Posted: 22 Jan 2018 04:46 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลปกครองมีคำสั่งยกเฉพาะในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ปม จนท.ปิดกั้น 'เดินมิตรภาพ' เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งต่อไป


22 ม.ค. 2561 จากกรณี วันนี้ เครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' และทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อฟ้องทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน ให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ภายหลังพยายามปิดกั้นกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอด 2 วันที่ผ่าน ตั้งแต่วันที่ 20-22 ม.ค.61 นั้น



ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกเฉพาะในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยระบุเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม ในส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งต่อไป

อัมรินทร์ สายจันทร์ หนึ่งในทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า คำร้องอื่นนอกเหนือจากคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วนนั้น ดำเนินไปตามปกติ โดยหลังจากนี้ศาลจะต้องพิจารณาตรวจรับคำฟ้องว่าเข้าเงื่อนไขที่ศาลจะรับไว้หรือไม่ โดยศาลระบุเพียงแค่ว่าจะพิจารณาโดยเร็ว ทำให้ไม่มีกรอบเวลาตายตัวที่จะทราบผล จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทราบผลคำสั่งเมื่อไหร่

ถาม-ตอบ สั้นๆ ทำความเข้าใจ 'เดินมิตรภาพ' คือใคร ทำไมต้องเดิน?
ตำรวจขวางกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ'
องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม 'We Walk…เดินมิตรภาพ'
'เดินมิตรภาพ' วันที่ 2 'ตำรวจ-ทหาร' บุกค้นเช้ามืด คุมตัวสอบสวน

อัมรินทร์ กล่าวด้วยว่าวันนี้เจ้าหน้าที่ยังตามไปกดดันกลุ่มดังกล่าวอยู่ เจ้าหน้าที่ก็มากดดันไม่ให้ทำกิจกรรมอยู่ที่ปั๊ม รวมทั้งที่พักซึ่งเป็นวัดตามทางเดินที่เคยกำหนดไว้ว่าจะใช้เป็นสถานที่พักนั้นก็ไม่สามารถไปได้ เพราะตัววัดโดนกดดัน

อัมรินทร์ กล่าวว่านอกจากฟ้องศาลปกครองแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะฟ้ององค์กรอื่น ขณะนี้ยังรอดูว่าฝ่ายความมั่นคงมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ชุมนุมแล้วหรือไม่ เพราะยังไม่มีรายละเอียดหรือหมายอะไรออกมาเพิ่มเติม ส่วนคดีปกครองนั้นก็ต้องรอฟังศาลว่าจะเรียกไต่สวนเมื่อไหร่

รายละเอียดคำฟ้องฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ไว้ดังนี้ :

ฟ้องสตช. พร้อมจนท.ที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการใช้สิทธิในการชุมนุม
ในส่วนการฟ้อง ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุม รวม 4 ราย ได้เป็นตัวแทนฟ้องทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ของเครือข่าย People Go ซึ่งได้ทำการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายแล้ว

ผู้ฟ้องระบุถึงการที่ผู้จัดกิจกรรมได้มีการแจ้งการชุมนุมในกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมที่สภ.คลองหลวง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ปิดกั้นและดำเนินการอื่นใดอันมีลักษณะขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลที่เดือดร้อนและเสียหาย อันเนื่องจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง

คำบรรยายฟ้องระบุถึงรูปแบบ เป้าหมาย และระยะเวลาของการจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ”และบรรยายถึงลำดับการส่งเอกสารแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหนังสือตอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งส่วนหนึ่งระบุว่าระหว่างการจัดกิจกรรมในวันที่ 19 ม.ค.61 ผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์จำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายในทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยที่หนังสือดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความเห็นของผู้ถูกฟ้อง และไม่ใช่คำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด

ทั้งผู้จัดกิจกรรมยังได้ทำหนังสือชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาทางสังคมระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ และเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 133 (3) เรื่องการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร


ลำดับเหตุการณ์การปิดกั้น-ขัดขวางของเจ้าหน้าที่

คำฟ้องได้บรรยายลำดับเหตุการณ์ในกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.61 เป็นต้นมา ตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ได้ยืนเรียงแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นการกีดขวางทางเข้าออกของสถานศึกษาทำให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถเดินทางเข้าออกมหาวิทยาลัยได้ แม้ทางผู้จัดการชุมนุมจะยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าเรื่องการแจ้งการชุมนุมถูกต้องกฎหมายแล้วก็ตาม

แม้ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ทำกิจกรรมได้เดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านประตูทางออกด้านอื่นซึ่งไม่ใช่ประตูที่ผู้ถูกฟ้องปิดกั้น และได้เริ่มเดินเท้าไปตามถนนพหลโยธิน โดยระหว่างทางได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารติดตามถ่ายภาพและรายงานผู้บังคับบัญชาตลอดระยะเวลา ขณะที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงกั้นรั้วเหล็กไม่ให้ผู้ใดเดินทางเข้าออก จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.30 น.

