Posted: 25 Dec 2017 06:16 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


นิธิ เอียวศรีวงศ์


ใน ม.14 ของ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475” หรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายนศกนั้น ระบุว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใด เมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียง…เลือกผู้แทน…”

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพยายามทำให้สั้น กระชับที่สุดอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์เติมวลีว่า “ไม่ว่าเพศใด” เพื่อจะยืนยันว่ารวมทั้งผู้หญิงด้วย หากร่างในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องมีวลีนี้เลย เพราะเราทุกคนต่างเคยชินกับสิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ของผู้หญิงอยู่แล้ว

ใน พ.ศ.2475 หรือ ค.ศ.1932 ไม่มีประเทศใดสักประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือทั้งเอเชียเลยก็ว่าได้ ที่ให้สิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แก่ผู้หญิง (ยกเว้นตุรกี) คำว่าสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเลือกตั้งไม่ได้หมายความเพียงมีสิทธิเดินเข้าคูหาไปหย่อนบัตรเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ด้วย ดังนั้น หากมองสิทธิสมบูรณ์ระดับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้ากว่าประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ ซึ่งให้แต่สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง แต่ไม่ให้สิทธิรับเลือกตั้ง

และว่าที่จริงส่วนใหญ่ของยุโรป เพิ่งให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือนับตั้งแต่ ค.ศ.1919 เป็นต้นมา ก่อนไทยไม่เกินสิบกว่าปี แม้กระนั้นไทยก็ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงก่อนฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, โรมาเนีย, ยูโกสลาเวีย, สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ รวมทั้งก่อนส่วนใหญ่ของประเทศละตินอเมริกา

ความก้าวหน้าอีกอย่างในเรื่องสิทธิเลือกตั้งของสยามหรือไทย คือในรัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน, การศึกษา, หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ-สังคมอื่นใดเลย คุณสมบัติเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ชนชั้นนำในประเทศต่างๆ มักใช้เพื่อถ่วงดุลแรงกดดันของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะยอมเปิดกว้างให้ผู้ชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ตกถึง 1932 ในประเทศตะวันตกเกือบทุกประเทศ คุณสมบัติด้านทรัพย์สินมักไม่ถูกนับเป็นเงื่อนไขของสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่ผู้ชายไปหมดแล้ว จึงจะนับไทยเป็นความ “ก้าวหน้า” ได้ไม่สู้สนิทนัก แม้กระนั้นคุณสมบัติด้านทรัพย์สินและสถานภาพก็ยังถูกใช้ในการจำกัดสิทธิเลือกตั้งในประเทศอาณานิคมเอเชียและญี่ปุ่น

ตราบจนญี่ปุ่นแพ้สงคราม ผู้หญิงญี่ปุ่นไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย ซ้ำผู้ชายเพียงประมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (บางแห่งว่าเพียง 25%) เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่อเมริการ่างขึ้นต่างหากที่ให้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่ชาย-หญิงญี่ปุ่น

แต่กรณีญี่ปุ่นเตือนให้เราสำนึกได้ว่า เหตุใดคณะราษฎรของไทยจึงให้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่พลเมืองทันที โดยเฉพาะไม่ตั้งเงื่อนไขด้านทรัพย์สินหรือสถานภาพด้านอื่นใด ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติของสยามเกิดจากคนที่อยู่นอกแกนกลางของชนชั้นนำ ในขณะที่ในญี่ปุ่น (เช่นเดียวกับในประเทศในยุโรปตะวันตกอีกหลายประเทศ) เกิดขึ้นจากชนชั้นนำที่อยู่ในแกนกลางของอำนาจเลย

ดังนั้น หากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามถูกกดดันให้ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่พลเมืองเอง ก็เป็นไปได้ว่าสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลจะยังไม่มี ต้องมีคุณสมบัติด้านทรัพย์สินและสถานภาพจำกัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอาไว้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

การให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงอย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลยนั้นเป็นความ “ก้าวหน้า” แน่ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับภูมิภาคใดในโลกก็ตาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นน่าจะเป็นท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เพียงคนเดียว สถานการณ์ก่อนการยึดอำนาจทำให้จะร่างเก็บไว้เป็นเวลานานไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นหลักฐานเอาผิดได้ฉกรรจ์หากถูกจับได้เสียก่อน เที่ยวนำไปปรึกษาใครก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ความลับถูกแพร่งพราย (แม้แต่กับท่านผู้หญิงพูนสุข ท่านก็ไม่แพร่งพรายสิ่งใดเลย)

ในฐานะนักเรียนยุโรป ท่านปรีดีย่อมได้รู้เห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรีในหลายประเทศ แต่การตัดสินใจว่าไทยควรเดินตามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะแม้แต่ในฝรั่งเศสซึ่งท่านไปพำนักและเล่าเรียน ก็ไม่ได้ให้สิทธินี้แก่ผู้หญิง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงในสมัยนั้น เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องใช้สติปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบเอาเองว่า สิทธิเสมอภาคระหว่างเพศมีความสำคัญเพียงไร

ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ที่มักพูดกันว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ก็เพียงแค่ไปลอกเลียนระบบการปกครองของยุโรปมาสวมให้แก่ไทยเท่านั้น ไม่เป็นความจริงหรอกครับ เป็นการพูดตื้นๆ ของนักเรียนอเมริกันสมัยหลัง คิดเพียงแต่จะลอกหรือไม่ลอกครูอเมริกันเท่านั้น ถึงแม้ว่าแม่แบบการปกครองอาจมาจากตะวันตกจริง แต่ไม่ได้มีแม่แบบให้ลอกเพียงอย่างเดียว ยุโรปสมัยนั้นมีอะไรต้องเลือกมากทีเดียว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มีความล้มเหลวและความสำเร็จในระบบของยุโรปหลายด้าน ซึ่งสงครามใหญ่ได้เผยให้ใครๆ ก็เห็นได้ง่าย ไม่เฉพาะแต่ด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่รวมด้านอื่นๆ เช่นเศรษฐกิจ, สังคม, หรือแม้แต่ศาสนาและศีลธรรม เกิดคำถามกับเรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้มาก

กว่าจะมาตกผลึกทางความคิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็ต้องผ่านการคิดและการศึกษามาอย่างกว้างขวางมาก ลองอ่านรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของระบบ “ปฏิวัติ” ที่ไม่เหมือนกับประเทศใด เอื้อต่อลักษณะเฉพาะของสังคมไทย, เอื้อต่อลักษณะเฉพาะของคณะปฏิวัติเอง ซึ่งไม่สามารถยึดอำนาจได้เด็ดขาด, แตกต่างจากรัฐธรรมนูญของระบอบปฏิวัติที่ชนชั้นนำเองเป็นผู้ยึดอำนาจการปกครอง, หรือการปฏิวัติที่นักปฏิวัติได้ชัยชนะเด็ดขาด ฯลฯ

การให้สิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แก่ผู้หญิงจึงเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเปรียบกับประเทศใดในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งเป็นความคิดที่ก้าวหน้าของปัญญาชนไทยเองมากกว่าการเดินตามตะวันตกอย่างมืดบอด ที่น่าประหลาดก็คือความคิดที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งอันนี้กลับ “ติด” ในสังคมไทย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่ตามมาทุกฉบับ อาจถอยหลังในเรื่องต่างๆ หลายด้าน แต่ด้านสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงทุกวันนี้

อย่างน้อยในทางทฤษฎี สังคมไทยยอมรับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน (ทั้งระหว่างชนชั้นและระหว่างเพศ) โดยไม่มีใครตั้งคำถามกับหลักการข้อนี้เลย อย่างน้อยก็ไม่ตั้งคำถามอย่างออกหน้า จนกระทั่งมาถึงนักคิดของ กปปส. ที่ประกาศว่าคนไม่เท่ากัน จนกลายเป็นฐานคิดหลักอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหารปัจจุบัน

แม้ความคิดที่ก้าวหน้าของท่านปรีดีในเรื่องนี้ดำรงอยู่สืบมาได้ แต่ก็อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ความก้าวหน้าด้านอื่นๆ ไม่ยืนยงเหมือนสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลของผู้หญิง

เหตุที่เป็นเช่นนี้คงมีหลายอย่าง แต่ผมอยากพูดถึงเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมาแต่ต้น ซึ่งไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงมากนัก นั่นก็คือสยามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ล้าหลังทางการเมืองอย่างยิ่ง ไม่ต้องไปเปรียบกับประเทศตะวันตกหรอกครับ แม้แต่เปรียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งล้วนตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการหมด ก็ยังต้องถือว่าล้าหลังทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ของอาณานิคมเหล่านั้น ล้วนมี “สภา” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสมาชิกถูกสมมติให้เป็น “ตัวแทน” ของกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายกลุ่มในสังคม

ก่อนจะพูดถึงสถาบัน “ตัวแทน” เหล่านี้ในบางอาณานิคม ผมขอสรุปพัฒนาการของสถาบันเช่นนี้ในอาณานิคมอย่างสั้นๆ ไว้ก่อน

ตกมาถึงศตวรรษที่ 20 คนตะวันตกเคยชินเสียแล้วกับการปกครองด้วยกฏหมาย ทำให้การตัดสินใจของบุคคลไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงเพียงไร ย่อมถูกจำกัดไว้ในกรอบของกฏหมายเสมอ ด้วยเหตุดังนั้นจึงคุ้นเคยกับกระบวนการตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือในหมู่ผู้มีอำนาจด้วยกัน

นับตั้งแต่ได้ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอาณานิคม เจ้าอาณานิคมตะวันตกมักตั้งสภาที่ปรึกษาให้แก่ผู้ว่าราชการใหญ่ สมาชิกคือข้าราชการหรือพนักงานของบริษัทการค้าที่มายึดดินแดน ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาจากสำนักงานใหญ่ในยุโรปให้ดำรงตำแหน่ง (เพื่อให้อำนาจของเขาเป็นอิสระจากผู้ว่าราชการใหญ่) ความเปลี่ยนแปลงของสถาบันเช่นนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็คือ คนกลุ่มอื่นเรียกร้องขอเข้ามามีส่วนร่วมใน “สภา” เช่นนี้ด้วย ทีแรกก็อาจเป็นพ่อค้าฝรั่งหรือผู้ประกอบการฝรั่งในอาณานิคม ต่อมาก็พ่อค้าจีนหรืออินเดีย และในที่สุดก็ชาวพื้นเมือง

เป็นสมาชิกจากการแต่งตั้งล้วนๆ ก็มีสมาชิกจากการเลือกตั้งผสมเข้ามา จนในที่สุดอาจกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาในบางอาณานิคม จากหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา ก็กลายมาเป็นการอนุมัติ และพอถึงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีอำนาจเฉพาะของตนเอง เช่น ออกกฎหมาย หรือในบางอาณานิคมถึงกับมีชาวพื้นเมืองเข้าไปร่วมในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในกระทรวงที่เจ้าอาณานิคมไม่ได้สงวนเอาไว้

ผมไม่ได้หมายความว่า สภาเหล่านั้นทำงานอย่างได้ผลดีในการปกครองตนเองนะครับ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ล้มเหลว ทั้งจากเจตนาของเจ้าอาณานิคมเอง หรือเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เจ้าอาณานิคมไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น

(ยังมีต่อ)



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2560

ที่มา: www.matichonweekly.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.