Posted: 24 Jan 2018 09:54 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

5 องค์กรสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network


24 ม.ค. 2561 จากกรณีเครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นกิจกรรมโดยตลอด และต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหานั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 ม.ค.61) และวานนี้ (23 ม.ค.61) 5 องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) รวมทั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network และยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับตัวแทนจากเครือข่ายฯ ทั้ง 8 คน โดยทันที

142 องค์กรประชาชน ร้องรัฐเคารพสิทธิกลุ่มเดินมิตรภาพ หยุดคุกคาม-แจ้งความ
ศาลปกครองยกเฉพาะคำร้องไต่สวนฉุกเฉิน ปม จนท.ปิดกั้น 'เดินมิตรภาพ'
ทหารแจ้งความ 8 แกนนำเดินมิตรภาพ อ้างฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
ตำรวจขวางกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ'

รายละเอียดแถลงการมีดังนี้ :

แถลงการณ์ ให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดิน wewalkมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network

ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561–17 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยก่อนเริ่มกิจกรรมการเดิน เครือข่ายเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อไม่ให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมได้มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนในนามPeople GO Network ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมที่มีการจำหน่วยเสื้อ และการให้ประชาชนเข้าชื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อน

อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้มีการทำหนังสือโต้แย้งหนังสือของตำรวจไปทุกฉบับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำตามสิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งยืนยันที่จะจัดกิจกรรมตามกำหนดการเดิมต่อไป โดยช่วงเช้าวันที่ 20 มกราคม 2561 เครือข่ายได้มารวมตัวกันที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ และมีตัวแทนเครือข่ายอ่านคำประกาศก่อนออกเดิน แต่เมื่อเดินถึงประตูทางออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลับมีตำรวจประมาณ 200 คน ตั้งสิ่งกีดขวางและยืนขวางประตูเป็นแนวยาวไว้ไม่ให้ขบวนเดินออกไปสู่ถนนพหนโยธินได้ ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีการเจรจา รวมทั้งพยายามเดินผ่านออกไปอยู่เป็นระยะ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้ขบวนของเครือข่ายฯ ออกสู่ถนนได้ แต่สุดท้ายก็มีตัวแทนเครือข่ายจำนวนหนึ่งสามารถหลบเจ้าหน้าที่ออกไปเดินได้ตามเจตนารมณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของการออกหมายเรียกตัวแทนเครือข่ายฯ 8 คน ประกอบด้วย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นายอนุสรณ์ อุณโณ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายสมชาย กระจ่างแสง นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา นางนุชนารถ แท่นทอง และนายอุบล อยู่หว้า ซึ่งมาจากเครือข่ายรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จากสถานีตำรวจภูธร คลองหลวงให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ในวันที่ 28 มกราคม 2561 นี้

แม้ขบวน wewalk มิตรภาพจะออกไปเดินตามเจตนารมณ์ได้ แต่ก็ถูกคุกคามทั้งทางตรงอยู่ตลอดการเดินทาง เช่น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่เข้าไปเรียกหาแกนนำตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง ตอนเช้ามีการตั้งด่านตรวจบัตรประชาชนผู้ร่วมเดินและตรวจค้นรถสวัสดิการ มีการนำตัวบุคคลที่อยู่ประจำรถ 4 คนไปควบคุมตัวไว้ที่ อบต. ลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการสอบปากคำทั้ง 4 คนโดยไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วม มีการให้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน และให้ชี้ตัวตัวแทนเครือข่าย 8 คน ที่ต่อมาถูกหมายเรียกดังที่กล่าวไปแล้ว และตลอดเส้นทางการเดินก็มีคนแปลกหน้าไม่บอกชื่อและที่มา ขับรถหลายคันติดตามขบวนเดินและมีการถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอขบวนเดินมิตรภาพอยู่ตลอด นอกจากนี้ ยังมีการกดดันวัดที่ขบวนเดินมิตรภาพจะเข้าไปพัก จนหลายวัดขอให้ขบวนเดินไม่เข้าไปพัก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความลำบากและเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2561 เครือข่ายฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งของศาลปกครองกลาง

องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความห่วงกังวลต่อการแทรกแซงการทำกิจกรรมของเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network และดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network เครือข่ายภาคประชาชนในนาม People Go ดังกล่าว และมีความเห็นว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และปิดกั้นการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน ดังนี้

1. การจัดกิจกรรมของเครือข่าย People GO Network Oเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ที่ได้รับถูกรับรองไว้ใน มาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)) การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของสาธารณะ การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และจากข้อเท็จจริง กิจกรรม We Walk…เดินมิตรภาพ ของเครือข่ายฯ People GOเป็นการเคลื่อนไหวโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง และยังมีความประสงค์จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่เครือข่ายฯ เดินทางผ่านและประชาชนในบริเวณอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายฯ ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ตีความว่า กิจกรรมนี้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศรับรองไว้

2. การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. โดย คสช.ได้ออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นไปตามอำเภอใจ ทำให้แทบทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ คสช. ต้องการกลายเป็นความผิด และเมื่อประชาชนถูกดำเนินคดี กระบวนการยุติธรรมกลับไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. ได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การใช้กฎหมายตามอำเภอใจในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะของประชาชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างแพร่หลาย

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที

1. เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มิใช่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน

2. ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คุ้มครอง อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัย ให้กับผู้ชุมนุมตลอดการจัดกิจกรรม ตามหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว

3. ให้ยุติการดำเนินคดีกับตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน People Go Network ทั้ง 8 คน โดยทันที

4. ให้ยุติการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนและเปิดให้มีพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)


แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
เรื่อง เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม


ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. 2561–17 ก.พ. 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การ เกษตรหลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยการเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น และแจ้งการชุมนุมเดินขบวนต่อ เจ้าพนักงาน ณ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ต่อมา วันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าตำรวจ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ได้ออกหมายเรียกตัวแทนเครือข่าย People Go Network จำนวน 8 คน ให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ภูธรคลองหลวง ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่3/2558 นั้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เห็นว่าการเดินมิตรภาพ มีเจตนารมณ์และเป้าหมาย เพื่อเผยแพร่ ร่วมกันสะท้อนปัญหา และทำความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง ถือเป็นการใช้เสรีภาพ ในการชุมนุมและเดินขบวนโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในที่สาธารณะ เพื่อแสดงการคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายการเกษตร และกฎหมายที่อาจขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อีกทั้งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมและเดินขบวนดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม และตรวจค้นยานพาหนะของผู้ชุมนุม จนไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเดินขบวนได้อย่างเต็มที่ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อาจขัดกับ มาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้ จึงอาจเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จึงขอเรียกร้อง ดังนี้


1.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน ทันที

2. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครอง ดูแล และอำนวยความสะดวกต่อผู้ชุมนุมและเดินขบวน ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด

3. ให้ศาลปกครองตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่สำคัญ ประการหนึ่งคือ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุลโดยอำนาจฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระเสมอ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

23 มกราคม 2561[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.