Posted: 17 Jan 2018 08:30 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ให้เหล้าไม่มีทางเท่ากับแช่งได้เลย เพราะเหล้ามีความหมายมากกว่าน้ำเมาในวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยที่ผมนึกออกทันทีเหล้ามีความหมายอีกสามอย่าง
เหล้าถูกใช้เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผีมาแต่โบราณ ในวรรณคดีเรื่องขุนเจื๋อง ก่อนเลี้ยงเหล้ากัน เขาจะสาดเหล้าในจอกขึ้นไปบนฟ้าด้านหลัง เพื่อถวายให้แถนได้ดื่มก่อนเสมอ และในเมืองไทยสืบมาจนทุกวันนี้ เซ่นไหว้ผีเมื่อไรก็ต้องตั้งจอกเหล้าเรียงไว้ถวายพร้อมเครื่องเซ่นอย่างอื่นด้วย คนทรงเจ้าบางรายยังต้องเสพสุราจนออกอาการเมาก่อนให้เจ้าประทับทรง ซึ่งพอประทับทรงปั๊บก็หายเมาปุ๊บ หรือกลับกัน ก่อนประทับทรงไม่มีอาการเมาเลย พอประทับทรงแล้วก็เมาทันที
ไม่ใช่ผี, แถน, เจ้าชอบกินเหล้า แต่เหล้าเป็นตัวกลางในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งลี้ลับในหลายวัฒนธรรม น้ำเมาอะไรก็ไม่รู้ที่พวกอารยันเรียกว่า “โสม” คือเทพเจ้าองค์หนึ่งเลยทีเดียว จีนไหว้เจ้าก็มักถวายเหล้าเสมอ
เหล้าในที่นี้จึงมีความหมายมากกว่าน้ำเมาแน่
และคงด้วยเหตุดังนั้น เหล้าจึงถูกใช้ในหลายวัฒนธรรมเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับ การแสดงความยินดี รวมทั้งในวัฒนธรรมไทยด้วย อย่างน้อยในวรรณคดีเรื่องขุนเจื๋องเขาทำอย่างนั้น ไม่ว่าแขกจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จนถึงทุกวันนี้ ธรรมเนียมดื่มอวยพรของฝรั่งก็ยังใช้เหล้า (แม้อนุญาตให้เป็นน้ำเปล่าสำหรับคนที่ไม่กินเหล้าได้ เพราะสังคมฝรั่งปัจจุบันให้ความสำคัญแก่เสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่าธรรมเนียมประเพณี)
เวลาที่คนไทยให้เหล้าแก่ใครในเทศกาลเช่นปีใหม่หรือวันเกิด ผมแน่ใจว่าเขาไม่ตั้งใจจะแช่งผู้รับ แต่เขาตั้งใจจะสื่อความยินดี, สื่อการต้อนรับเข้าสู่กลุ่มหรือพวกเดียวกัน และอาจสื่อความเคารพนับถือด้วย เพราะในวัฒนธรรมไทยเราให้เหล้าแก่ผี-แถน-เจ้ามาก่อน
ยังมีอีกความหมายหนึ่งของเหล้า ซึ่งผมสงสัยว่าเป็นความหมายเฉพาะที่สังคมไทยสมัยใหม่ให้แก่มันโดยเฉพาะทีเดียว
ในช่วงที่สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ความทันสมัยในระยะแรก คนชั้นกลางซึ่งเริ่มขยายตัวขึ้นในเขตเมือง ต้องเผชิญกับความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบใหม่ที่ไม่เคยมีในสังคมเมืองของไทยมาก่อน นั่นคือความสัมพันธ์ของคนเสมอภาคกัน ในโรงเรียนที่รัฐหรือมิชชันนารีเปิดให้แก่เด็กไทย ลูกคุณหลวงต๊อกต๋อยหรือแม้แต่ลูกเจ๊กกับลูกเจ้าคุณเตะตูดกันได้ ยกเว้นเด็กที่เป็นเชื้อสายเจ้านายแล้ว เด็กทุกคนเสมอภาคกันหมด
