Posted: 29 Dec 2017 04:01 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิอิเล็คทริคซึ่งนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยหลายครั้งระหว่างสหภาพแรงงานและฝ่ายผู้ประกอบการในช่วงปลายปี 2560 จนนำสู่การระงับการผลิตของฝ่ายนายจ้างโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนผู้ใช้แรงงานที่เข้าร่วมการเรียกร้องจนกว่าจะมีการเจรจาใหม่อีกรอบในช่วงต้นเดือนมกราคม 2561 ส่งผลให้พนักงานกว่า 1,800 คนจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในกระบวนการทำลายสหภาพแรงงานโดยเป็นการกดดันทางอ้อมให้สมาชิกสหภาพแรงงานถอนตัวและรับเงื่อนไขที่ฝ่ายนายจ้างนำเสนอ หัวใจสำคัญที่นำสู่กรณีพิพาทระหว่างกันมีอยู่ สามเงื่อนไขหลักคือ 1.ฝ่ายนายจ้างปฏิเสธการขึ้นเงินเดือนจากฐาน 7.5% แต่ใช้อัตราจ่าย 400 บาท /เดือน/ คนแทนและอัตราสูงสุดอยู่ที่ 6% 2.การเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงานล่วงเวลาโดยให้พนักงานทำงานเป็นกะ อันส่งผลต่อการขาดรายได้จากการทำ OT 3.ประเด็นยกเลิกการเก็บสมทบเข้าสหภาพแรงงานโดยหักจากเงินเดือนโดยตรงอันส่งผลให้สมาชิกสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งสามารถถอนตัวจากการเป็นสมาชิกได้โดยง่ายมากขึ้นตามความละเอียดอ่อนของประเด็นทางการเมืองในสถานประกอบการ ทั้งนี้กระแสสังคมให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องสวัสดิการส่วนเพิ่มของสหภาพแรงงานได้แก่โบนัส 8 เดือน หรือประกันสุขภาพกลุ่มต่างๆ แต่หัวใจหลักคือสามประเด็นข้างต้นที่ฝ่ายผู้ประกอบการมีเป้าปะสงค์หลักในการทำลายสหภาพแรงงานและลดต้นทุนการผลิตรวมถึงอำนาจต่อรอง

บทความนี้มุ่งอธิบายให้เห็นถึงความชอบธรรมในการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่าค่าจ้างกันตาย การรวมตัวเรียกร้องในชีวิตประจำวันทั้งในที่ทำงาน ท้องถนน และพื้นที่ต่างๆในชีวิตประจำวันจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสถาปนารัฐสวัสดิการ-ประชาธิปไตยเป้าหมายระยะยาวของประชาชนทุกคน บทความนี้จะแบ่งการพิจารณาออกเป็น 1.เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในระบบทุนนิยม 2.การทำลายการต่อสู้ในสถานประกอบการคือการทำลายประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันและคือการส่งเสริมให้เผด็จการเข้มแข็งมากขึ้น 3.บทสรุปเส้นทางของการต่อสู้ต่อไป

