Posted: 30 Dec 2017 11:46 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กสร. เตือนลูกจ้างวางแผนเดินทางช่วงหยุดยาวปีใหม่ กันปัญหาเลิกจ้าง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่สถานประกอบกิจการหลายแห่งได้ประกาศวันหยุดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวัน เพื่อให้ลูกจ้างเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว และร่วมกิจกรรมตามประเพณีนิยม กสร. ขอฝากเตือนไปยังลูกจ้างทุกท่านที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่นี้ ขอให้วางแผนการเดินทางไปกลับเพื่อความสะดวก ปลอดภัยและกลับมาทำงานทันตามวันเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น เพราะอาจทำให้ลูกจ้างถูกลงโทษทางวินัยและอาจเป็นสาเหตุให้นายจ้างบอกเลิกจ้างได้

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ได้กำหนดกรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม

โดยไม่มีเหตุอันสมควรนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นจึงขอให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างเคร่งครัด

ที่มา: Nation TV, 30/12/2560

ไฟไหม้โรงงานนิคมฯลำพูน พบโรงผลิต-เก็บสารเคมีวอด จนท.-พนักงานเจ็บรวม 5 คน


(30 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานบริษัทช้าฟเนอร์อีเอ็มซี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ฝั่งตะวันออก เมื่อเวลา 09.10 น.เศษที่ผ่านมา ซึ่งเพลิงลุกไหม้จากอาคารเก็บวัสดุและสารเคมี มีการระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง

หลังเกิดเหตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระดมรถดับเพลิงจากหลายท้องที่ในลำพูน รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ และรถเคมีโฟมจากศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง รวมกว่า 20 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 100 นายเข้าควบคุมเพลิง ซึ่งภายในบริษัทฯ มีทั้งห้องสำนักงาน โรงผลิต-ประกอบชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์-โรงเก็บวัตถุสารเคมีอีกจำนวนมาก ที่ถูกเพลิงลุกไหม้ และระเบิดเสียงดังเป็นระยะๆ จนเจ้าหน้าที่ต้องถอยออกมาฉีดสกัดเพลิงด้านนอก

ต่อมานายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ , ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาอำนวยความสะดวกในการควบคุมเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ด้วย โดยมีการประสานรถดับเพลิงขนาดใหญ่และรถที่สามารถฉีดสารเคมีควบคุมเพลิงมาสมทบเป็นระยะ

เบื้องต้นพบว่า ขณะเกิดเหตุเป็นวันหยุดประจำปี ไม่มีพนักงานมาทำงาน มีเพียงยามรักษาการและพนักงานที่เกี่ยวข้องบางคนเท่านั้น แต่มีเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิงด้านในถูกแรงระเบิดของสารเคมี บาดเจ็บเพิ่ม 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นายกัมปนาท ศักดิ์ศรี อายุ 34 ปี จนท.ดับเพลิงเทศบาลมะเขือแจ้ บาดเจ็บด้านหลัง เนื่องจากแรงระเบิด อีกรายเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานของบริษัทที่มาดูเหตุการณ์ เป็นผู้หญิงไม่ทราบชื่อ ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อมือและนิ้วฉีกขาดถึงเส้นเอ็น ถูกนำตัวไปรักษาอาการบาดเจ็บแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบชื่อ

กระทั่งเวลาประมาณ 11.09 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงอยู่ในวงจำกัดแล้ว หลังจากที่เปลวเพลิงลุกลามไหม้อาคารโรงงานนานราว 2 ชั่วโมง เบื้องต้นมีอาคารของโรงงานถูกเพลิงไหม้เสียหาย 1 หลัง แต่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ส่วนสาเหตุยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า บริษัทช้าฟเนอร์อีเอ็มซีฯ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในเครือของบริษัทแม่จากสวิสเซอร์แลนด์ มีประกันอัคคีภัยอยู่ด้วย ขณะที่ผู้บริหารบริษัทฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จะประชุมหารือกันในช่วงบ่ายวันนี้(30 ธ.ค.) เพื่อสรุปข้อมูลความเสียหาย เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า จะเปิดเดินเครื่องการผลิต หลังหยุดปีใหม่ได้หรือไม่ต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/12/2560