แม้แต่ในระบบราชการซึ่งเน้นอภิสิทธิ์ของคนชั้นสูงอย่างมาก คนต่างสถานภาพทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง เมื่อเริ่มเข้ารับราชการ ก็มักมีสถานะทางราชการใกล้กัน ไม่พูดถึงบริษัทห้างร้าน (ฝรั่งหรือจีน) ซึ่งจ้างแรงงานที่มีการศึกษาไทยไว้ด้วยเหมือนกัน แม้ไม่มากนัก คนหนุ่มเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์เสมอภาคขึ้นนอกสถานที่ทำงานด้วย ดังจะเห็นได้จากนวนิยายรุ่นแรกๆ ที่พูดถึงกลุ่มเพื่อนชายต่างสถานภาพกันอยู่เสมอ
ความเสมอภาคเป็นสิ่งแปลกใหม่ในความสัมพันธ์ของ “ผู้ดี” เมืองกรุง แม้ว่าเป็นสิ่งปรกติธรรมดาในความสัมพันธ์ของชาวบ้าน ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท วงเหล้าของคนหนุ่มจึงช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าลูกคุณหลวงหรือลูกเจ้าคุณหรือลูกเจ๊ก ก้าวข้ามความต่างทางสถานภาพลงมาสู่ระนาบเดียวกันหมด ปลดปล่อยตัวเองจากมารยาทของช่วงชั้นที่ผูกตรึง “ผู้ดี” ไทยมาแต่โบราณ
ทุกคนในวงเหล้าบอกตัวเองและผู้อื่นได้ว่า หน้าข้าวหน้าเหล้า จะถืออะไรกันเล่า
วงเหล้าจึงเป็น “พิธีกรรม” ที่สร้างความสัมพันธ์เสมอภาคและใกล้ชิดกัน ภายใต้คำว่า “เพื่อน” ซึ่งได้ความหมายใหม่ในหมู่คนชั้นกลางไทยในช่วงนี้ อันเป็นความหมายที่ไม่มีในภาษาไทยมาก่อน (เพื่อนในภาษาไทยแต่เดิมหมายถึง companion ไม่ใช่ friend “เพื่อน” ในความหมายนี้เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน จึงมีการอภิปรายความสัมพันธ์อันใหม่นี้ในนามของคำว่า “มิตรภาพ” จำนวนมาก ทั้งในบทความ, นวนิยาย และโคลงกลอนในช่วงนี้ สืบมาจนเมื่อผมเข้าโรงเรียน) และถ้ามองจากแง่นี้ วงเหล้าจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับปัจเจกบุคคล
โอ้โห ใหม่เอี่ยมถอดด้ามเลยนะครับ แค่มีสำนึกว่าตัวเป็นปัจเจกบุคคล แค่นี้ก็ทั้งตื่นเต้น, หฤหรรษ์ต่อศักยภาพของตน, สลดใจต่อความโดดเดี่ยว และคงหวาดเสียวด้วย เพราะเป็นสำนึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นแก่บรรพบุรุษไทยคนไหนมาก่อน แล้วจะหา “พิธีกรรม” อะไรล่ะครับ ที่อาจสมานมนุษย์พันธุ์ใหม่ในสังคมไทยเหล่านี้ได้ดีไปกว่าวงเหล้า เมื่อวัฒนธรรมคนชั้นกลางระบาดออกไปในสังคมมากขึ้นเรื่อยมา เหล้าในความหมายนี้จึงถูกใช้กว้างขวางขึ้นตลอดมาด้วย
ทั้งหมดที่ผมพูดมาถึงตรงนี้ หาได้มีความปรารถนาแต่อย่างใดที่จะมาเล่นคำกับ สสส. เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเหล้าถูกคนไทยใช้ในหลายมิติมากกว่าการดื่มหัวราน้ำอย่างเดียว แต่โครงการรณรงค์ต่อต้านเหล้าของ สสส. มีอยู่เพียงมิติเดียว คืออย่าให้มันรั่วไหลเข้าปากใครแม้แต่หยดเดียว
