TAYOOeBooks

ทฤษฎีอำนาจ
ผู้แต่ง : สมเกียรติ วันทะนะ


คุณพูดคุยเรื่อง “อำนาจ” (power) แล้วคุณเข้าใจเรื่อง “อำนาจ” จริงๆ มั้ย?

คุณอยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศหรือองค์กร แล้วคุณเข้าใจความหมายต่อ “อำนาจ” จริงๆ มั้ย?

คุณบอกว่าคุณเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง คุณไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะทำอะไรได้ คุณไม่มี “อำนาจ” จริงๆหรือ?

รองศาสตราจารย์สมเกียรติ วันทะนะ ที่คร่ำหวอดกับการสอนด้านรัฐศาสตร์มายาวนาน ได้พยายามที่จะทำให้ท่านๆ ได้เข้าใจ “อำนาจ” ในหลากมิติและอย่างง่ายๆ ในแบบที่รัฐศาสตร์พยายามให้ความหมาย การสร้างความหมายใหม่ ความหมายเพิ่มเติม ที่มีอยู่ตลอดมา

อีบุ๊ค “ทฤษฎีอำนาจ” นี้ เริ่มด้วยประเด็นที่มุ่งหาความกระจ่างต่อปัญหาเรื่อง “อำนาจ” โดยอ้างถ้อยความของเบอร์ทรันด์ รัสเซล ที่กล่าวไว้ว่า “แนวคิดหลักในวิชาสังคมศาสตร์คืออำนาจ ในความหมายเดียวกับแนวคิดหลักในวิชาฟิสิกส์คือพลังงาน”

ดังนั้น อำนาจ จึงเป็นองค์ประกอบหรือสิ่งที่แทรกไปในทุกเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิดของมนุษย์

อำนาจ โดยตัวของมันเองมีความกำกวม แต่ท่านอาจมีความชัดเจนขึ้น เมื่อท่านได้ทำความเข้าใจต่อคำ 4 คำ ได้แก่ power, control, influence and domination

การมีวิธีการพิจารณาอำนาจ 5 วิธี ได้แก่ อำนาจทางกายภาพกับอำนาจทางสังคม, อำนาจเอื้อกับอำนาจเหนือ, อำนาจที่ไม่ทัดเทียมกันกับอำนาจที่สมดุล, อำนาจในฐานะที่เป็นโครงสร้างกับอำนาจในฐานะตัวกระทำ และอำนาจที่แสดงออกจริงกับอำนาจในแง่ศักยภาพ วิธีการแต่ละอันจะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างระบบและสภาพทางการเมืองที่หลากหลายในสังคมโลก รวมทั้งยึดตรึงมนุษย์ให้อยู่ภายใต้โซ่ตรวนของมันอย่างไม่อาจต้องรู้สึกดิ้นรนหนี

บทต่อมา ผู้แต่งนำเราไปรู้จัก “สี่โฉมหน้าของอำนาจ” หรือตามแนวคิดของ 4 กลุ่มที่ค่อยๆ พัฒนา ถกเถียง เพื่อให้ความเข้าใจต่อเรื่อง “อำนาจ” มีความรัดกุมชัดเจนและครอบคลุมมิติต่างๆ มากขึ้น ได้แก่

โฉมหน้าที่หนึ่งของอำนาจ ของ โรเบอร์ต ดาห์ล ที่เริ่มในปี 1957 (รัฐศาสตร์ก็เพิ่งพัฒนาเป็นศาสตร์อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง)

โฉมหน้าที่สองของอำนาจ ของ บาครัช และ บารัชต์ ในปี 1962 ที่อำนาจมันมากกว่าเรื่องการตัดสินใจ แต่มันรวมถึงการควบคุมการจัดระเบียบวาระทางการเมือง เช่น การปกป้องไม่ให้ใครใช้เวทีสาธารณะเปิดประเด็นที่เป็นอันตรายต่อสถาบันทางการเมือง

โฉมหน้าที่สามของอำนาจ ของ สตีเฟน ลูคซ์ ในปี 1974 ซึ่งจะทำอย่างไรที่การกระทำให้ผู้อื่นคล้อยตามตนได้โดยโดยควบคุมความคิดและความต้องการ ทั้งการใช้กำลัง (force) การบังคับ (co-ercion) การบงการ (manipulation) อีกมากมาย ทั้งที่สังเกตได้และแอบแฝง

โฉมหน้าที่สี่ของอำนาจ ของ มิเชล ฟูโก้ ทศวรรษ 1970 ที่เป็นอำนาจในการสร้างวินัย (disciplinary power) โดยที่บุคคลนั้นๆ ไม่รู้สึกตัวว่าถูกบังคับ และสถาปัตยกรรมในการควบคุมผู้ฝ่าฝืนอำนาจ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาบัย คุก โรงพยาบาลบ้า การกำกับพื้นที่ (space) และความเคลื่อนไหว (movement) ทั้งของความคิดและร่างกายของคุณจนคุณคาดคิดไม่ถึง

นี้คือ อีบุ๊ค “ทฤษฎีอำนาจ” ที่อยากให้ทุกท่านได้อ่าน ว่า อำนาจ ดูเหมือนอยู่ในกำมือของท่าน แต่ทำไมท่านจึงดูไม่มีอำนาจ?

แนะนำโดย ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

#อำนาจ #สังคมศาสตร์ #รัฐศาสตร์ #รัฐศาสตร์เบื้องต้น#ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์ #โรเบอร์ตดาห์ล #มิเชลฟูโก้#สร้างวินัย #กำกับพื้นที่ #กำกับความเคลื่อนไหว #สมเกียรติวันทะนะ #ธำรงศักดิ์เพชรเลิศอนันต์ #ตายูอีบุ๊คส#TAYOOeBooks

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.