กสร.เร่งประสานหาข้อยุตินายจ้างลูกจ้าง บ.มิตซูบิชิ เหตุไม่ใช่เลิกจ้าง หากประนีประนอมกลับทำงานได้ตามเดิม

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทยปิดงาน จนลูกจ้างออกมาเรียกร้อง ว่า กรณีไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งกรณีทางลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวมีข้อเรียกร้องขอให้มีการจ่ายโบนัส และปรับค่าจ้างประจำปี แต่ทางบริษัทเห็นว่าควรเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรมากกว่า ซึ่งความเห็นยังขัดแย้งกันมีการคุยกันหลายรอบแต่ตกลงไม่ได้ เลยมีการให้พนักงานไปไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าหากประนีประนอมกัน 5 ครั้งยังไม่ได้ข้อยุติก็ให้สิทธิลูกจ้างสามารถสไตรท์ได้ และให้สิทธินายจ้างปิดการผลิตชั่วคราวจนกว่าจะมีข้อยุติร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของการเลิกจ้าง ทั้งคู่ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิต ไม่มีค่าจ้างเกิดขึ้น ถ้าคุยกันได้ข้อยุติทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

“ถ้าเป็นเรื่องที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายอันนี้ กสร.สามารถสั่งให้ บริษัทจ่ายให้ลูกจ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เรื่องโบนัส เรื่องการปรับค่าจ้างประจำปีนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด กสร.ไปสั่งใครไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงกัน ถ้าตกลงกันยังไม่ได้กฎหมายให้ให้สิทธิทั้ง 2 ฝ่ายอยู่แล้ว ลูกจ้างสไตรท์ได้ นายจ้างปิดการผลิตไม่จ่ายเงิน แต่สิ่งที่ กสร. จะเข้าไปช่วยเหลือคือการประสานให้มีการเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด และให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายแก่ทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นการทำผิดกฎหมายต่ออีกฝ่าย” นายอนันต์ชัย กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/12/2560

'มิตซูบิชิ' ประกาศปิดงานหยุดจ่ายค่าจ้าง-สวัสดิการ

นายนิคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในประกาศเรื่อง “ขอใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง” ส่งถึงประธานสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิฯ และสมาชิกสหภาพ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดชลบุรี โดยระบุว่า

ตามที่สหภาพแรงงาน มิต​ซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ประจำปี 2560 ตามหนังสือเลขที่ สมอท.058/2560 ลงวันที่ 7 กันยายน 2560 ต่อบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็ดทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ทำการเจรจาร่วมกัน 7 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติตกลงกันได้ ต่อมาสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ ประเทศไทย ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงาน ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดหมายผู้แทนการเจรจาทั้งสองฝ่าย ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน โดยมีการไกล่เกลี่ยตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2560 รวม 10 ครั้ง แต่ผลการเจราจาทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 บริษัทฯ จึงขอใช้สิทธิปิดงานเฉพาะข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่นใดให้กับมวลชนสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะตกลงกันได้ สำหรับลูกจ้างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องให้เข้าทำงานและได้รับค่าจ้างตามปกติ

ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ​ ได้ปรับโครงสร้างการปรับเงินเดือนใหม่ จากเดิมเคยให้ฐานเงินเดือนเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อคน ทำให้เมื่อลูกจ้างบวกลบค่าจ้างพบว่า ไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนขึ้น แต่เงินเดือนลดลง รวมถึงโบนัสที่เคยได้กลับไม่ได้ ทำให้ลูกจ้างราว 1,800 คน ได้เรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอเจรจาให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งได้เริ่มเจราจาตั้งแต่ ก.ย. เป็นต้นมา จนครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 27 ธ.ค. พบว่า ยังไม่มีข้อยุติ ทำให้ช่วงเช้าของวันนี้นายจ้างขอปิดงานงดจ้างลูกจ้าง โดยทั้งหมดเป็นฝ่ายผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ประกอบเครื่องปรับอากาศของยี่ห้อมิตซูบิชิเพื่อส่งออก มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. เป็นต้นไป ส่วนวันที่ 28 ธ.ค. ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานแต่ยังได้รับค่าจ้าง ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ลูกจ้างไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ที่มา: แนวหน้า, 28/12/2560

