกต์เล็กๆ เพื่อทดลองว่าสิ่งที่คิด มันทำได้ ถามว่าจริงๆ ในนั้นมันมีเอ็นจีโออยู่ด้วยมั้ย ก็มี แต่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดมาก แต่ต่อมาเริ่มมีการสื่อสารเรื่องนี้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่ทีมอาจารย์คุณหมอสงวนอยากให้รับรู้และเข้าใจมากขึ้นก็คือทีมองค์กรพัฒนาเอกชน

พอเริ่มมีการผลักดันมากขึ้น ตั้งแต่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เราพบว่ามีโรคฉวยโอกาสบางโรคที่สามารถใช้ยาที่มีอยู่ปัจจุบันรักษาได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ฉะนั้น การรวมตัวของกลุ่มผู้ป่วย ของเอ็นจีโอก็พอมีอยู่ หลังจากนั้น เมื่อมีโครงการเข้าถึงยามากขึ้น ก็มีการรวมตัวเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน การคิดถึงการได้รับยาระยะยาวจะต้องคิดถึงเรื่องระบบด้วย จะคิดแค่ยาเป็นตัวๆ ไม่ได้ จึงมีการทำงานร่วมกัน มีการร่างกฎหมายร่วมกัน ทั้งเอ็นจีโอ ทีมวิชาการจากผู้ให้บริการ ทีมแพทย์ต่างๆ จำนวนหนึ่งก็ไปล็อบบี้ว่าพรรคการเมืองจะเอาด้วยหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองอื่นๆ เคยได้รับการเสนอมาแล้ว

ขณะที่ภาคประชาสังคมเองก็เดินอีกขาหนึ่งโดยการล่ารายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2540 การทำงานแบบนี้เริ่มกันมาตลอด ถ้าดูในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการร่วมกันพัฒนาระบบของคนในภาคส่วนต่างๆ คณะกรรมการหรือตัวบอร์ดจะมีสมดุลของสัดส่วนจากภาคส่วนต่างๆ มีเช็คแอนด์บาลานซ์ มีการทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จนสามารถพูดได้ว่ามันเป็นกฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมีการมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีกฎหมายมา

แปลว่านับกันจริงๆ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพน่าจะเกิดขึ้นมาสักเกือบ 20 ปีแล้ว
เรียกว่ามันก่อตัวดีกว่า สมัยนั้นก็ไม่ได้มีใครเรียกมันว่ากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แต่ละกลุ่มก็มีองค์กรของตัวเองมาทำงานร่วมกันเพื่อนำมาสู่เรื่องนี้ ในตัวเองกฎหมายเองก็พูดถึงการมีตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ดซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนองค์กร แล้วก็ต้องมีตัวแทนในระดับต่างๆ การมีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ การมีหน่วยรับเรื่องราวร้องเรียน ถ้าต่างคนต่างทำโดยที่ไม่มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกต่างๆ ในภูมิภาค มันจะไม่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นอันรู้กันอยู่ นี่ก็เป็นเรื่องของภาษาการจัดตั้งธรรมดา ฉะนั้นจึงมีการสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ มีผู้ประสานงาน แล้วก็จะมีอยู่ตามภาค แต่ละภาคอาจจะเรียกตัวเองว่ากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้ จะเรียกศูนย์ประสานงานก็ได้ แต่ละที่อาจมีองค์กร เช่น สมาคมผู้บริโภค มูลนิธิภาคเหนือ ก็แล้วแต่ แต่ว่าเวลาทำงานร่วมกันเราเรียกเราว่า “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ”

เมื่อเวลาผ่านมานับจากตอนนั้น 20 ปีแล้ว ภารกิจเริ่มเปลี่ยนมั้ย มีอะไรที่ต้องโฟกัสเพิ่มมั้ย
ช่วงแรกมันคือทั้งสร้างระบบและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ต้องอย่าลืมว่ามันเป็นช่วงเริ่มต้น ไม่มีใครเคยมีสิทธินี้มาก่อน ไม่มีใครเคยรู้ว่าสิทธิเป็นยังไง มันต้องสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้สิทธิของตัวเอง เป็นการเน้นทั้งความเข้าใจสิทธิของตัวเองและการร่วมกันพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น ระบบจะมียามากขึ้นไหม มันจะดูแลโรคต่างๆ ได้ทุกโรคหรือเปล่า อย่าลืมว่าช่วงแรก ระบบหลักประกันสุขภาพมีมา 5 ปี แต่เรื่องเอชไอวี/เอดส์ ยังไม่เข้าสิทธิประโยชน์ ยังไม่มีเรื่องไต ไม่มีเรื่องมะเร็ง เหล่านี้ก็มาจากข้อเสนอที่ประชาชนร่วมพัฒนากับทางนักวิชาการ แต่ถามว่ามาถึงขณะนี้มันเปลี่ยนแปลงบ้างมั้ย ในแง่การพัฒนายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องสิทธิ ประชาชนรู้มากขึ้น แต่อาจยังไม่ครบ ตรงนี้ก็ยังทำงานกันอยู่

