Posted: 24 Dec 2017 12:56 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ เป็นผลดีกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการบริโภค จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัดเมื่อต้นปีควรได้เพิ่มลดความเหลื่อมล้ำ เสนอศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำควรมี 2 ระบบ 'แรงงานต่างด้าว-แรงงานไทย' หรือไม่? เพื่อกำหนดยุทธศาสตรแรงงานทักษะต่ำสอดคล้องภาวะตลาดแรงงาน


24 ธ.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวทางการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำว่าเห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาท เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการบริโภคให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ลดปัญหาคนยากจนในเมืองใหญ่

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าเสนอให้ใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศ แล้วจึงปรับเพิ่มจากฐานดังกล่าวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ร่วมกับการใช้ยุทธศาสตร์ของประเทศกำหนดตามความเหมาะสม เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยพิจารณาปัจจัยการเคลื่อนย้ายถิ่นของประชากร การลดความแออัดในกรุงเทพฯและหัวเมืองเศรษฐกิจ ส่วนระบบค่าจ้างทั่วไปให้พิจารณาตามความสามารถและผลิตภาพ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีระบบการกำหนดค่าจ้างตามฝีมือแรงงานแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การที่คณะกรรมการค่าจ้างนำเอาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 10 รายการเป็นมาตรฐานที่ดีและทำให้สามารถปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลระหว่าง “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” และ "ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและของสถานประกอบการ” มากขึ้น อย่างไรก็ตามจังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างเลย 8 จังหวัดตามข้อเสนอไตรภาคีเมื่อต้นปีควรได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจากการใช้ระบบอัตราเดียวทั่วประเทศ หากไม่ปรับเพิ่มจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำมาก เสนอให้ศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำ (คนละส่วนกับระบบค่าจ้างทั่วไป) ควรมีสองระบบหรือไม่ ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างด้าวและค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทย เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของแรงงานทักษะต่ำได้อย่างสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศ

ดร. อนุสรณ์ ชี้ว่าอุปสรรคต่อการลงทุนของไทยเวลานี้ส่วนหนึ่ง คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ควรไปศึกษาว่าการเปิดเสรีแรงงานในบางสาขาเพิ่มเติมในบางช่วงเวลาควรทำหรือไม่
ผลิตภาพแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทย ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นมากสุดในกิจการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงิน ยานยนต์ พลังงาน ค้าปลีก บริการทางการแพทย์ ขณะที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง กิจการการศึกษาบางส่วน รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการบางส่วน รัฐควรมียุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษาและสถานประกอบการเพื่อสร้างนวัตกรรมและยกระดับผลิตภาพของแรงงานและทุน ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่งขณะนี้ คือ คุณภาพแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาดจ้างงานซึ่งสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย

ความพยายามของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานในการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะหากไม่ดำเนินการจะเกิดปัญหาต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการหลังเกษียณเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดตามโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ International Labour Organization (ILO) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทยได้เคยศึกษาว่าหากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขสถานะของกองทุนภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคม จะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก แต่หากแก้ไขในประเด็นใหญ่ดังกล่าว จะทำให้สถานะเงินกองทุนสามารถยืนอยู่ได้จนถึงปี 2697

ตนจึงขอสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน ตนสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เปิดช่องให้มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนการยืดเวลาการรับผลประโยชน์ทางด้านบำนาญ (การยืดอายุการเกษียณ) ควรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่าที่ตนมีข้อมูลแนวทางของการแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนประกันสังคม ใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.แก้ไขอายุการเกษียณของสมาชิก จากปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคมกำหนดอายุเกษียณที่จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญรายเดือนไว้ที่อายุ 55 ปีจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี โดยเป็นการทยอยปรับขึ้น กล่าวคือ จะปรับอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปีในทุก ๆ 5 ปี จนกระทั่งครบ 60 ปี 2.การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน และ 3.การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในประเด็นเรื่องการลงทุนของกองทุน ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 40%

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าโดยกระบวนการปรับแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์และให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เจ้าของกิจการนายจ้าง นักวิชาการ องค์กรแรงงาน ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาทแต่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาหลายปีแล้วและมีแนวโน้มลดลงในอัตราเร่งภายใต้โครงสร้างประชากรปัจจุบันและอนาคต กลุ่มคนในยุคเด็กเกิดมาก Baby Boom ทะยอยเกษียณอายุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้สมาชิกกองทุนประกันสังคมรวมกันราว 12 ล้านคน โดย 90% ของเงินทุน เป็นเงินกองทุนเพื่อชราภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยด้วยว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนมากจะร่วมจ่ายเพิ่มเติมในกองทุนประกันสังคมอย่างไร เนื่องจากแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาใช้บริการพื้นฐานของรัฐไทยมากและเป็นภาระทางการคลังของรัฐไทยสูงมากและสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ควรเตรียมรับมือกับ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบเทคโนโลยีการผลิต ระบบหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยต้องมีระบบการศึกษาและฝึกทักษะสำหรับแรงงานในระบบการผลิตแบบใหม่ภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัลและต้องเตรียมรับมือกับการว่างงานของผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษว่าจะเอาคนเหล่านี้ไปทำอะไร โดยจำเป็นต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมและแบ่งปันกันมากขึ้นซึ่งต้องอาศัยกลไกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.