ประธานาธิบดีอิหร่านแถลง เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ตำหนิบางกลุ่มที่ทำลายข้าวของ ในขณะที่บนท้องถนนมีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่จนมีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 12 ราย และมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประท้วงบางส่วนต่อต้านผู้นำสูงสุดของอิหร่านปัจจุบันและอยากฟื้นระบอบชาห์อีกครั้ง รวมถึงมีการประท้วงที่เป็นวงกว้างว่ายุคปี 2552
ภาพการประท้วงในกรุงเตหรานเมื่อปี 2552 (ที่มา:วิกิพีเดีย)
2 ม.ค. 2561 ในช่วงปลายปี 2560 มีการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ของชาวอิหร่านต่อเนื่องมาจนถึงวันปีใหม่ โดยที่สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าเป็น "การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงปี 2552" อย่างไรก็ตามการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยรวม 12 ราย
การประท้วงในครั้งนี้ดูเหมือนจะเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจที่ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ความรู้สึกต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเริ่มแรกมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน แต่ก็เริ่มยกระดับกลายเป็นการเรียกร้องทางการเมืองและมีการประท้วงลามไปยังที่อื่นของอิหร่าน โดยมีผู้ประท้วงบางส่วนที่ไม่พอใจระบอบการปกครองที่อิงกับศาสนาของอิหร่านในปัจจุบัน
มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับหน่วยรักษาความปลอดภัยในการประท้วงช่วงเย็นวันที่ 31 ธ.ค. 2560 หลังจากที่ผู้ประท้วงฝ่าฝืนคำเตือนของรัฐบาลอิหร่านที่เตือนว่าจะใช้กำลังอย่างหนักกับผู้ชุมนุม มีภาพวิดีโอที่แสดงให้เห็นตำรวจปราบจลาจลเริ่มประจันหน้ากับผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ประท้วงบางส่วนโจมตีอาคารสถานที่ราชการและมีการทุบกระจก
You can see the moment the Islamic Revolutionary Guard started to attack the protesters.
City: Rasht#IranProtests #تظاهرات_سراسرى #يحدث_الان_في_ايران #متحد_شویم #IranProtest pic.twitter.com/JNVWSL7rEs
— Armin Navabi (@ArminNavabi) January 1, 2018
กองกำลังปฏิวัติอิสลามของรัฐบาลอิหร่านโจมตีผู้ประท้วง (ที่มา: twitter/Armin Navabi)
ในวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวในที่ประชุมกับสมาชิกสภาฯ จำนวนหนึ่งว่า "ไม่ใช่ผู้ประท้วงทุกคนที่ได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจในต่างประเทศ มีบางคนที่เป็นคนธรรมดาผู้ที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพราะปัญหาและความรู้สึกไม่พอใจของพวกเขาเอง"
รูฮานีกล่าวว่าเขาอยากให้มีบรรยากาศเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้นในอิหร่าน ผู้คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวในเชิงต่อต้านกลุ่มคนที่เขามองว่า "ตะโกนคำขวัญผิดกฎหมาย" "หมิ่นความศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติอิหร่าน" และ "ทำลายทรัพย์สินราชการ"
มีผู้ประท้วงบางกลุ่มที่ตะโกน "โคไมนีต้องตาย" ซึ่งหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี โคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีผู้ประท้วงบางส่วนปลดป้ายภาพโคไมนีลง โดยที่ในอิหร่าน โคไมนีเป็นคนที่มีอำนาจที่สุดและมีข้อห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์เขา
มีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งที่ตะโกนแสดงการสนับสนุนชาห์ ซึ่งเป็นตำแหน่งกษัตริย์อิหร่านช่วงก่อนหน้าจะเกิดการปฏิวัติอิหร่าน และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการประท้วงตามจังหวัดต่างๆ ที่ใหญ่กว่าช่วงประท้วงรัฐบาลปี 2552 ที่เรียกว่า "ขบวนการสีเขียว" แต่ในกรุงเตหรานมีจำนวนผู้คนประท้วงบนท้องถนนน้อยกว่า ตริตา ปาร์ซี ผู้ก่อตั้งและประธานองค์กรชาวอิหร่านในสหรัฐฯ กล่าวว่าผู้ร่วมประท้วงหลักๆ ในครั้งนี้แตกต่างจากกลุ่มผู้ประท้วงปี 2552 เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เชื่อในเรื่องการปฏิรูปอิหร่านและไม่มีการพูดถึงคำขวัญหรือแนวคิดของการชุมนุม "ขบวนการสีเขียว" เลย
รัฐบาลอิหร่านยังได้ทำการบล็อกอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ช่วงที่มีการประท้วง บางแห่งมีการตัดโทรศัพท์ บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กบางส่วนอย่างเทเลแกรมกับอินสตาแกรมก็ถูกบล็อกในเวลาต่อมา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงการประท้วงในอิหร่านโดยอ้างว่าเป็นเพราะผู้คนรู้ตัวว่า "ถูกฉกชิงความมั่งคั่งและนำไปใช้กับการก่อการร้าย" อีกทั้งยังอ้างการประท้วงในอิหร่านเพื่อโจมตีรัฐบาลสมัยบารัก โอบามา ว่าที่อิหร่าน "กำลังล้มเหลว" เป็นเพราะสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วของสหรัฐฯ ทำไว้ โดยที่รูฮานี กล่าวโต้ตอบทรัมป์ว่าเขาไม่มีสิทธิอะไรจะอ้างความเห็นใจประชาชนอิหร่าน เพราะทรัมป์เพิ่งกล่าวหาว่าอิหร่านเป็นประเทศก่อการร้ายและมีท่าที "ต่อต้านอิหร่านตั้งแต่หัวจรดเท้า"
เรียบเรียงจาก
More protesters die in Iran as Rouhani's plea fails to dampen unrest, The Guardian, Jan. 1, 2018
Iranians chant ‘death to dictator’ in biggest unrest since crushing of protests in 2009, The Guardian, Dec. 31, 2017
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/2017%E2%80%9318_Iranian_protests[full-post]
แสดงความคิดเห็น