พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ จากกลไกประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต 5 ราชบุรี
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ไปฟังเสียงของพวกเขา
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้อง
ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับด้านนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นที่พึ่งให้คนได้ ผมเป็นคนที่ใช้บัตรทองคนหนึ่ง ผมไม่ต้องกังวลเวลาไปโรงพยาบาล เวลาป่วย หลักประกันสุขภาพฯ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้าโรงพยาบาลอย่างไม่ต้องกลัว ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมจะกังวลมากว่าถ้าผมป่วยขึ้นมา เงินจะพอไหม คนแถวบ้านผม เวลาป่วยก็ไม่ค่อยไปโรงพยาบาลกันเพราะต้องจ่ายเต็ม การจ่ายเต็มเป็นภาระอย่างหนึ่งของคนหาเช้ากินค่ำ ผมรู้สึกว่าต้องปกป้องบัตรทอง เพราะมันเป็นที่พึ่งของเราได้ มันช่วยเราได้ และที่สำคัญ มันเกิดจากภาษีที่เราจ่ายไป มันคือระบบของเรา เราต้องปกป้อง
คิดว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพมากที่สุด
หน่วยที่มีหน้าที่รับผิดชอบมองไม่ออกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีกับประชาชนยังไง แต่ทุกคนมองเรื่องระบบเศรษฐกิจมากกว่าคุณภาพชีวิตคน สถานการณ์ที่พี่ตูน (อาทิตวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม) ต้องมาวิ่ง ทุกคนบริจาคให้ อันนี้เป็นสิ่งดี แต่ทำไมพี่ตูนต้องมาวิ่ง กระทรวงสาธารณสุขทำไมต้องเอาเงินไปบริจาคให้พี่ตูน ทั้งที่ตัวเองมีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง ทำไมไม่ดูว่าหน่วยบริการประสบปัญหาอะไร และกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปช่วยอย่างไร
ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่เคยได้งบตามที่เสนอ มีปรับลดตลอดหรือไม่ก็เท่าเดิมกับปีก่อนๆ ทั้งที่สถานการณ์เปลี่ยน การจ่ายเงินไม่พอในระบบ บวกกับคนที่เกี่ยวข้องเชิงนโยบายมองไม่ทะลุว่าจริงๆ หน้าที่ของตัวเองอยู่ตรงไหน และจะมีวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร กลายเป็นทุกอย่างไปลงที่ สปสช. ที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ทั้งที่มี 3 ระบบคือสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรัฐบาลให้การดูแล ถึงแม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นระบบที่ดูแลคนมากกว่าทุกระบบ แต่ได้เงินน้อยกว่าทุกระบบ ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการเงินจ่ายมากที่สุด ดูแลคนน้อยที่สุด ชี้ให้เห็นว่าระบบการจัดสรรงบประมาณหรือนโยบายของหน่วยงานที่รับผิดชอบเองไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา
ข้อเสนอ?
ถ้าจะทำให้เกิดการจัดการที่ดี อย่างแรก เรื่องการจัดสรรงบประมาณต้องจัดสรรให้เพียงพอ สอง การให้คนในพื้นที่มาร่วมจ่ายไม่ใช่ทางออก การให้คนมาร่วมจ่ายเยอะๆ ในหน่วยบริการ ทำให้สุดท้ายกลับไปสู่ภาวะเดิมก่อนมีหลักประกัน คนต้องพะวงในการจะเข้ารักษา ตอนนี้ผู้ป่วยโรคไตก็ต้องร่วมจ่ายแล้ว ผมเสนอว่าแนวคิดเรื่องการร่วมจ่ายควรตัดออกไป
ส่วนวิธีการที่จะให้มีเงินเข้าระบบเพียงพอ ผมคิดว่ามีเยอะแยะ เช่น ภาษีน้ำตาลหรือภาษีเหล้า บุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ไปทำลายสุขภาพของคน ควรจะเอาเงินส่วนนี้มาช่วยดูแลสุขภาพของคน ที่สำคัญคือการทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น ทุกวันนี้ เรามองว่าคนจะเข้ารับการรักษายังไง แต่ไม่เคยมองว่าคนจะดูแลสุขภาพยังไง
และสุดท้ายคือการทำให้ระบบการรักษาลดความเหลื่อมล้ำลง จะทำยังไงให้คนเข้าโรงพยาบาลหมอไม่ต้องถามว่าใช้สิทธิอะไร ถ้าทำให้เกิดการรักษามาตรฐานเดียวกัน ระบบเดียวกัน ทุกคนก็จะมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่แยกว่าคนไหนจนหรือรวย
บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้
บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคเหนือ) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคอีสาน) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันออก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
[full-post]
แสดงความคิดเห็น