วันที่ 21 ม.ค.61 ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ระหว่างที่ผู้ทำกิจกรรมกำลังพักผ่อนในบริเวณวัดลาดทราย มีบุคคลไม่ทราบชื่อและหน่วยงานที่สังกัด เข้ามาบริเวณที่พัก ตะโกนถามหาหัวหน้ากลุ่ม โดยระบุว่าอยากคุยด้วย จนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 100–200 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย เข้ามาที่บริเวณวัด

ต่อมา ยังมีการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บริเวณปากทางเข้าวัด และเรียกรถทุกคันเพื่อขอตรวจและถ่ายรูปสำเนาทะเบียนรถ บัตรประชาชน ตลอดจนซักถามประวัติทุกคน จนกระทั่งรถมีการกักรถสวัสดิการใช้ขนสัมภาระที่จำเป็น และน้ำสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมซึ่งเดิน โดยมีผู้โดยสาร 4 คน ซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีที่ 3 อยู่ในรถด้วย ก่อนจะถูกสั่งให้ขับไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลลำไทร โดยมีพลตำรวจตรีสมหมาย ประสิทธิ์ เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการตรวจค้นรถ โดยไม่มีการแสดงหมายจับหรือหมายค้น

ภายหลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้งสี่คน มาสอบปากคำเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในรถและการจัดงาน “We walk…เดินมิตรภาพ” โดยปฏิเสธไม่ให้ทนายเข้าร่วมกระบวนการ และอ้างว่าเป็นการสอบปากคำเบื้องต้นยังไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ด้านหน้าอบต.ลำไทร มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 นาย ตรึงกำลังอยู่ ก่อนจะมีการปล่อยตัวทั้งหมดจากการความควบคุมเวลาประมาณ 10.30 น.


การปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุม เป็นการละเมิดทางปกครอง

ทั้งหมด ทำให้ผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว ทำให้ต้องใช้วิธีสลับการเดินเท้าครั้งละ 4 คน เพื่อหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดผู้ถูกฟ้องปฏิบัติการสกัดกั้นการชุมนุม ติดตามขบวนเดิน โดยรถตำรวจอย่างน้อย 5 คัน สลับกันขับประกบและถ่ายรูป ตลอดระยะเวลาการเดิน นอกจากนี้ ตามปั๊มน้ำมันสองข้างทางถนนพหลโยธินก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วน ยังได้ติดต่อไปยังจุดแวะพัก ซึ่งผู้ฟ้องคดีวางแผนจะพักแรมในคืน ระบุกับทางวัดว่าไม่ควรให้เข้าพักอาศัย โดยอ้างว่าเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ทำให้ทางวัดถึง 3 วัด ไม่อนุญาตให้ทางเครือข่าย People GO เข้าพักอาศัยตามที่เคยอนุญาตไว้แล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมเดือดร้อนในการหาที่พักอาศัยและอาจไม่สามารถดำเนินการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่

คำฟ้องคดีระบุว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อันมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางปกครอง ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 4 และเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าพนักงานอื่นในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเป็นละเมิดทางปกครองต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ


การอ้างคำสั่ง 3/58 เป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระของเสรีภาพการชุมนุม
คำฟ้องคดียังระบุว่าในส่วนการอ้างว่ากิจกรรมการชุมนุมสาธารณะตามที่แจ้ง มีลักษณะเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58 เป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการดำเนินการใดของ คสช. ได้ อันเป็นการตีความบังคับใช้กฎหมายขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 44

คำฟ้องได้สรุปถึงความสำคัญของการใช้เสรีภาพการชุมนุม ในฐานะเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย ตามนัยที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยรับรองไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555


ดังนั้น การแสดงออกเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของรัฐบาลและ คสช. นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้

ผู้ฟ้องคดียังได้เรียกค่าเสียหายจากการไม่สามารถใช้เสรีภาพตามมาตรา 6 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ด้วย

ร้องขอให้ศาลสั่งให้ สตช.ยุติการปิดกั้น และรับรองเสรีภาพการชุมนุม

ในส่วนคำขอท้ายฟ้อง และในคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน คือให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในระหว่างการเดินเท้าตามแผนกิจกรรมเดินมิตรภาพ และให้รับรองเสรีภาพการชุมนุม รวมถึงอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม

ในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ได้ระบุว่าหากไม่ได้รับการพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน ย่อมทำให้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถบรรลุได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างชัดเจน และทำให้การละเมิดเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐดำรงอยู่ ผู้ฟ้องจึงมีความประสงค์ขอให้ศาลปกครองได้ดำเนินการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นการเร่งด่วน
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.