แต่ที่มากขึ้นคือมันมีความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่จะทำให้ระบบอ่อนแอ ล้มลง หรือไม่สามารถดูแลประชาชนได้ดีเท่าที่ควร หรือทำให้ระบบไม่พัฒนา ถอยหลัง หรือหยุดนิ่ง แต่โลกมันหยุดนิ่งไม่ได้ โรคมีมากขึ้น คนมีจำนวนมากขึ้น ผู้สูงอายุมากขึ้น แค่คุณหยุดนิ่ง ระบบมันก็ดูแลคนไม่ได้ คุณไม่มียาใหม่ๆ หรือไม่สามารถขยายสิทธิประโยชน์หรืองบประมาณถูกแช่แข็ง ฉะนั้น หน้าที่ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจากเดิมคือการพัฒนาระบบ แต่ปัจจุบันเราเพิ่มเรื่องการปกป้องระบบไม่ให้ถอยหลัง ถูกแช่แข็ง หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้

อะไรคือหลักการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า?

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือต้องมีผู้ซื้อบริการเหมือนกับคนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเม็ดเงิน มีวิธีการไปซื้อบริการกับหน่วยบริการ โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการสั่งว่าต้องเอาแบบนี้ๆ แต่เป็นการคิดค้นร่วมกัน ราคาควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ค่าหัวเท่าไหร่ ยาจะเป็นยังไง ก็คุยกัน ขณะที่ประชาชนก็ขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการ มันก็จะมีโรคพื้นฐานที่อยู่กับค่าหัว เงินถูกส่งตรงไปตามหน่วยบริการต่างๆ แต่โรคค่าใช้จ่ายสูงมาก วิธีการจ่ายก็ต่างออกไป เพราะถ้าจ่ายค่าหัวอย่างเดียว ถ้าโรงพยาบาลนั้นเจอคนไข้หนักๆ สักประมาณ 100 เคสอาจจะรับไหว 200 เคส 500 เคสรับไม่ไหวแล้ว ฉะนั้น โรคพื้นฐาน เราจ่ายเงินลงไป ส่วนโรคแพงๆ ก็จ่ายไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบที่มีการคำนวณกัน นอกจากนั้น ยังมีบางโรคหรือบางรายการ เช่น การจัดซื้อยาราคาแพงที่คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเอชไอวี น้ำยาล้างไต ยาเอดส์ ยาต้านพิษ ยากำพร้าต่างๆ ก็จะมีการส่งตรงลงไป คือโรงพยาบาลรักษาไปเลยไม่ต้องห่วงเรื่องยา โรงพยาบาลก็ไม่ต้องรับภาระ ไม่ต้องคิดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อยา

แต่ระบบแบบนี้ไม่ได้ดูเรื่องการรักษาอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็จะทำงานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชนในพื้นที่ แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ถามว่าถ้าระบบต้องมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น จะพัฒนาอย่างไร ก็ต้องมีการพิจารณาเข้าอนุกรรมการ มีขั้นตอน มีการใช้ข้อมูลวิชาการ ยาวัคซีนตัวไหนราคาแพง ต้องมีการต่อรองราคายามั้ย ถ้าราคาถูกลง ระบบจะสามารถดูแลประชาชนได้และคุ้มที่จะดูแลประชาชน เพราะยาบางตัวแพงมาก แต่ไม่ได้ยืดชีวิตคนมากมาย ขณะที่ยาบางตัวราคาแพง แต่ทำให้คนหายได้เลย ฉะนั้น มันก็ต้องมีการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา

แล้วก็จะมีอีกส่วนที่ดูเรื่องการประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม อย่างที่บอกว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนสูง คุณก็ต้องไปรับฟังความคิดเห็นของทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ หน่วยงานต่างๆ ว่าเขาติดขัดอะไรในรอบปีที่ผ่านมา อยากจะเสนอให้มีการแก้ไขอะไรมั้ย เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุง ยังมีเรื่องการจัดการกรณีร้องเรียน การควบคุมคุณภาพ เพราะ สปสช. จะมี 2 บอร์ดหลักที่ดูแลเรื่องนโยบายกับอีกส่วนหนึ่งที่ดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพ เรื่องไหนที่ถูกร้องเรียนมาว่าไม่มีคุณภาพก็ต้องลงไปดู แล้วก็ดูเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ด้วย

น่าจะพูดได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นหมุดหมายแรกๆ ของการจุดประกายความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการที่รัฐจะต้องลงมาดูแลประชาชนและเป็นสิทธิที่ต้องได้รับจากรัฐ
ก็ใช่ ถามว่ารัฐมีหน้าที่อะไร รัฐก็มีหน้าที่ดูแลประชาชน ไม่ใช่ประชาชนงอมืองอเท้านะ ประชาชนก็จ่ายภาษีให้รัฐ เราถึงบอกว่าถ้ารัฐคิดว่าควรมีการ sharing cost หรือการร่วมจ่ายของประชาชน ก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องร่วมจ่ายก่อนที่เราจะป่วย เราพร้อมจ่ายตอนที่เรายังทำงานได้ ถ้าคุณจะเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เราไม่ว่าอะไร แต่ไม่ใช่เอาไปใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม หลังจากที่เราร่วมจ่ายแล้ว ตอนที่เราป่วยให้รักษาเราอย่างเท่าเทียม จุดมุ่งหมายของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพอย่างหนึ่งคือเราอยากเห็นรัฐสวัสดิการที่มีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

แต่อย่างที่บอกว่าระบบนี้เพิ่งเกิด ขณะที่ระบบที่เกิดก่อนหน้าอย่างระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มันถ่างมากๆ คือเขาได้เงินค่าหัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 5 เท่าของระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือแม้แต่ระบบประกันสังคมที่ประชาชนยังถูกบังคับให้ร่วมจ่าย แล้วใช่ว่าจะรักษาดีกว่า ก่อนหน้านี้สิทธิประโยชน์ก็ด้อยกว่าระบบหลักประกันฯ เยอะมาก ทำยังไงที่จะนำเรื่องสุขภาพมาดูแลด้วยกัน เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง หรือกรณีของสวัสดิการข้าราชการ เป็นได้ไหมที่จะเข้ามาดูอย่างเข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่ fee-for-service เบิกเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ หนึ่ง-การใช้ยาไม่เหมาะสมมีสูง สอง-ข้าราชการกลายเป็นเหยื่อการทำการตลาดของบริษัทยาข้ามชาติและการแพทย์พาณิชย์ ซึ่งเป็นภาระกับงบประมาณ

ความฝันของเราคืออยากจะมีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว แต่ไม่ต้องมารวมกันทั้งหมด หมายถึงว่าความจำเป็นพื้นฐานควรจะเท่าเทียมกัน ส่วนคุณอยากจะเพิ่มห้องพิเศษให้ข้าราชการ คุณก็ไปเติมเงินตรงนั้น เราไม่ได้ว่าอะไร แต่สิทธิพื้นฐานควรเท่าเทียมกันตามความจำเป็น

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ดี ทำไมจึงมีคนอีกหลายกลุ่มมากมาย ทั้งประชาชนทั่วไป โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแพทย์ที่จ้องโจมตีระบบนี้

ตั้งแต่กระบบหลักประกันสุขภาพฯ ถือกำเนิดขึ้น มันช่วยผู้คนเยอะมาก ทำให้ครอบครัวไม่ต้องล้มละลาย เป็นการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนี้อย่างมากมาย ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่มันก็ทำให้เกิด disruptive อยู่สองสามเรื่อง หนึ่ง-มันทำให้บริษัทยาไม่สามารถทำกำไรสูงสุดได้เท่าที่เคย เพราะมีระบบการต่อรองราคายา การซื้อขนาดใหญ่แบบนี้ในยาที่มีราคาแพงมาก มันถูกใช้อ้างอิงทั้งในโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ระบบประกันชีวิต ประกันสังคม หรือแม้แต่ระบบสวัสดิการข้าราชการด้วย มันถูกตั้งคำถามว่าทำไมระบบนี้ซื้อยาราคาเท่านี้ แล้วทำไมคุณยังจ่ายยาแพงขนาดนั้น เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยา มันรวมถึงเรื่องหัตถการ การรักษาพยาบาลต่างๆ มันมีการต่อรองและทำให้ราคายาสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า บริษัทเหล่านี้ขาดทุนกำไรเมื่อมีระบบเข้ามาจัดการ จากเดิมที่ไม่มีการจัดการเลย