1.เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในระบบทุนนิยม


มันถูกต้องว่าเราอยู่ในระบบทุนนิยม แต่มิใช่หมายความว่าเราจะได้อำนาจและต้องยอมจำนนกับการทำงานของทุนผ่านการเชื่อค่านิยมของมันแบบไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เมื่อร้อยกว่าปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่าถ้าจ้างคนผิวสีด้วยค่าจ้างเดียวกับคนผิวขาวแล้วระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ ร้อยปีที่แล้วคำว่า “ลาพักร้อน” ไม่อยู่ในพจนานุกรมของผู้ใช้แรงงาน การจ้างแรงงานเด็กเป็นเรื่องปกติสามัญ หรือการจ้างงานในสภาพที่ย่ำแย่ไม่มีความปลิดภัยก็ถูกเชื่อว่าทำได้ไม่มีใครถูกบังคับให้มาทำ ดังนั้นหากจะมาทำงานแล้วนิ้วขาด ถูกไฟไหม้ตายก็เป็นเรื่องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง แต่แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้หายไปตามกาลเวลา กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนอย่างมากซึ่งเคยได้รับการยอมรับในช่วงเวลาหนึ่งก็ถูกแทนที่ด้วยกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้นการผลิตสินค้าต่างๆในระบบทุนนิยมจึงไม่ใช่เรื่องเพียงแค่ผลิตของเพื่อขายเท่านั้นแต่มันเกี่ยวข้องกับการควบคุมและต่อสู้ของผู้คนด้วยเช่นกัน การพิจารณาเรื่องนี้จึงไม่สามารถใช้เพียงแค่หลักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคที่มองหน่วยการวิเคราะห์เป็นเพียงแค่ปัจเจกที่มีผลรวมของรสนิยมหากแต่ต้องอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองในการมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเช่นเดียวกัน
ในหนังสือ Grundrisse ของ คาร์ล มาร์กซ์ได้ระบุถึงการจงใจเข้าใจผิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่พยายามอธิบายว่า นายทุน(ที่เป็นคน-นิติบุคคล) ได้ซื้อ แรงงาน (ที่เป็นคน) ด้วยค่าจ้างพร้อมกำหนดช่ะวโมงการทำงานที่แน่นอน ด้วยมูลค่าที่เท่าเทียมกัน เช่นค่าจ้าง 300 บาท/วัน ก็คือค่าจ้างที่แรงงานยอมรับและนำ 300 บาทนี้ไปแลกกับความเหนื่อยล้าด้วยกำลังกาย-สมองที่พวกเขาได้ลงไปหนึ่งวัน แต่การสรุปเช่นนี้ก็เป็นเพียงการรวบรัดเพื่อให้หน่วยวิเคราะห์ของความขัดแย้งกลายเป็นเพียงแค่ปัจเจกชนเท่านั้น เพราะสิ่งที่นายทุนซื้อไม่ได้ซื้อแรงงาน (ในฐานะมนุษย์) แตเขาซื้อแรงงานในฐานะสินค้า (Labour Power) อันหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่เข้าไปในระบบจะมีมูลค่าทันที พวกเขาต้องมีความแข็งแรงทางกาย มีประสบการณ์ มีทักษะที่จะทำให้เกิดมูลค่าขึ้นมาในการผลิต ทุนซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ซื้อ “ผู้ใช้แรงงาน” ในระบบทุนนิยมได้วางเงื่อนไขให้ ราคาของ ผู้ใช้แรงงานในฐานะสินค้าน้อยกว่ามูลค่าสินค้าที่พวกเขาสร้างขึ้นเสมอ ส่วนต่างที่ว่านี้คือมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) หรือหากเทียบง่ายๆ คนงาน 10 คน ค่าจ้าง 300 สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนโลหะมูลค่า 1000 บาท ให้กลายเป็นเครื่องปรับอากาศราคา 10,000 บาท มูลค่าส่วนเกินนี้ก็คือ 6,000 บาท นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเรียกสิ่งนี้ว่า “กำไร” อย่างไรก็ตามกำไรส่วนมากถูกวนกลับมาที่ต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าส่วนเกินต่อไปดังสมการ

มูลค่าสินค้า (ราคาแอร์) = ทุนคงที่ (โรงงาน/เครื่องจักร/วัตถุดิบ)+ ทุนแปรผัน (ค่าจ้างคนงานทำแอร์ ยิ่งผลิตแอร์มากก็ต้องจ่ายค่าจ้างมาก)+ มูลค่าส่วนเกิน (กำไรของผู้ประกอบการ)

กำไรจะถูกส่งกลับไปที่ต้นทุนคงที่เป็นหลักเพื่อให้มีวัตถุดิบที่มากขึ้นโดยใช้ผู้ใช้แรงงานเท่าเดิมหรือเพิ่มในสัดส่วนที่น้อยกว่าเพื่อให้ได้มูลค่าส่วนเกินที่สูงขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เช่นนั้นค่าจ้างควรจะอยู่ที่เท่าไร ระบบทุนนิยมจะกำหนดให้ค่าจ้างซึ่งก็คือราคาของแรงงานในฐานะสินค้าต่ำที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะระบบจำต้องอาศัยคนงานในการทำงานไม่สามารถปล่อยให้อดตาย และเมื่อแรงงานมีอายุขัยแก่ ป่วย หมดสภาพการทำงานจากธรรมชาติของมนุษย์ได้ ค่าจ้างจึงถูกออกแบบให้ผู้ใช้แรงงานสามารถสร้างแรงงานรุ่นต่อไปได้ในอนาคตด้วยค่าจ้างที่ต่ำที่สุดเช่นเดียวกัน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการคำนวณออกมาเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น กระบวนการสร้างแรงงานนอกจากการได้เงินมาซื้อเนื้อหนังเลือดเนื้อของตัวเองกลับคืนมาผ่านค่าอาหาร ยา ที่อยู่อาศัยแล้ว พวกเขายังต้องการตัวตนทางสังคม และตัวตนทางสังคมนี้ก็กลายเป็นหนามยอกอกของระบบทุนนิยมมาตลอดมากกว่าร้อยปี มันไม่สามารถคำนวณได้ทางบัญชี แต่มันคือภาพสะท้อนของการต่อสู้ทางชนชั้นและประชาธิปไตย สะท้อนออกมาว่าสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการนั้นมีมากกว่าเนื้อหนังมังสาที่จะกลับไปรับใช้ทุนในวันรุ่งขึ้น พวกเขาต้องการชีวิต ความรัก การพักผ่อน ต้องการอาหารที่ดีขึ้น ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ต้องการเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น โดยสรุปพวกเขาต้องการเป็นมนุษย์มากขึ้น และเป็นแบบนี้ในทุกระบบการผลิตเพียงแค่ระบบทุนนิยมทำให้ความต้องการของพวกเขามากขึ้นสวนทางกับการพยายามขูดรีดผู้ใช้แรงงาน

