กระทรวงต่างประเทศผิดหวังต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ 'องค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์' ที่บอกว่าไทยยังไม่มีประชาธิปไตย ขาดการตรวจสอบอำนาจ กดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ละเว้นโทษกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
24 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ เผยแพร่เอกสารแสดงความผิดหวังต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 (World Report 2018) ขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch- HRW) จำนวน 15 ข้อ โดยระบุว่า รายงานได้กล่าวหาโดยเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน และเต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ปราศจากการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ความคืบหน้า พัฒนาการด้านบวก และความพยายามของรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีช่องทางหารืออย่างไม่เป็นทางการกับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง HRW ในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ
"เราจะไม่ยอมรับผู้ที่อ้างตัวว่าทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแต่มีวาระแอบแฝง การกระทำเช่นนั้นสมควรถูกประณาม" กระทรวงต่างประเทศ ระบุตอนท้ายของคำแถลง
บีบีซีไทยรายงานด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว HRW เปิดเผยรายงานประจำปี 2018 ความยาว 643 หน้า มีเนื้อหาทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศและดินแดน โดยประเทศไทย HRW ระบุว่า ยังไม่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงขาดกระบวนการตรวจสอบอำนาจซึ่งกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และละเว้นโทษกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า "เมื่อปี 2017 รัฐบาล คสช. ของไทยไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลายครั้งกับสหประชาชาติ และองค์กรอื่น ๆ ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ยุติการกดขี่เสรีภาพของพลเมืองและในทางการเมือง โดยยังคงสั่งจำคุกผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงละเว้นโทษให้กับการทรมานและการละเมิดอื่น ๆ"
(อ่านรายละเอียดของรายงานได้ที่ https://www.hrw.org/th/news/2018/01/23/314043)
ขณะที่ วันเดียวกัน (23 ม.ค.61) HRW เผยแพร่รายงานชื่อว่า “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า กล่าวถึงกรณีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน
[full-post]
แสดงความคิดเห็น