กกต. สมชัย ชี้ ปี 61 เลือกตั้งแน่ มั่นใจ สนช.ไม่มีเหตุให้คว่ำกฎหมายลูกเพื่อยื้อเลือกตั้ง ขณะที่ อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น คาดเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ค.-ก.ค.
1 ม.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2561 ว่า หากมีการปลดล็อกการเมืองในช่วงเดือนเมษายน สิ่งที่อัดอั้นมานาน ก็จะพรั่งพรูออกมาในช่วงนั้น ทุกพรรคจะใช้ความพยายามสร้างคะแนนนิยม สร้างความได้เปรียบให้ไปถึงการเลือกตั้งให้ได้ ดูจากปฎิกิริยาของพรรคการเมืองพร้อมทำงานหนัก ต่อสู้กับอุปสรรคเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่พร้อมจะระดมสรรพกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ จากที่ถูกกดดดันให้กลายเป็นพลัง ต้องจับตาดูว่าตั้งแต่เดือนเมษายนพรรคการเมืองจะใช้วิธีการอะไร ซึ่งพรรคใหญ่ก็คงจะไม่ยอมกัน ที่เป็นห่วงคือห่วงพรรคที่จะเกิดใหม่มากกว่า เพราะต้องสร้างการยอมรับ การสร้างความคุ้นเคย เพื่อจะให้มีกำลังเพียงพอไปแข่งขันในการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าไม่ง่าย แม้จะมีผู้สนับสนุนดีก็ตาม ต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนที่มีการมองกันว่า เดือนเมษายนจะมีการย้ายพรรคของ ส.ส. นั้น สมชัยกล่าวว่า ตนไม่มองเช่นนั้น เชื่อว่าคนที่จะย้ายพรรคจะตัดสินใจในช่วง 90 วันก่อนการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดไว้เป็นคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยตอนนั้นจะรู้ว่าใครได้เปรียบ เสียเปรียบ ใครจะได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นที่มีการโชว์ก่อนหน้านั้นวัดอะไรไม่ได้เลย
สมชัย ยังมองว่าเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง ตนยังมองไม่ออกว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดแน่ ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นมี 2 ปัจจัย คือ กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เมื่อใด คาดว่าเร็วสุด คือเดือนมีนาคม ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม แต่หากประกาศช้าสุดคือเดือนมิถุนายน ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน เป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาล แต่ปัญหาคือ หากกฎหมายลูกประกาศใช้เร็วพรรคการเมืองก็จะเตรียมตัวไม่ทัน และปัจจัย 2 คือ หากฎหมายลูกบังคับใช้แล้ว การที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไปขัดแจ้งกับคำสั่ง สคช.ที่ 53/2560 ที่กำหนดหลายเรื่องที่จะต้องทำให้เสร็จใน 180 วัน ซึ่งก็คือ 1 ตุลาคม ปัญหาคือถ้าเลือกตั้งมาเร็ว พรรคต้องมีการประชุมกัน และในท้ายคำสั่ง คสช.ได้มีการกำหนดว่า หากกฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าแนวการปฎิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ไปขัดหรือเป็นปัญหาอุปสรรค ก็ให้มีการหารือร่วมกันระหว่าง คสช. กรธ. กกต. และพรรคการเมือง เพื่อกำหนดไทม์ไลน์ที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้ง ฉะนั้นหากเลือกตั้งมาเร็ว ก็จะมีเสียงที่น่าจะมาจากพรรคเล็กว่าทำไม่ทัน ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่มีแนวโน้มเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รัฐบาลประกาศไว้
สมชัย ยังกล่าวถึง หน้าตาของการเลือกตั้ง ว่าถ้าหาก เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองแต่ละพรรคชูหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการหาเสียง แต่คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่หากมีคนกลุ่มหนึ่ง หรือพรรคการเมืองหนึ่งออกมาบอกว่าจะชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แล้วเกิดกระแสอีกพรรคชูไม่เอาคนนอกเป็นนายกฯ ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม
สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ นั้น สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในเดือนพ.ค. 2561 สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะหมดวาระครบทุกระดับทั่วประเทศ หากต้องจัดการเลือกตั้งใหม่พร้อมกันทั้งหมดอาจทำให้เกิดความยุ่งยาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เสนอว่า ควรเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับ กรุงเทพมหานคร ก่อน จากนั้นค่อยเลือกตั้ง เทศบาล ,องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ เมืองพัทยา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการ ส่วนจะเลือกตั้งเมื่อไหร่คงต้องรอให้ร่างกฎหมายดำเนินการแล้วเสร็จ รวมถึงต้องรอคำสั่งจาก คสช. ด้วย แต่หากมองตามโรคแมป การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะอยู่ช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม 2561
ต่อกรณีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นปราศจากข้อครหาว่าเป็นมือเป็นไม้ให้พรรคการเมืองนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า คงไม่ใช่เครื่องมือของการเมือง แต่เป็นธรรมดาของการเมืองที่ต้องมีพวก กลุ่มเดียวกันต้องเชียร์กัน อาจถูกมองว่าเป็นหัวคะแนนบ้างอะไรบ้าง เหล่านี้ถ้าทำในนามส่วนตัวก็สามารถทำได้ เพราะความเป็นพวกคงออกจากการเมืองไม่ได้ ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็คงไม่สามารถที่จะหาเสียงได้ต้องอาศัยคนรักใคร่ช่วยเชียร์ แต่อย่าใช้ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไปช่วยหาเสียงแบบนั้นทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ซึ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นท้องถิ่นต้องมีวิจารณญาณ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ที่มา : สำนักข่าวไทย
[full-post]
แสดงความคิดเห็น