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนไทยกินเหล้าด้วยเหตุอะไรอื่นที่ไม่ใช่เมาหัวราน้ำแยะมาก แต่เหตุเหล่านี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาในการรณรงค์งดเหล้าเด็ดขาดของ สสส. แต่อย่างไร รณรงค์อะไรก็ตามที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริง มันจะสำเร็จได้ละหรือ ถึงสำเร็จได้ด้วยอำนาจรัฐประหาร มันจะยั่งยืนละหรือ
พูดให้เข้าใจยากขึ้นหน่อยก็คือ การกินเหล้าไม่ใช่อาการทางกาย แต่มีความคิด, ความรู้ และความรู้สึกอยู่เบื้องหลังอีกมาก ผมขอเรียกว่าทัศนคติกินเหล้า ซึ่งเป็นเหตุให้กายกินเหล้า อีตรงทัศนคตินี่แหละครับ ที่ผมเห็นว่า การรณรงค์ของ สสส. ละทิ้งไปหมดเลย เหลือแต่การบังคับด้วยกฎหมาย, ภาษี และการสาปแช่ง
ครับ ไม่มีใครสาปแช่งคนไทยยิ่งไปกว่า สสส. หรอกครับ ขอให้มึงตายอย่างทรมานในซองบุหรี่ และขอให้มึงจนและป่วยจนไม่มีทางรักษาในโฆษณาต่อต้านเหล้า
แม้แต่เรื่องเมาแล้วขับก็เป็นเรื่องทัศนคติมากกว่าเหล้า คนที่ทำอย่างนั้นขาดสำนึกถึง “คนอื่น” ซึ่งเป็นเหตุให้เราทำร้ายกันถึงชีวิตหรือถึงพิการกันตลอดมา สำนึกถึงคนอื่นนั้นขาดหายไปในการศึกษาไทยนับตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นมาเลยนะครับ แม้แต่พระไทยก็ไม่ค่อยเทศน์เรื่องคนอื่น
คนอื่นที่ผมหมายถึงคือคนที่ไม่มีหน้าตา เราไม่รู้จักและไม่เกี่ยวข้องเชิงผลประโยชน์อะไรกับเราทั้งสิ้น เพียงแต่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเรา (ไม่ใช่ “ชาติ” เฉยๆ หรือ “ความเป็นไทย” หรือ “ความสามัคคี” นะครับ) ซึ่งทำให้เราต้องห่วงหาอาทรต่อสวัสดิภาพของเขา เช่นเดียวกับที่เขาต้องห่วงหาอาทรต่อสวัสดิภาพของเรา สำนึกอย่างนี้คือที่เรียกกันว่า “ภราดรภาพ” อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่ และอาจไม่จำเป็นแก่ชีวิตในหมู่บ้านซึ่งทุกคนเป็นญาติกันหรือเห็นหน้าค่าตากัน
สำนึกภราดรภาพนี่แหละครับที่ขาดหายไปในสังคมไทย ขาดหายไปในการศึกษา, ในสื่อ, ในการอบรมเลี้ยงดู, ในนโยบายของรัฐ, ในทุกอย่างที่สร้างบุคลิกภาพคนไทยขึ้นมา
ดังนั้น ตั้งด่านกันสักเท่าไร ก็หนีไม่พ้นเหยื่อของเมาแล้วขับไปได้หรอกครับ ผมไม่ได้หมายความว่าเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ไม่สำคัญ สำคัญอย่างยิ่งและขาดไม่ได้เลย แต่ไม่เพียงพอครับ ส่วนที่กล่อมเกลาทัศนคติให้มองเห็นคนอื่นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ แต่เป็นส่วนที่การรณรงค์ต่อต้านเหล้าของ สสส. ไม่เคยใส่ใจเลย
