ชี้ตัวเลขภาคการลงทุนอาจไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ หากเลื่อนการเลือกตั้ง-สืบทอดอำนาจของ คสช จากสัญญาณการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ คาดจะเห็นความชัดเจนหลัง เม.ย.นี้
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (กลาง) ที่มาแฟ้มภาพเพจ banrasdr photo
2 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 ที่ผ่านมา ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้เคยประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมืองจะสามารถแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อนุสรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) และมีการสืบทอดอำนาจของ คสช จากสัญญาณการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน
อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นขาดความน่าเชื่อถือ อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ได้ อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน คสช ให้สืบทอดอำนาจ และ ฝ่ายยึดถือหลักการประชาธิปไตย หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชาวบ้าน และ ภาคการลงทุนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง หากย้อนกลับไปศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทยเมื่อ 26-27 ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร รสช 23 ก.พ. พ.ศ. 2534 ตามด้วยเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นไทยก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมีรัฐบาลมากถึง 6 รัฐบาล คณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 ชุด
ตารางการเปลี่ยนแปลงของคณะรัฐมนตรีไทย (พ.ศ. 2535 – 2550)
ที่มา: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี/อนุสรณ์ ธรรมใจและคณะ “วงจรสถิติ ในรอบ 15 ปีกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย” สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2550
อนุสรณ์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาสี่ปีกว่าๆ ก่อนวิกฤติปี 2540 อายุเฉลี่ยรัฐบาลไม่ถึงหนึ่งปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 นอกเหนือจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง การไม่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน การก่อหนี้ต่างประเทศและการลงทุนเกินตัว รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความอ่อนแอและไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสมเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ซ้ำเติมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น แต่วิกฤตินี้ก็ได้ทำให้เกิดโอกาสและแรงกดดันให้การปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่และนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
อนุสรณ์ กล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการจัดการเลือกตั้งว่า หากประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลา จัดการเลือกตั้ง หากมีขึ้นในช่วงปลายปี อย่างน่าเชื่อถือ โปร่งใสและเป็นธรรม ทศวรรษข้างหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย และจะวางรากฐานสำคัญในการที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป หากไทยประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การจัดการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ มีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะปี พ.ศ. 2561 เท่านั้น ปัญหาอาจยืดเยื้อออกไปเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางและระยะยาวขึ้นอยู่กับว่า สังคมไทยจะร่วมหาทางออกปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ตารางตัวเลขเศรษฐกิจโลก การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2561 และตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557-2560
ตารางตัวเลขเศรษฐกิจ การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2561 และตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557-2560
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต/สศช/อนุสรณ์ ธรรมใจ Forecast
[right-side]
แสดงความคิดเห็น