Posted: 01 Jan 2018 09:37 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในท่ามกลางข่าวคราวการล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ผมได้รับของขวัญคริสต์มาสจากอาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอน เป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Future is History ของนักข่าวผู้โด่งดังคนหนึ่งคือ Masha Gessen เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในรัสเซีย ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน
คุณ Masha Gessen เกิดเป็นชาวรัสเซียและโตในรัสเซียก่อนจะอพยพมาโอนสัญชาติเป็นอเมริกันในภายหลัง เรื่องเล่าของเธอจึงเริ่มตั้งแต่ตอนปลายสมัยสหภาพโซเวียต การล่มสลายของโซเวียตหลังนโยบายเปเรสตรอยกา ยุคสมัยของเยลต์ซินมาจนถึงปูติน และการฟื้นตัวของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
อันที่จริงเรื่องทั้งหมดนี้ถูกเล่ากันแล้วเล่ากันอีกมาหลายครั้งหลายหนแล้ว โดยนักข่าวและนักวิชาการนานาชนิด แต่คุณเกสเซนไม่ได้เล่าเหมือนคนอื่น เพราะเธอเล่าจากชีวิตและมุมมองของชาวรัสเซียหลากหลายประเภท นับตั้งแต่ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต, ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเยลต์ซินและปูติน ลงมาถึงคนธรรมดาสามัญเช่นครูในโรงเรียนมัธยม, นักสังคมวิทยา, สาวสังคมเปิ๊ดสะก๊าด, ศิลปิน, นักปรัชญา, ครอบครัวของนักโทษผู้ถูกเนรเทศไปยัง “กูลัค”, เกย์, ไปจนถึงชาวนา ซึ่งต่างก็ได้มีชีวิตผ่านความผันผวนทางการเมืองและสังคมรัสเซียมาในระยะประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา
นี่คงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่าน และอ่านสนุกแบบวางไม่ลง เพราะเหมือนอ่านนวนิยายของตอลสตอยเรื่องสงครามและสันติภาพ คือเกณฑ์คนทั้งสังคมรัสเซียมาเข้าฉากเป็นตัวละครไปหมด ตั้งแต่พระเจ้าซาร์ลงมาถึงชาวนา ตัวผู้เขียนเองก็รู้และตั้งใจนำเสนอให้เหมือนนวนิยาย (แบบรัสเซีย)
เหตุดังนั้น ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จึงไม่ได้เกิดขึ้นหรือฟื้นตัวขึ้นในสังคมใด เพียงเพราะมีคนบ้าอำนาจคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ ด้วยกำลังทหารหรือกำลังความนิยมของประชาชน แต่มันมีเงื่อนไขปัจจัยอันสลับซับซ้อนในสังคม ที่ทำให้ผู้คนในสังคมนั้นเรียกหา หรือยอมรับ หรือสมยอมต่อระบอบเผด็จการ
ผมจึงอ่านหนังสือเล่มนี้โดยอดนึกถึงประเทศไทยไม่ได้ และผมขอนำเอาความนึกคิดนั้นมาคุยในที่นี้
ความประทับใจของผมประการแรกคือการตั้งคำถามของผู้เขียนในฐานะนักข่าว ดังที่กล่าวแล้วว่าคำถามนี้มีผู้ถามและตอบแล้วจำนวนมาก แต่ก็ถามและตอบในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตและความคิดของผู้คนท่ามกลางระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จโซเวียต และการฟื้นตัวของระบอบนั้น
ผมรู้สึกว่าการมองหามิติใหม่ของข่าวไม่ใช่สิ่งที่นักข่าวไทยถนัดจะทำนัก อย่างเก่งก็คือมีรายละเอียดของประเด็นข่าวมากขึ้น ไม่ใช่เปิดทางใหม่ไปสู่มิติของอุบัติการณ์ที่ไม่เคยถูกรายงานมาก่อน
ความพร่องของการทำข่าวเช่นนี้เกิดจากการสอนวิชาสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัย หรือเกิดจากเงื่อนไขการปฏิบัติงานในสำนักข่าวทั้งหลายของไทย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
