Posted: 24 Jan 2018 06:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

ประวัติฉบับย่อขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ถึงกรมตรวจราชการแผ่นดิน ในทศวรรษ 2490-2500 ความไม่พอใจการทุจริตคอร์รัปชันในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอมและการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การถือกำเนิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ "ป.ป.ป." ในปี 2518 ก่อนเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาเป็น "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือ "ป.ป.ช." กลายเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่มีแนวโน้มทำให้ที่มาและโครงสร้างอำนาจของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ลดความยึดโยงกับตัวแทนประชาชนลง


2494 มีการตั้งคณะกรรมการปฏิบัติราชการตามมติประชาชน (ก.ป.ช.) เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์

2496 เปลี่ยนชื่อ ก.ป.ช. เป็นกรมตรวจราชการแผ่นดิน อยู่ภายใต้ทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สำนักคณะรัฐมนตรี

2503 ยุบกรมตรวจราชการแผ่นดิน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวแก่ภาษีอากร (ก.ต.ภ.) ตาม พ.ร.บ.ตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ (พ.ศ. 2503) (อ่านเพิ่ม)

2515 หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514

ต่อมามีการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 324 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 (อ่านเพิ่ม) เพื่อเลิก พ.ร.บ.ตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากร และรายได้อื่นของรัฐ และตั้งสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) แทนที่ โดยมีสำนักงานอยู่ที่สี่แยกคอกวัว

โดย พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม ผู้บังคับบัญชากองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ต.ป. ด้วย

2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่รัฐบาลทหารจนจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

นอกจากชนวนการชุมนุมจะมาจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเหตุมาจากเรื่องทุจริตในวงราชการ โดยเฉพาะกรณีที่คณะนายทหารและตำรวจกว่า 60 คนใช้เฮลิคอปเตอร์ทหาร 2 ลำไปตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเรื่องเกิดแดงขึ้นเมื่อเฮลิคอปเตอร์ 1 ใน 2 ลำประสบอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อ 29 เมษายน 2516 มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าโดยเฉพาะซากกระทิงในจุดเกิดเหตุ แต่จอมพลถนอมยังแถลงข่าวปกป้องเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกว่าเป็นการปฏิบัติราชการลับ เพื่อรักษาความปลอดภัยนายพลเนวิน ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าที่มาเยือนไทย

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ความไม่พอใจของนักศึกษา จนมีการตีพิมพ์หนังสือเพื่อตอบโต้คือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ของชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ภาพจาก khunmaebook.com

ความไม่พอใจการทุจริตในวงราชการในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ยังสะท้อนผ่านการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือตึกที่ทำการ ก.ต.ป. ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งหน่วยงานนี้ พ.อ.ณรงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ โดยจุดดังกล่าวปัจจุบันคืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สร้างเสร็จในปี 2544 หรืออีก 28 ปีต่อมา


ซากตึกที่ทำการ ก.ต.ป. สี่แยกคอกวัว 

ภาพจาก 14tula.in.th



2518 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (อ่านพระราชบัญญัติ) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ "คณะกรรมการ ป.ป.ป." ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน กับเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง แต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการ ป.ป.ป. ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี ต่ออายุได้ 1 วาระ แต่อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ โดยคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การใดๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไร



2535 มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2535 เพื่อขับไล่รัฐบาลทหาร รสช. ต่อมามีการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539


2539 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 31 ตุลาคม 2539 โดยเป็นครั้งแรกที่มีกฎหมายกำหนดให้ ส.ว. และ ส.ส. แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง

2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อ 11 ตุลาคม โดย 1 ใน 8 องค์กรอิสระที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญคือ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น

"คณะกรรมการ ป.ป.ช." ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี หรือเมื่อขาดคุณสมบัติ และให้เลือกโดยวุฒิสภา


2542 ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2542 โดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และ พ.ร.บ.การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผลของกฎหมายฉบับใหม่ยังมีผลให้ยุบเลิกสำนักงาน ป.ป.ป. และมีการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. แทนที่ (อ่านเพิ่มเติม)

ในกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองในสภา พรรคละ 1 คน เลือกกันเองจนเหลือ 5 คน ทำหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อว่าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. 18 คนเสนอประธานวุฒิสภา



2548

26 พฤษภาคม 2548 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา 9 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความผิดจากการขึ้นเงินเดือนตัวเอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ผู้ร้องคือ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ และพวก ประกอบด้วย ส.ว. 108 คน ส.ส. 95 คน รวม 203 คน มากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี แต่จากตำแหน่งหน้าที่ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ผลของคำพิพากษาทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง



2549

19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหาร ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ประกาศ คปค. ยังให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

22 กันยายน 2549 ประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังมีกล้านรงค์ จันทิก, ใจเด็ด พรไชยา, ประสาท พงษ์ศิวาภัย, ภักดี โพธิศิริ, เมธี ครองแก้ว, วิชา มหาคุณ, วิชัย วิวิตเสวี และสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 กำหนดให้เมื่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน แต่ถ้ามีกรรมการเหลือไม่ถึง 6 คน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคลและเสนอชื่อขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ



2550

1 พฤษภาคม 2550 ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 (อ่านเพิ่ม)

24 สิงหาคม 2550 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ลดสัดส่วนของฝ่ายการเมืองจากตัวแทน 5 พรรคการเมือง กลายเป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน และตัดคณะกรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 7 คน

คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. 5 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

โดยคณะกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้วุฒิสภาเห็นชอบ อย่างไรก็ตามที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ลดสัดส่วน ส.ว. จากการเลือกตั้งลงเหลือครึ่งหนึ่ง โดยวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการแต่งตั้ง 74 คน (โดยเพิ่มจำนวน ส.ว. จากการเลือกตั้งเป็น 77 คน และแต่งตั้งลดเหลือ 73 คน เมื่อมีการตั้ง จ.บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่)



2551

6 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งรับฟ้องเนวิน ชิดชอบ และพวกรวม 44 คน คดีจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านคน มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่ต้นกล้าตายเกือบหมด เหตุเกิดปี 2546 โดยศาลอนุญาตให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นโจทก์คดีนี้แทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังวันที่ 30 มิ.ย. 2551 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมา 21 กันยายน 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)



2556

2 เมษายน 2556 มติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา ต่อมนตรี เจนวิทย์การ อดีตเลขาธิการ ปรส. กรณีขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ โดยไม่ชอบตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ต่อมาอัยการสูงสุดได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล (อ่านเพิ่มเติม)

22 สิงหาคม 2556 มติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญาต่อมนตรี เจนวิทย์การ เลขาธิการ ปรส. กรณีขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกปิดกิจการให้บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 3 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว และอัยการสูงสุดได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล



2557

16 มกราคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมผู้เกี่ยวข้องรวม 15 ราย ในความผิดกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี และให้มีการไต่สวนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่

25 ก.พ. 2557 ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ วิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงไต่สวนคดีประกันราคาข้าวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรทิวา นาคาศัย แต่มีอุปสรรคในการดำเนินการเนื่องจากไม่สามารถนำเอกสารสำคัญมาประกอบการพิจารณาได้ เพราะบุคคลที่ครอบครองเอกสารปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเอกสารเนื่องจากถูกน้ำท่วม

8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ชี้มูลให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

12 กรกฎาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้ดำเนินคดีอาญายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

22 กรกฎาคม 2557 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภามีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 (อ่านเพิ่มเติม)

9 กันยายน 2557 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่งตั้งสุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2557เนื่องจากเข้าดำรงตำแหน่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อ่านเพิ่มเติม)



2558

29 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกคำร้องขอให้ถอดถอน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

กรณีสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

30 ธันวาคม 2558 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. ดังต่อไปนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ วิทยา อาคมพิทักษ์, สุวณา สุวรรณจูฑะ, สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และบุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. (อ่านเพิ่มเติม)

สมทบกับกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลือ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้แก่ ปรีชา เลิศกมลมาศ (29 กันยายน พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน) พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน) ณรงค์ รัฐอมฤต (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน) และสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ (9 กันยายน พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน)




2560

17 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูล

6 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 (อ่านเพิ่มเติม) โดยภายใต้บทเฉพาะกาล วุฒิสภาทั้งหมด 250 คนในวาระแรกจะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งจะเป็นผู้ลงมติเห็นชอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 232 กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า "ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต"

นอกจากนี้ยังกำหนดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่กรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีว่า

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(4) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

(6) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

หรือ (7) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี ฯลฯ

2 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง

คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ

25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 42 ปี คดีทุจริตระบายข้าว (จีทูจี) ที่บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย โดยเป็นคดีที่ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหาเมื่อ 16 มกราคม 2557

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองติดสินจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา คดีนโยบายจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

โดยคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้ดำเนินคดีอาญาเมื่อ 12 กรกฎาคม 2557

2 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... โดยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา (อ่านเพิ่มเติม)

โดยเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ที่มาของคณะกรรมการสรรหา 9 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ และให้มีบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้ง องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ


สาระ+ภาพ: ที่มาของ ป.ป.ช. จากรัฐธรรมนูญ 40 ถึงรัฐธรรมนูญ คสช.

ป.ป.ช.ในคลื่นลมอำนาจและห่วงโซ่ความชอบธรรมที่เลือนหาย
(เมื่อประชาชนไม่ใช่เจ้าของ ป.ป.ช.)


'ศรีสุวรรณ' ชี้ปม 'นาฬิกา พล.อ.ประวิตร' คือคำตอบของวาทกรรมแก้ทุจริตยุคนี้


คืนเพื่อนแล้วไง...เปิดกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ได้ห้ามแค่รับทรัพย์สิน
แต่ห้ามรับประโยชน์อื่นใดด้วย


การอภิปรายไม่ไว้วางใจ: สิ่งที่หายไปในรัฐสภา (ของเผด็จการ)


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.