อันที่จริงตัวรถยนต์เองก็เป็นอาวุธฆ่าคนที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง ไม่ว่าคนขับจะเมาหรือไม่ คนไทยใช้อาวุธนี้ฆ่ากันเองไม่น้อยเหมือนกัน โดยไม่ได้เมาเลย แต่เราก็ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ต่อไป หากทว่าไม่ใช่เพียงแค่กฎจราจรเท่านั้นที่ช่วยให้ความปลอดภัย ที่สำคัญกว่าเพราะทำให้คนขับอยากเคารพกฎจราจรคือสำนึกถึงคนอื่นครับ
เช่นเดียวกับเรื่องวงเหล้าเป็น “พิธีกรรม” นะครับ สังคมไทยไม่ค่อยมีกิจกรรมที่เปิดให้ทำอะไรร่วมกัน มองไปรอบตัวสิครับ เราไม่มีห้องสมุดที่กระจายไปทั่วจนคนเข้าถึงได้ง่าย, โรงหนังเล็กๆ ที่ฉายหนังทางเลือก, เวทีแสดงที่ “นักแสดง” ทุกประเภทสามารถขึ้นไปได้ง่ายๆ เพราะมันอยู่นอกตลาด, สถานที่ร่วมกิจกรรมของชมรมคนที่สนใจร่วมกัน (เช่น “สวน” ของมูลนิธิไชยวนาของอาจารย์องุ่น มาลิก) ฯลฯ และเราไม่มีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้เราสามารถมี “เพื่อน” ได้นอกวงเหล้า
สสส. จำเป็นต้องสนใจมิติอันหลากหลายของเหล้าในวัฒนธรรมไทย เพื่อการรณรงค์ต่อต้านเหล้าทำได้ในหลายมิติมากกว่ากฎหมาย, ราคา และการสาปแช่ง หรือรณรงค์ทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องเดียวกับการต่อต้านยาเสพติดแหละครับ เน้นแต่ด้านป้อนตลาดของผู้ผลิต โดยให้ความใส่ใจแก่ด้านความต้องการของผู้เสพน้อยเกินไป แล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็เห็นอยู่
หลายคนพูดว่าการต่อต้านบุหรี่, เหล้า และยาเสพติด กลายเป็นการประกอบการทางเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มไปเสียแล้ว หากเป็นจริงตามนั้น ก็เข้าใจล่ะครับว่า เหตุใดจึงไม่สนใจต่อมิติด้านอื่นเลย
จะรณรงค์อย่างไรก็ตาม อย่าลืมด้วยว่าทางเลือกชีวิตที่เสรี เป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบันไปแล้ว ผู้คนจำนวนมากขึ้นยอมเสี่ยงเลือกทางชีวิตที่แตกต่าง การกินเหล้าก็เป็นทางเลือกชีวิตอย่างหนึ่ง รณรงค์ต่อต้านเหล้าอย่างไรจึงไม่ปิดทางเลือกชีวิตของผู้คน
เหล้ามีอันตรายต่อตนเอง, ครอบครัว, สังคม ฯลฯ ก็ต่อเมื่อกิน “ไม่เป็น” ไม่ใช่หรือ การสอนให้คนกินเหล้า “เป็น” จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าสอนให้ไม่กินเหล้าเลย ผมคิดมานานแล้วว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนควรถูกบังคับเรียนวิชาสุรา 101 ซึ่งนอกจากสอนให้กินเหล้า “เป็น” แล้ว ยังสอนให้รู้จักวิธีปฏิเสธอย่างที่คนอื่นไม่รู้สึกว่าตัวด้อยลงไปด้วย
เพราะคนกินเหล้า ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น เขาก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนกันกับนักรณรงค์ต่อต้านเหล้า ไม่ใช่สัตว์นรกอย่างภาพโฆษณาของ สสส. ชวนให้เข้าใจ
ที่มา: www.matichonweekly.com
ที่มา: www.matichonweekly.com
แสดงความคิดเห็น