การนำเสนอก็เหมือนกัน ตกมาถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่น่าจะมีรูปแบบตายตัวของการเสนอข่าวแล้ว ถ้าคิดว่าการนำเสนอข่าวเป็นศิลปะ ก็ไม่น่าจะมีสูตรตายตัวสำหรับการนำเสนออย่างมีศิลปะ นักข่าวไทยคิดถึงเรื่องนี้น้อยเกินไป เพราะอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน นอกจากความสนุกและความงดงามของภาษาแล้ว (ชนิดเจ้าของภาษาอังกฤษตัวจริงน่าจะริษยาการใช้ภาษาของเธอ) ข้อเสนอจากการวิเคราะห์ของคุณ Gessen ยังสร้างอารมณ์สะเทือนใจ อย่างเดียวกับที่ได้ฟังเพลงดีๆ, ดูภาพงามๆ หรืออ่านกวีนิพนธ์ชั้นเลิศ
ผมไม่คิดว่าศิลปะในการนำเสนอจะทำให้คุณค่าของข่าวลดลงตรงไหน
ผมคิดว่างานเขียนอย่างนี้ต้องเป็นหนังสือเท่านั้น (กระดาษหรือดิจิทัลก็ตาม) ไม่อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คได้ ทั้งนี้เพราะหนังสือเล่มเป็นสารด้วย ไม่ได้เป็นเพียงสื่ออย่างเดียว ทั้งเป็นสารที่ไม่อาจสื่อผ่านได้ด้วยโซเชียลมีเดีย
ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ยังมีพื้นที่สำหรับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกปัจจุบัน พื้นที่นั้นอาจแคบลง แต่มีอยู่แน่ ส่วนตั้งอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องคิด, ทดลอง, คลำหาให้เจอ และพัฒนามันขึ้นเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ขาดไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน (และอนาคต)
คุณ Masha Gessen เล่าถึงสังคมโซเวียตว่า ไม่ส่งเสริมหรือถึงกับห้ามปรามการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ วิชาสังคมวิทยานั้นห้ามเรียนอยู่นานเลยทีเดียวกว่าจะยอมให้กลับมาศึกษาวิจัยกันได้ เศรษฐศาสตร์ก็เรียนไม่ได้ เพราะล้วนเป็นเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมทั้งสิ้น จิตวิทยาโซเวียตตั้งอยู่บนหลักการที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ว่า ความรู้สึกนึกคิดจิตใจย่อมเป็นผลจากเงื่อนไขทางวัตถุเท่านั้น คุณ Gessen สรุปไว้อย่างน่าตกใจว่า ด้วยเหตุดังนั้น โซเวียตจึงเป็นสังคมที่ไม่รู้จักตัวเอง และต้องรับชะตากรรมของสังคมที่ไม่รู้จักตนเองทั้งหลาย คือไม่สามารถนิยามปัญหาของตนเอง และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่อาจตอบปัญหาของตนเองได้
ผมก็ออกจะตกใจเหมือนกันเมื่ออ่านถึงตรงนี้ แม้ว่าเราไม่ได้กีดกันหวงห้ามการศึกษาสังคมศาสตร์เหมือนโซเวียต แต่รัฐไม่ค่อยส่งเสริมเพราะไม่เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมศาสตร์ ซ้ำยังหวงห้ามบางเรื่องในสังคมศาสตร์ไว้ให้อยู่พ้นไปจากการไต่สวนสืบค้นทางวิชาการ ยกเว้นแต่ทำตามแนวที่นักปราชญ์ของรัฐได้วางแนวทางไว้ให้แล้วเท่านั้น
สังคมไทยเองก็เป็นสังคมที่ไม่รู้จักตนเองสักเท่าไรเหมือนกัน เช่นไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อันได้แก่สามัญชนคนธรรมดา ไม่รู้สถานะของตนเองในบริบทของโลกปัจจุบัน ทั้งในทางการเมือง, วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ, ไม่รู้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นหลากหลายด้านกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ เราจึงนิยามปัญหาของตนเองไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงตอบปัญหาของตนเองไม่ได้ไปด้วย เราถนัดแต่เอาตัวให้รอดจากความลำบากยุ่งยากเฉพาะเรื่อง แต่ไม่เคยปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว
อีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมย้อนคิดถึงเมืองไทยคือเรื่องเผด็จการเบ็ดเสร็จ
รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารที่น่ากลัวแก่ผมมากกว่ารัฐประหารทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน (และคนอายุขนาดผมก็ได้ผ่านมาหลายครั้งแล้ว) เพราะเป็นรัฐประหารที่มีประชาชนสนับสนุนอย่างจริงใจมากกว่ารัฐประหารที่ผ่านมาทุกครั้ง
ความข้อนี้ผมเคยประเมินผิดเมื่อตอนเกิดการยึดอำนาจใหม่ๆ เพราะผมไปเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส.เป็นเพียงเกมแย่งอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ คนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เพียงแต่เคลื่อนไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตน (เช่นเป็นดาราควรเป่านกหวีดไว้ก่อน อย่างน้อยถึงไม่เพิ่มงานจ้าง ก็ไม่ลดงานจ้างที่จะมีข้างหน้า) จนถึงปัจจุบัน แม้ยอมรับว่าการประเมินเช่นนี้ไม่ถูก แต่ก็ไม่ผิดทั้งหมด
กล่าวคือความเป็นเกมการเมืองก็ยังมีส่วนสำคัญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ที่สำคัญกว่าก็คือผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกองทัพให้ยึดอำนาจ มีความเชื่ออย่างจริงใจว่า ประชาธิปไตยนำความเสียหายมาสู่บ้านเมือง หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ถึงเวลาที่ไทยจะใช้ประโยชน์จากระบอบปกครองประชาธิปไตยได้
ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเชื่ออย่างจริงใจว่าต้องปฏิรูปก่อนที่จะเปิดให้ประชาธิปไตยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายของการปฏิรูปก็เพื่อรักษาส่วนดีๆ ของระบอบปกครองแบบไทยเอาไว้ พร้อมกันไปนั้น ก็สร้างประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์ให้แก่วงการการเมืองไทย
ประชาชนผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมองเห็นประโยชน์ส่วนตนในการเข้าร่วม แต่ก็มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงใจไปด้วย (ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ในทุกสังคมกระมัง)
และนี่คือที่มาของพลังประชาชนที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร ซึ่งมีจำนวนสูงมากกว่าการรัฐประหารเพื่อแย่งอำนาจทางการเมืองกันอย่างที่ผ่านมาในประเทศไทย
การรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์เปลี่ยนประเทศไทยไปมากก็จริง เมื่อสฤษดิ์ยึดอำนาจ สฤษดิ์ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากอยู่เหมือนกัน แต่สนับสนุนโดยขาดโปรแกรมทางการเมือง เพียงแต่เบื่อหน่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งครองอำนาจสืบเนื่องมา 10 ปีแล้วเป็นหลัก คสช.ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก (ถึงครึ่งหรือไม่ก็ตาม) โดยมีโปรแกรมทางการเมือง หากจะพูดเสียใหม่ก็ได้ว่า คสช.และแรงสนับสนุนคสช.มี “อุดมการณ์”
คุณ Masha Gessen อ้าง Hannah Arendt ว่า ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จครองอำนาจอยู่ได้ด้วยปัจจัยสองอย่าง หนึ่งคืออุดมการณ์ และสองคือความสะพรึงกลัว ทั้งสองอย่างนี้ เชื่อมโยงและสนับสนุนกันและกัน
คสช.เป็นคณะรัฐประหารเดียวที่พอมีพลังทั้งสองอย่างนี้จะใช้ แม้เป็นพลังขาดๆ เกินๆ ก็ตาม
นับตั้งแต่วันแรก คสช.ไม่ได้อ้างเหตุการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องยึดอำนาจ แต่มีเหตุในเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้ หลายคนบอกว่าตรงกับ “วาระ” ของพวกเป่านกหวีด ซึ่งก็จริง แต่นั่นคือพลังทางอุดมการณ์ อันจะมีได้ก็ต่อเมื่อต้องมีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มก้อนมาแต่แรกแล้ว