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือบริษัทประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เมื่อก่อนมันเคยเป็นที่พึ่งเดียวของประชาชนที่พอมีเงินบ้างก็จะไปซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจบอกว่า ยอดขายประกันตกลงมากจากสมัยก่อนที่เคยโตสองหลักทุกปี แต่ตอนนี้เหลือแค่หลักเดียว อุตสาหกรรมประกันสุขภาพถึงดิ้นรนมาก ถึงขั้นมีนักสถิติประกันภัยบางคนออกมาโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีเหตุผลอะไรเลย

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือแพทย์พาณิชย์ ไม่ได้หมายถึงหมอทุกคน เพราะว่าหมอจำนวนมากเข้าใจ ยิ่งอยู่ในต่างจังหวัดจะเห็นชัดว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ ช่วยผู้คนได้จริงๆ ช่วยหมอด้วย จากเดิมที่หมอต้องตัดสินใจว่าเราจะเอาเงินที่ไหนมาช่วยเขา เกิดความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมสูงมาก ทำให้หมอสบายใจมากขึ้น สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยได้ แต่กลุ่มแพทย์พาณิชย์ที่เคยหากิน ทั้งเรื่องการยิงยา การจ่ายยา รวมทั้งจากระบบสวัสดิการข้าราชการได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้ยาบางตัวถูกทำให้ราคาลดลงมาเท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพราะคุณตอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ได้หรอก ทำไมยาตัวเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันทางนี้ซื้อแค่นี้ แต่คุณซื้อแพงกว่าเขาสิบเท่า แพทย์จำนวนหนึ่งที่เคยได้เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบและไม่พอใจ

กับอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเพราะเขาคิดว่ามันไปกระทบอำนาจในการตัดสินใจว่าจะรักษาผู้คนยังไง แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าระบบที่ไหน ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ในญี่ปุ่น แม้ว่าหมอจะรักษายังไงก็ได้ แต่เขาจะมีโปรโตคอลเป็นเล่มเลยว่าต้องรักษาตามนี้ ประเทศเราไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถรักษาผู้คนได้มาก ก็ต้องช่วยกันใช้แบบมีประสิทธิภาพ มันจึงไปกระทบกับหมอจำนวนหนึ่งที่คิดว่าระบบเป็นปัญหาในการมาเจ้ากี้เจ้าการ แต่จริงๆ แล้ว ตัว สปสช. ไม่สามารถจัดการแบบนี้ได้ ต้องหารือกับราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อช่วยกันออกแบบระบบในการรักษา ดูราคา สร้างโปรโตคอลต่างๆ ถ้าเข้าใจในประเด็นนี้และคิดว่าเป็นการช่วยกันดูแลประชาชน เป็นสวัสดิการ ก็น่าจะพอไปได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าจะสามารถทำความเข้าใจได้มากที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เงินทอง แต่ 3 กลุ่มแรกเป็นผลประโยชน์เงินทองจริงๆ ถึงจะอธิบายให้ตาย เขาก็ไม่เข้าใจ

แล้วทำไมมีประชาชนที่ไม่ชอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นเพราะเขายังไม่ได้เข้ามาสัมผัสหรือเข้ามาอยู่ในระบบ แต่คิดว่าตัวเองเสียภาษี คนอื่นไม่ได้เสียภาษี จริงๆ บ้านนี้เมืองนี้ต้องบอกว่าภาษีเงินได้ที่เราจ่าย เป็นรายได้ประเทศแค่นิดเดียว ภาษีส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นงบประมาณรัฐมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีสรรพสามิต คนรวยได้สิทธิลดหย่อนภาษีจำนวนมาก ขณะที่คนจนที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ถึงซื้อเท่ากัน แต่ไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษี ฉะนั้น ก็ต้องถือว่าประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้ร่วมจ่ายแล้ว แต่ถ้ายังไม่พอเพราะระบบสุขภาพต้องเติมเงินมากขึ้น เราจึงเสนอให้ใช้ 2 วิธีคือลดรายจ่ายกับเพิ่มรายได้