หากถามว่าข้อเรียกร้องของพวกเขามากเกินไปหรือไม่ หากย้อนกลับไปดูในสมการมูลค่าแรงงานไม่อาจเกินมูลค่าสินค้าได้เลย คำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นไปเพื่อการเล่นกลทางบัญชีที่จะทำให้มูลค่าส่วนเกินขยายออกตลอดเวลาและทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากยอมรับสภาพค่าจ้างต่ำสุด เมื่อพิจารณาก็จะพบว่าจาก ปลายศตวรรษที่ 19 ในประเทศอุตสาหกรรมชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยที่ค่าจ้างของผู้คนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต และไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเท่านั้นแต่ในปัจจุบันที่ทั่วโลกใช้เทคโนโลยีการผลิตใกล้เคียงกัน ประเทศที่มีดัชนีของเสรีภาพและประชาธิปไตยสูงก็มีชั่วโมงการทำงานน้อยและได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นและเวลาทำงานที่น้อยลงจึงเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการมนุษย์ ตามข้อมูลชั่วโมงการทำงานต่อปีด้านล่าง

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Working_time#Gradual_decrease_in_working_hours
อ้างจาก: http://stats.oecd.org/Index.aspx?DatasetCode=ANHRS



2.การทำลายการต่อสู้ในสถานประกอบการในไทย
มนุษย์ใช้เวลาที่ลืมตาและปฏิสัมพันธ์กับคนส่วนใหญ่ในที่ทำงาน เป็นพื้นที่ที่พวกเขาใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์มากที่สุดแต่ในระบบทุนนิยมในไทยกลับทำให้พื้นที่ที่คนจะได้ปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ทำให้คนกลายเป็นสัตว์ เป็นสัตว์ที่ต้องทำตามคำสั่ง สัตว์ที่ไม่ตั้งคำถาม สัตว์ที่หัวหน้าคอยชี้นิ่ว และสัตว์ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ระบบทุนหวังในการโยนเศษเงินให้เราไปซื้อความเป็นมนุษย์กลับคืนในพื้นที่ขงสัตว์เช่นเตียงนอน อาหาร การเดินทาง ซึ่งเป็นพื้นที่อันปราศจากการปฏิสัมพันธ์ การรวมตัวผ่านสหภาพแรงงานจึงเป็นหนึ่งในกลไกในการทวงถามถึงมูลค่าส่วนเกินจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนคนให้กลายเป็นสัตว์ แม้การต่อสู้ในระบบทุนนิยมจะไม่สามารถเปลี่ยนให้เราเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเงื่อนไขประชาธิปไตยอื่นๆ หนังสือ Democracy and National Identity in Thailand (2003) โดย Michael Connors ได้ชี้ให้เห็นว่าการที่ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอด้านหนึ่งก็มาจากการพยายามพัฒนา กลไก อประชาธิปไตยในอัตลักษณ์ของสังคมไทยและหนึ่งในนั้นคือการเติบโตของลัทธิทุนนิยมที่ล้นเกินกว่าชาติตะวันตกใดๆเสียอีกเนื่องด้วยมันอยู่ในบริบทที่คนไร้อำนาจทางการเมือง เรื่องนี้จึงไม่แปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความหวังลมๆแล้งๆว่าตัวเองสามารถเกาะเกี่ยวกับระบบทุนนิยมเข้าไปได้ ถ้าขยันประหยัดอดออม เชื่อฟังและอยู่เป็น ซึ่งไม่เป็นจริงทั้งในทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองคนไทยมีชีวิตที่เปราะบางมากและไร้อำนาจการต่อรองส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์กรในการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในสถานประกอบการอย่างสหภาพแรงงาน ที่ถูกกีดขวางโดยรัฐ และมายาคติขิงคนไทยที่เชื่อถือศรัทธาในขั้นบันไดของระบบทุนนิยม