ดีเดย์ มี.ค.2561 กยศ.เริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ข้าราชการ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กยศ.ได้เห็นชอบแนวทางการหักเงินเดือนแก่ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนตามกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2561 จะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและรับเงินเดือนระบบของกรมบัญชีกลาง ซึ่งอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นกลุ่มแรกก่อน นำร่องหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบก่อน 1,000 คน โดยหักเงินเดือนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

ส่วนลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระปกติจะยังไม่มีการหักเงินเดือน แต่ให้ผ่อนชำระตามขั้นตอนปกติเหมือนเดิม หลังจากนั้นจะมีการขยายไปสู่การหักเงินเดือนข้าราชการส่วนอื่นๆ และลูกจ้างบริษัทเอกชนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2561 เนื่องจากเป็นลูกหนี้กลุ่มใหญ่หลายล้านบัญชีจึงต้องมีการพัฒนาระบบ และให้ความรู้กับนายจ้างเอกชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ปัจจุบันมีข้าราชการเป็นลูกหนี้กับ กยศ.ประมาณ 1.5 แสนราย ซึ่งในปี 2560 กยศ.มีการฟ้องร้องลูกหนี้ทั้งระบบไป 1.3 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท

ที่มา: TNN24, 28/12/2560

ก.แรงงานจัดของขวัญ 9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 “9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ” สำหรับเป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป โดย 9 รายการ ดังนี้

ชื่นชอบ ช่างแรงงาน โดยให้บริการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการจุดพักรถ พร้อมให้บริการเครื่องดื่ม ผ้าเย็น นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า จำนวน 77 แห่ง บนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2561

ชื่นชม ช่างประชารัฐ โดยจัดบริการช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน จำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ เดินสายไฟฟ้า ซ่อมประปา ล้างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีราคาถูก คุณภาพไว้ใจได้ มีความเต็มใจให้บริการ ด้วยมาตรฐานกระทรวงแรงงาน

ชื่นมื่น มีงานทำ โดยการจัดคู่คนให้ตรงงาน จัดหางานให้ตรงใจ จำนวนประมาณ 70,000 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีตำแหน่งงานรองรับการทำงานของผู้สูงอายุ จำนวน 2,500 อัตรา

ชื่นบาน บ้านประชารัฐ โดยให้ผู้ประกันตนกู้ยืมเงินซื้อบ้านในโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยมีวงเงินที่จัดสรรให้ธนาคารฯ ดำเนินการ จำนวน 5,000 ล้านบาท

ชื่นใจ ค่าเลี้ยงดูบุตร โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร อายุไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน ได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ดังกล่าว จำนวน 1,200,000 คน

ชื่นจิต สิทธิผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนแบบสมัครใจ ตามมาตรา 40 จำนวน 2,400,000 คน สำหรับที่จ่ายเงินสมทบในอัตรา 70 บาท และ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับการเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อนอนพักรักษาตัวจากวันละ 200 บาท เป็น 300 บาท

กรณีเสียชีวิตรับเพิ่มเงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท และเพิ่มทางเลือกใหม่จ่ายเงินสมทบเพียง 300 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาท ถึง 300 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี หากทุพพลภาพรับเงินเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาทตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตรับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท รับเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่เกินคราวละ 2 คน รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60 ปี

ชื่นสุข เรียกรับสิทธิ เพิ่มช่องทางเรียกรับสิทธิแรงงาน โดยให้บริการลูกจ้างยื่นคำร้องออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.labour.go.th เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และฮอตไลน์กระทรวงแรงงาน 1506

ชื่นชีวา ไร้โรคหน้าจอ โดยมอบ Application เพื่อรู้เท่าทันออฟฟิศซินโดรม โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม ส่งเสริมให้คนในองค์กรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม

ชื่นตา อาสาแรงงาน เพื่อให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่สื่อกลางในการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน และสร้างความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งตำแหน่งงานว่างเพื่อการมีงานทำ จากเดิมที่มีอยู่กว่า 7,200 คน ทุกจังหวัด โดยเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ 50 เขต อีก 253 คน