การที่คุณไปลดหย่อนภาษีมากมาย ไทยแลนด์แกรนด์เซลส์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กรณีการลดหย่อนแบบบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) กรณีช้อปช่วยชาติ แล้วนี่ยังมาลดหย่อนให้กับบริษัทประชารัฐ 12 แห่งอีก แบบนี้สมควรยกเลิกมั้ย เพราะมันเท่ากับเงินที่ควรจะเป็นรายได้ของประเทศหายไป แล้วไม่ใช่หายไปน้อยๆ เฉพาะกรณีบีโอไออย่างเดียวก็ 2 แสนล้านบาทต่อปี มันเยอะมากนะ

สมมติถ้าดึงภาษีตรงนี้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมั้ย อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านมาซื้อเยอะมาก พอก่อนได้มั้ย มาในเชิงสังคมบ้าง แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วยังไม่พอ เก็บภาษีใหม่ๆ ก็ได้ บ้านเรายังขาดภาษีอีกหลายตัว ไม่ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี capital gain (ภาษีที่เก็บจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้น) จากคนที่เล่นหุ้น เมื่อก่อนเราอาจเชียร์ เพราะตลาดหุ้นต้องชักชวนคนเข้ามาเล่นก่อน แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยเข้มแข็งมาก มันควรต้องเก็บแล้ว แต่อาจจะเก็บแบบไม่มาก รวมทั้งภาษี financial transaction หรือภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบล็อตใหญ่ ในยุโรปคำนวณว่าคิดภาษีแค่ 0.01 เท่านั้น จะได้เม็ดเงินมหาศาล หรือแม้แต่การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ เราเคยทำสำรวจพบว่าถ้าขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปลงเรื่องสุขภาพอย่างเดียว ประชาชนที่ยากจนในชุมชนยอมรับให้ทำได้ แต่ขอให้ชัดว่าเอาลงมาในระบบหลักประกันฯ ไม่ใช่เอาไปรวมเป็นกองและอาจถูกเอาไปซื้ออาวุธหรือสร้างถนนเลียบแม่น้ำ ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้ามีความชัดเจนว่าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์แล้วไปลงเรื่องหลักประกันฯ เราสามารถรับได้ มันก็เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หนทางที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพก้าวหน้ามันมีอยู่ แต่ในขณะนี้ภัยคุกคามมันมากเหลือเกิน

น่าสนใจว่ากระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนก็ดูเหมือนจะเป็นคู่กรณีกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกัน

ถ้าเราดูกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม เราไม่สามารถบอกได้แบบนั้น ต้องบอกว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะรู้สึกว่าระบบหลักประกันฯ เป็นคู่แข่งที่เอาอำนาจทางการเงินของเขาไป ถามว่าจริงมั้ย ก็จริงเพราะเงินถูกกระจายไปอยู่ในพื้นที่ ในโรงพยาบาล คือประชาชนอยู่ที่ไหนเงินก็ตามไปที่นั่น แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการถือเม็ดเงินนั้น การจัดซื้อยา สมัยก่อนเขาเคยทำ กระทั่งมีกรณีทุจริตยา แบบนี้ก็ไม่สามารถกำเงินนั้นได้แล้ว ตรงนี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขน่าจะรู้สึก

แต่คนในกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลและแม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ต่างรู้สึกว่าระบบหลักประกันฯ เป็นตัวช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น ทำให้งานเขาง่ายขึ้น ถามว่ามีสิ่งที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม ตอบว่ามีอีกหลายอย่างที่น่าพัฒนามากขึ้นเพื่อทำให้ผู้บริการรู้สึกดีกับระบบหลักประกันฯ มากขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมา โพลความพึงพอใจของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เพิ่มขึ้นอีกได้ เช่น ทำให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายไม่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์การเบิกชัดเจน เขาทำงานจริงต้องได้รับจริง ไม่ใช่ได้แล้วต้องมาทอนที่หลัง เนื่องจากเป็น global budget แล้วเงินไม่พอต้องมาทอนทีหลัง ซึ่งนี่ก็สัมพันธ์กับงบประมาณรัฐที่ให้ไม่เพียงพอ ทุกวันนี้เงินที่ให้รายหัว มันน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ถึง 200 บาท ต้องเพิ่มมากกว่านี้ ถ้าเพิ่มได้น่าจะทำให้ปัญหาในระบบหรือความไม่พึงพอใจที่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทั้งเชิงอำนาจหรือเรื่องเงินลดน้อยลง

ในมุมมองของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ณ ปัจจุบันอะไรคือภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อระบบ
การที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน รัฐมองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องถ้วนหน้า ไม่จำเป็นต้องดูแลทุกคน คนที่พอดูแลตัวเองได้ก็ดูแลตัวเอง แต่เขาไม่เข้าใจคำว่ารัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้ามาใช้ในระบบพร้อมๆ กัน ตอนที่คุณยังสุขภาพดี เงินที่เป็นค่าหัวของคุณมันดูแลคนอื่นได้ มันต้องการการ pool ทรัพยากร เมื่อรัฐมองคนไม่เท่ากันและเพื่อให้ตรงนโยบายรัฐก็จะดูแลแค่คนจน ทำให้คนถูกตีตราว่าเป็นคนจน ขณะที่เดิมระบบหลักประกันฯ ทำให้คนเสมอหน้ากันและไม่ถูกทำให้เป็นบัตรอนาถา ก่อนมีบัตรทองมันมีบัตรอนาถาหรือบัตร 500 บาท แต่อนาถายิ่งกว่านั้นคือไปขอตามโรงพยาบาลเมื่อเข้าไปรักษาแล้วไม่มีตังค์เลย อย่างนั้นคนที่ไม่จนจริงๆ ก็ไม่ไปใช้และเขาจะยอมให้ป่วยหนักๆ ก่อนที่จะมา แต่ทุกวันนี้คงมีไม่มากแล้ว ยกเว้นปัญหาการมาหาหมอ เพราะนอกจากเรื่องค่ารักษาแล้ว ยังมีค่าเดินทาง รายได้รายวัน ไม่มีคนดูแลลูกหลานที่เขาต้องดูแล ฉะนั้นการที่รัฐหรือผู้กำหนดนโยบายมองคนไม่เท่ากัน จึงกำหนดนโยบายไม่ต้องดูแลทุกๆ คนให้เท่ากัน อันนี้คือปัญหา

ประเด็นที่พูดถึงก็ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
มันถูกตัดคำว่า “เสมอกัน” ซึ่งสะท้อนว่าคุณไม่เห็นความเสมอกันว่าเป็นประเด็นใหญ่ ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งเสียงไม่ว่าในฐานะไหน แต่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ ประชาชนถูกปิดปากไม่ให้ส่งเสียง ไม่ว่าคุณจะจนหรือไม่ แต่ถ้าคุณเป็นประชาชนคุณไม่มีสิทธิส่งเสียง ฉะนั้น เขาเลยไม่จำเป็นต้องมองว่าคนเสมอกัน

นอกจากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักแล้ว ที่ผ่านมามีนโยบายต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นว่าเป็นการบ่อนเซาะระบบหลักประกันฯ อยากให้คุณช่วยอธิบายตรงจุดนี้


แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะแยกค่าเหมาจ่ายรายหัว พอแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ที่ไหนมีข้าราชการเยอะก็จะได้เงินงบประมาณเยอะ ที่ไหนข้าราชการน้อย พื้นที่ห่างไกล ข้าราชการไม่ไปที่นั่นก็จะได้เงินน้อย แทนที่ว่าประชากรเยอะจะได้เงินเดือนเยอะ ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นข้าราชการจะยิ่งไม่ไปต่างจังหวัด ไม่ไปพื้นที่ห่างไกล คนในพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลจะอยู่ไม่ได้ จากเดิมที่ได้งบจากค่าหัวเยอะเพราะประชากรเยอะ ข้าราชการไม่มาไม่เป็นไร ก็เอาเงินเหล่านี้ไปจ้างลูกจ้าง ทำให้มีเงินส่งหมอ ส่งพยาบาล ส่งกายภาพบำบัดไปเรียน และกลับมาใช้ทุนในพื้นที่