ที่มา: facebook.com/welfarestateisneeded
การระงับการผลิตที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการบริษัทมิตซูบิชิอิเล็คทริคเป็นภาพสะท้อนการพยายามทำลายสหภาพแรงงานอย่างเป็นระบบด้วยการพยายามทำให้ ลูกจ้างถอนตัวจากการต่อสู้ และรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้างซึ่งยื่นคำขาดว่าต้องยอมรับเงื่อนไขก่อนถึงจะเจรจาเรื่องโบนัสและอื่นๆ อันเป็นการพยายามลดทอนอำนาจของสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด คำถามคือการทำลายสหภาพแรงงานและการรวมตัวในรูปแบบต่างๆเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่ผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึง 3% สิ่งที่ตามมาคือสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานที่ตกต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ทำให้คุณภาพของแรงงานมากขึ้น มีชีวิตที่ดี เศรษฐกิจเติบโตและความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับสูง ผลประโยชน์ระยะยาวที่จะทำให้ชีวิตปลอดภัยทั้งการเกษียณอายุ การเลิกจ้าง การรักษาพยาบาล เมื่อเราไม่มีการต่อสู้รวมตัวเรียกร้องแสดงพลัง อาศัยแต่การ “อยู่เป็น”แบบปัจเจกชน สิ่งที่เราได้รับคือการแบกความเสี่ยงทั้งหมดด้วยตัวเอง และทำให้เราไม่รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศมากพอจนทำให้ ชนชั้นนำสามารถทำลายประชาธิปไตยได้บ่อยครั้งและทุกครั้งที่ทำรัฐประหารพวกเขาก็จะเพิ่มอำนาจของกลุ่มทุนเข้าไปมากขึ้นทุกครั้งไป

3.บทสรุปของการต่อสู้

เราทุกคนคือสมาชิกสหภาพมิตซูบิชิอิเล็คทริค แม้ว่าเราไม่ได้ผลประโยชน์จากข้อเรียกร้องของเขาโดยตรง และไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามข้อเสนอของนายจ้างโดยตรง แต่พวกเราเผชิญความเปราะบางเดียวกัน พนักงานส่วนมากรับค่าจ้างใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือประมาณ 8,000-10,000 บาท/เดือน เป็นตัวเลขที่น้อยมากพวกเขาถูกผลักให้ทำงานล่วงเวลาวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อที่จะได้รับค่าจ้างราว 17,000-20,000 บาท/เดือน สำหรับคนทำงานนับสิบปีตัวเลขเหล่านี้ยังน้อยไป แม้คิดรวมกับโบนัสต่อปีแล้วเท่ากับได้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 พันบาทเท่านั้นเอง หรือเทียบเท่ากับการมีเงินเดือน 22,000 บาทโดยต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง (เทียบเท่าคนรายได้16,000/เดือนสำหรับการทำ 8 ชม./วัน แม้ในรายรับที่รวมโบนัสและโอทีแล้ว!) ในประเทศที่เราถูกผลักให้ต้องซื้อทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย ต้องซื้อการศึกษาที่ดีเพื่อลูกไม่ต้องเป็นแบบเรา ซื้อการรักษาพยาบาลที่แพงมหาศาลเพื่อให้เราที่เจ็บป่วยจากการทำงานสามารถมีชีวิตไปรับใช้พวกนายทุนต่อไปได้ เก็บออมด้วยเศษเงินที่เหลือจากการซื้อสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ประชาชนในฐานะสิทธิเพื่อมีชีวิตยามแก่ชราไม่ให้ลำบากมากนัก ถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับการพยายามทำลายสหภาพแรงงานของฝ่ายนายจ้างก็คือการยอมรับจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของฝ่ายเผด็จการเพิ่มอำนาจทุนทำลายการมีส่วนร่วมและการต่อสู้ของประชาชน



เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเรียกร้องมากกว่า”ค่าจ้างกันตาย” กรณีศึกษาการต่อสู้ของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิอิเล็คทริค ธันวาคม 2560
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.