และเช่นเดียวกับอุดมการณ์ คสช.ใช้ความสะพรึงกลัวมาแต่วันแรก นอกจากเชิญหรือจับตัวแกนนำ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไปกักขังไว้แต่วันแรกๆ แล้ว ยังมีการระดมรายชื่อของคนที่ คสช.เห็นเป็นศัตรูไปรายงานตัว รวมทั้งไล่ล่าและสร้างความผิดทางอาญาให้แก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม
ความสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการไม่ได้อยู่ที่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกดขี่ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม แต่อยู่ที่การรับรองสนับสนุนมาตรการดังกล่าวจากประชาชนเป็นกลุ่มก้อน จนกระทั่งการกระทำซึ่งเห็นชัดเจนว่าผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย จนถึงปัจจุบันผ่านไป 3 ปีแล้ว คณะรัฐประหารซึ่งฉีกกฎหมายทิ้ง ยังสามารถเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายได้เต็มปากเต็มคำ และที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะผู้สนับสนุน คสช.ก็ยังมีเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ใหญ่พอสมควรอยู่นั่นเอง
ผมทราบดีว่า คสช.ยังห่างไกลจากการสถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ อุดมการณ์ที่ Hannah Arendt พูดถึงไม่ใช่เพียงค่านิยม 12 ประการที่บังคับให้เด็กนักเรียนท่องจำ แต่มันต้องซึมเข้าไปเป็น “แว่น” สำหรับการมองโลกและชีวิตของพลเมือง หมายความว่าเข้ามาอธิบายโลกทั้งใบจากแนวทางของอุดมการณ์ได้ และกลายเป็นแนวทางเดียวที่เป็นไปได้ด้วย
คุณ Gessen เล่าไว้ว่า ลูกสาวคนโตของสตาลิน ซึ่งไปโรงเรียน “ผู้ดี” แห่งหนึ่งในมอสโกด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่ง นอกจากเป็นคนที่แต่งตัวได้เชยแหลกที่สุดในโรงเรียนแล้ว เธอยังสั่งให้คนขับรถจอดส่งเธอสักครึ่งกิโลก่อนถึงประตูโรงเรียนด้วย เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นได้เห็นอภิสิทธิ์ในอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ การใช้ชีวิตเรียบง่าย และไม่ต่างจากสามัญชนทั่วไปคืออุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ดี มันซึมเข้าไปในใจของเด็กหญิงเล็กๆ ที่เป็นลูกผู้นำสูงสุดด้วย เช่นเดียวกับหมู่บ้าน “ผู้ดี” คอมมิวนิสต์ มักมีกำแพงล้อมถึง 7 ชั้น และกุญแจล็อคประตูกำแพงอีก 7 ดอก ไม่ใช่กลัวคนทำร้ายนะครับ แต่เพื่อปกป้องมโนธรรมสำนึกของคอมมิวนิสต์ใหญ่ให้พ้นจากการมองเห็นของสามัญชนข้างนอก
พลังของอุดมการณ์ที่จะเป็นปัจจัยของเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ มันต้องระดับนี้ครับ จะพังลงง่ายๆ ด้วยนาฬิกาและแหวนเพชร, ไมค์ทองคำ, เงินทอนสวนมหาราช 9 พระองค์ ฯลฯ ไม่ได้ ก็ความไม่โกงเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ คสช.ไม่ใช่หรือ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์หรือด้านความสะพรึงกลัว รัฐประหารไทยไม่ถึงขนาดที่จะสถาปนาระบอบเผด็จการ (ทุกชนิด) ขึ้นอย่างยั่งยืนในเมืองไทยได้แน่
แม้กระนั้น ผมก็ยังเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง เพราะมีฐานความชอบธรรมกว้างและลึกกว่าการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา
เราคงผ่าน คสช.ไปไม่ได้ยากนัก แต่จะผ่านฐานความชอบธรรมของเผด็จการซึ่งถูกทำให้แข็งแกร่งมากขึ้นในสังคมไทยไปได้อย่างไร
ที่มา: https://www.matichon.co.th/news/786135[right-side]
แสดงความคิดเห็น