อีกประเด็นในการแก้กฎหมายที่ทำให้ผู้ให้บริการหรือวิชาชีพสำคัญกว่าประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากสัดส่วนของคณะกรรมการเดิม พ.ร.บ.หลักประกันฯ จะให้สัดส่วนบอร์ดจากภาคส่วนต่างๆ ใกล้เคียงกัน เพื่อว่าเมื่อเสียงคุณใกล้กันจะมีการคุยกันด้วยเหตุและผลมากขึ้น พอจะเอาชนะกัน ก็เอาชนะกันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ถ้าข้างใดข้างหนึ่งเสียงเยอะ จะไม่มีการฟังเหตุผลกัน จะใช้วิธีโหวต ตั้งแต่ประชุมมามีการใช้การโหวตน้อยมากๆ นอกจากเป็นการเลือกเลขาฯ สปสช. นอกนั้นไม่มีการโหวตเลย เพราะสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะมีการเอาชนะกันด้วยหลักฐาน ไม่เอาชนะกันด้วยการโหวต แต่การแก้กฎหมายรอบนี้พยายามเพิ่มสัดส่วนของผู้ให้บริการมากขึ้น

หรือการที่รัฐออกนโยบายบัตรคนจน มีการขึ้นทะเบียนและนำไปสู่สวัสดิการต่างๆ ข้าราชการบางส่วนพูดว่าเราต้องดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ก็มีผู้ใหญ่ในบอร์ดที่บอกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่แค่ดูแลคน 11 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน แต่สำหรับคน 48 ล้านคน

เรื่องแบบนี้เราจะเห็นเป็นระยะๆ แม้แต่การที่เห็นว่าคนไม่เท่ากันก็ยังมีชั้นของระดับความไม่เท่ากัน อย่างเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะต้องเป็นหมอหรือโรงพยาบาลหรือระบบสาธารสุขเท่านั้นที่ดู แต่ต้องบอกว่าประเทศไทยก้าวหน้ามาไกลมาก แม้แต่ในกระทรวงสาธารณสุขเอง

คนที่เสนอคงจะลืมไปว่ากระทรวงสาธารณสุขก้าวหน้ามากที่ลงมาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน กับกลุ่มประชาชนมา 20-30 ปี แต่ละปีมีเงินไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทที่ให้องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ร่วมทำงานพัฒนาระบบสาธารณสุข ถือว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังมากๆ ถ้าไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มประชาชน กลุ่มผู้ป่วยที่คอยทำงาน เอ็นจีโอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมทำงาน

ทุกวันนี้ประเทศไทยได้รางวัลเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เพราะคนไข้กับคนไข้ถึงจะคุยกันได้ดีหรือเข้าใจกันมากกว่า หมอและพยาบาลอธิบายได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความที่หมอและพยาบาลเปลี่ยนบ่อยมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด คนที่อยู่นานคือพยาบาล แต่คนที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นมากที่สุดคือคนไข้รุ่นพี่ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มเอชไอวี/เอดส์จะเห็นชัดเจนที่สุด แต่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น ยังมีคนไข้มะเร็ง คนไข้ไต คนไข้ทาลัสซีเมีย คนไข้ซึมเศร้า รวมทั้งโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง การปรึกษาหมอและพยาบาลก็แบบหนึ่ง ในเวลาที่โรคมันไล่ระดับขึ้นไป คุณดีลกับเรื่องนั้นอย่างไร ซึ่งคนไข้รุ่นพี่สามารถประคับประคองกันได้มากกว่า การรักษาและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของวิชาชีพเท่านั้น โลกมันเดินมาไกลมากและหลายๆ เรื่องของประเทศไทยกลายเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกยอมรับ แต่คุณก็ยังเห็นคนไม่เท่ากัน

ในทางการเมืองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูเหมือนจะไม่มีวันล้ม แต่ถึงตอนนี้เริ่มมีความไม่แน่นอน คุณคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะล่มสลายลง
ถ้าประชาชนอ่อนแอการล่มสลายเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเข้มแข็งพอก็พอจะสู้และดันไว้ได้เหมือนกัน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ มันเป็นเรื่องชีวิตและความตาย ก่อนมีระบบหลักประกันฯ เราเห็นคนตาย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อรุ่นพี่ที่ไม่มียากินก่อนการมีระบบหลักประกันฯ กับหลังมีระบบหลักประกันและมียากิน มันเห็นชัดมากระหว่างความเป็นกับความตาย ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคมะเร็งก็เห็นชัด ฉะนั้น ถ้าเขายังเข้มแข็งอยู่ ระบบหลักประกันฯ จะสามารถดำรงอยู่ได้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ จึงพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่ใช่ว่าพอคุณติดเชื้อเอชไอวี คุณมียา แล้วก็จบ ซึ่งมันทำให้คนเข้าใจว่าชีวิตช่างสบายอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เวลาที่เราพูดคุยกัน เราพูดถึงเรื่องว่ากว่าจะมีวันนี้ด้วย เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นต่อๆ มาได้เข้าใจ เพื่อรักษาสปิริตของการมีระบบหลักประกันฯ และทำให้เขารู้ว่าระบบหลักประกันฯ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาแต่มันผ่านการต่อสู้

ถ้าเรารักษาสปิริตนี้ได้ก็คิดว่ายังมีความหวังที่มันจะไม่ล่มสลายหรือเราอาจทำให้มันดีกว่าเดิมได้ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อไรก็ตามที่สปิริตนี้หายไป ประชาชนอ่อนแอลง โอกาสที่ปุบปับจะล่มสลายหรืออ่อนแอลง ไม่สามารถดูแลคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็คิดว่ามี เพราะอย่างที่บอก ภัยคุกคามมีเต็มไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ด้านเงินและอำนาจ มันเข้มแข็งกว่าเยอะ จะบอกว่าเป็นการต่อสู้ของเดวิดกับโกไลแอท (คนตัวเล็กที่เอาชนะคนตัวใหญ่ได้) ก็ได้ เพราะฝ่ายหลังมีทั้งเงินและอำนาจ ในขณะที่เรามีแต่ใจ

สำหรับประชาชนทั่วไปพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอาไว้
อยากให้เรียนรู้ระบบว่าระบบทำงานยังไง ดูแลคุณยังไง มีประโยชน์ยังไง ต้องช่วยกันรักษาและส่งเสียง และรู้สึกขอบคุณคนที่คิดจะล้มระบบหลักประกันฯ เพราะทำให้คนสนใจอยากรู้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและส่งเสียงมากขึ้น จากเดิมเหมือนกับมีอากาศอยู่ แต่เราไม่รู้สึก มีระบบหลักประกันฯ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้ไปสอนในหลายที่ หลายมหาวิทยาลัย ถามนักศึกษาว่าถ้าเราเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง มะเร็ง ไต คิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้มั้ย มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ยกมือบอกว่าดูแลตัวเองได้ คนที่ไม่ยกแสดงว่ามีปัญหาถ้าต้องเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ถามว่าแล้วจะทำยังไง เขาก็บอกว่าก็มีบัตรทอง แต่ไม่รู้ว่าระบบบัตรทองเป็นยังไง แต่รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเสื้อชูชีพชิ้นสุดท้ายในชีวิต ฉะนั้น ก่อนที่เราจะใช้เสื้อชูชีพชิ้นสุดท้ายนั้น ลองเรียนรู้และมาช่วยกันพัฒนาระบบ ช่วยกันปกป้องระบบ และทำให้ดีขึ้นกว่านี้

ในปีหน้าท่ามกลางภัยคุกคามที่คุณเล่ามา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไร จะทำอะไร ขับเคลื่อนอะไร


เรื่องเฝ้าระวังต้องมาก่อน ไม่ให้มันแย่ไปกว่านี้ ยันไม่ให้ระบบถูกทำให้เสียหายไปมากกว่านี้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ยัน แต่ยังต้องมีข้อเสนอในการพัฒนาระบบที่เราจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ ข้อเสนอที่จะทำอย่างไรให้รัฐสวัสดิการมีมากขึ้น เราไม่ได้หวังแค่ให้มีเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่ยังหวังในเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หวังในเรื่องบำนาญ เพราะคนที่เขายังทำงานได้อยู่อยากที่จะทำเพื่อที่อีกหน่อยเขาจะมีโอกาสหายอกหายใจได้ในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องของประเทศร่ำรวย แต่ในประเทศพัฒนาระดับกลางอย่างเรา มันพิสูจน์แล้วว่าเรื่องสุขภาพเรายังทำได้ ฉะนั้น เรื่องบำนาญก็เป็นไปได้
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.