ที่มา: ว๊อยซ์ทีวี, 27/12/2560

ยอมรับเงินอาจารย์มหาวิทยาลัยกับครูเหลื่อมล้ำ ชี้ขอขึ้น 8% ควรใช้กลไกปกติ

จากกรณีที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) รวมตัวกันแต่งชุดดำออกมาเคลื่อนไหวให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา 8% เพื่อเยียวยาและลดความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนระหว่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแลอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ยอมรับว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนครูกับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีความเหลื่อมล้ำ แต่หน่วยงานที่พิจารณาเรื่องนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานประมาณ ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ นายกฯ น่าจะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว รวมถึงหารือร่วมกับก.พ.และสำนักงบประมาณด้วย

ส่วนที่ทาง ทปสท. เสนอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ดำเนินการเรื่องดังกล่าวนั้น ส่วนตัวคิดว่า เรื่องนี้น่าจะดำเนินการโดยใช้กลไกปกติ ส่วนม.44 ควรใช้ในเรื่องสำคัญที่ หากไม่เร่งดำเนินการภายในรัฐบาลนี้ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ใช่ว่า ทุกเรื่องจะต้องใช้ม.44 ทั้งหมด

“ผมว่าเรื่องนี้น่าจะแก้ไขโดยใช้กลไกปกติ อำนาจม.44 ควรเก็บไว้ใช้ในเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ หากไม่ทำในรัฐบาลนี้ ก็อาจไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลอื่น อีกทั้งถ้าทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ต้องไปใช้ม.44 ทั้งหมด ผมเองก็เห็นใจนายกฯ โดยการแก้ไขเรื่องนี้ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษามีขวัญกำลังใจในการทำงาน พัฒนาการจัดการศึกษา ซึ่งปัจจัยเรื่องค่าตอบแทนก็ไม่ควรมีความเหลื่อมล้ำเกินไป”ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ส่วนความคืบหน้ากรณี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กรณีจัดสรรงบเพื่อเลื่อนเงินเดือนให้พนักงานในสถาบันอุดศึกษา ประจำปีงบ 2560 ในอัตรา 4% ส่วนข้าราชการ 6% โดยขอให้กำหนดวงเงินการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาให้เท่ากับข้าราชการนั้น รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แต่คาดว่าหลังปีใหม่น่าจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจ และพยายามจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อยากให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/12/2560

ผู้บริหาร-สหภาพฯทีโอทีแสดงจุดยืนเร่ง กสทช.อนุมัติแผนใช้คลื่น 2300 MHz-เตรียมร้องนายกฯ

รายงานข่าวจากบมจ.ทีโอที ระบุว่า เช้าวันนี้ พนักงานทีโอที นำโดยนายมนต์ชัย หนูสูง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงาน บมจ.ทีโอที รวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ ทีโอที และพนักงานทีโอทีทั่วประเทศรวมตัวกัน ณ ที่ตั้งในแต่ละจังหวัด เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้คลื่น 2300 MHz อย่างยุติธรรม โดยขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รีบดำเนินการตามข้อตกลงที่

บมจ.ทีโอที และ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตกลงร่วมมือกันพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 MHz แต่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กสทช. เลื่อนการพิจารณาร่างสัญญาการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจดังกล่าว

สหภาพ ทีโอที ระบุว่า กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล Regulator มีเจตนากลั่นแกล้งและทำให้องค์กรรัฐเสียหาย ของให้ธำรงความเป็นธรรม ซึ่งจะนำมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ทุกฝ่ายมิใช่เอกชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำหน้าที่คานอำนาจกับภาคเอกชนโดยหน่วยงานรัฐ

ในวันพรุ่งนี้ พนักงานจะไปติดตามทวงถามครั้งที่ 3 ที่สำนักงาน กสทช.ซอยสายลม อีกครั้ง ก่อนนำเสนอข้อเรียกร้องไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 26/12/2560

9 มทร.ถกปัญหาเงินพนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนครเปิดเผยว่าในวันที่ 4 มกราคม 2561 ทาง มทร.ทั้ง 9 แห่ง ได้นัดประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประเด็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี2542ที่กำหนดให้จ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ สาย ก.และ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน สาย ข. และ สาย ค. โดยเงินเดือนที่รัฐจัดสรรให้แต่ละมหาวิทยาลัย จะเป็นรูปแบบของเงินหมวดอุดหนุนทั่วไป เพื่อให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆก็ปฏิบัติตามมติ ครม.แต่วิธีการปฏิบัติอาจจะแตกต่างกันไป ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่เข้าใจจึงได้เกิดการเรียกร้องขึ้น ดังนั้น มทร.9 แห่ง จะมาเสนอปัญหาที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเจอ และแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมทั้งเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงบประมาณ มาชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมติ ครม.และแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและให้ มทร.ทั้ง 9แห่งมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา: เดลินิวส์, 25/12/2560

ย้ำ!! ลูกจ้างควรได้หยุดยาว 4 วันช่วงปีใหม่

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 กำหนดให้วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561เป็นวันหยุดต่อเนื่องกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ กระทรวงแรงงาน โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดปีใหม่ จึงขอความร่วมมือให้นายจ้างพิจารณาจัดให้ลูกจ้างได้หยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561เพื่อให้ลูกจ้างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ณ ภูมิลำเนาของตนเอง และร่วมกิจกรรมตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา อีกทั้งขอให้ลูกจ้างที่เดินทางกลับภูมิลำเนาใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ งดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และขอให้เดินทางไปกลับด้วยความปลอดภัย

ทั้งนี้สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ได้ประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม 2516 เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันหยุดตามประเพณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งหากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้วันที่ 2 มกราคม 2561 เป็นวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี

"สำหรับสถานประกอบกิจการประเภทงานขนส่งทางบก นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่พาหนะทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากจะให้ทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และในวันทำงานถัดไป ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว" โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/12/2560

ยอดผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคม ม.ค.- พ.ย. 2560 กว่า 69 ล้านครั้ง

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยยอดผู้ประกันตนขอรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี เดือน มกราคม - พฤศจิกายน 2560 จำนวนแล้วกว่า 69 ล้านครั้ง ยอดร้องเรียนปัญหา 6,212 เรื่อง เลขาธิการ สปส. แจง เคลียร์ปัญหาให้นายจ้าง – คลายทุกข์ให้ผู้ประกันตนแล้ว 5,729 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.22 เผยส่วนใหญ่ร้องเรียนสถานประกอบการ วอนนายจ้าง ให้ความร่วมมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสิทธิประโยชน์ อันพึ่งมีพึ่งได้ของผู้ประกันตน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทุกมาตรากว่า 14 ล้านคน มียอดผู้มาขอรับประโยชน์ทดแทน 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน รวมแล้ว 69 ล้านครั้ง มียอดร้องเรียนจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคมยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาระหว่างเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2560 จำนวน 6,212 เรื่องสำนักงานประกันสังคมดำเนินการแก้ไขปัญหาในระบบให้กับผู้ร้องได้แล้วเสร็จภายใน 25 วันทำการ เป็นจำนวน 5,729 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.22 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา แก้ปัญหาข้อร้องเรียนแล้ว 604 เรื่อง แยกเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสูงที่สุด ได้แก่ 1.ร้องเรียนสถานประกอบการ จำนวน 270 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.70 2.ร้องเรียนการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 118 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.54 3.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ส่วนกลาง/เขต/พื้นที่/จังหวัด จำนวน 52 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8.61 4.ร้องเรียนสถานพยาบาล จำนวน 46 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.62 5.ปัญหาอื่น ๆ เช่น มิจฉาชีพแอบอ้างใช้สิทธิ แทนผู้ประกันตน การใช้สิทธิซ้ำซ้อน จำนวน 43 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.12 6.ร้องเรียนระบบของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 38 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.29 7.ร้องเรียนระบบของศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.46 8.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 2 เรื่อง 9.การขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จำนวน 2 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.33

เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นที่มีการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสถานประกอบการ กรณีไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง/ลูกจ้าง การหักเงินแต่ไม่นำส่งเงินสมทบ/ส่งไม่ครบ การแจ้งรายละเอียดลูกจ้างเข้า-ออกไม่ถูกต้อง และเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ในการใช้สิทธิกับสำนักงานประกันสังคม จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ให้ความร่วมมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากนายจ้างจะไม่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ยังทำให้ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีได้ หากลูกจ้าง/ผู้ประกันตน มีข้อร้องเรียนหรือมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับสถานประกอบการ ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีปัญหา จากการรับบริการในระบบประกันสังคมสามารถแจ้ง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก โดย ยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.thหรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: บ้านเมือง 25/12/2560

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.