Posted: 01 Feb 2018 11:29 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะศึกษาดูงานประชุมวิชาการ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 60” เยี่ยมชม รพ.พระพุทธบาท รุก “โครงการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ 3 กลุ่มโรค ไข้หวัด ท้องเสีย แผลเลือดออก เน้นความร่วมมือแพทย์ พยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่ และชุมชน ช่วย รพ.ลดใช้ยาปฏิชีวนะกว่า 20 ล้านบาทต่อปี

1 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะศึกษาดูงานในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูการดำเนิน “โครงการฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลและชุมชน” ที่โรงพยาบาลพระพุทธบาทและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหลังเขา จ.สระบุรี

นพ.นพพร พงษ์ปลื้มปิติชัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จากการใช้ยาปฏิชีวนะที่พบความต้านทานการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเสียชีวิตในการรักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณุสขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่อง “โครงการฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลและในชุมชน” ตั้งแต่ปี 2550 และได้รับการผลักดันให้เป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชาติ มุ่งลดการใช้ยาปฏิชีวนะอยางพร่ำเพรื่อใน 3 โรคที่พบบอย ซึ่งกว่าร้อยละ 80 หายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจสวนบน โดยเฉพาะโรคหวัดและเจ็บคอ โรคทองรวงเฉียบพลัน และแผลเลือดออก เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติในการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน

นพ.ทศพร ศิริโสภิตกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระพุทธบาท กล่าวว่า รพ.พระพุทธบาท เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ตั้งแต่ปี 2550 โดยเน้นความร่วมมือแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชน ในการจัดอบรมแนะนำและให้ความรู้การใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น ซึ่งในอดีตยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยาที่มีสั่งจ่ายมากที่สุด แต่หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รพ.พระพุทธบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาได้ถึงร้อยละ 25 จากมูลค่ายา 90 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากมีการดำเนินการในระดับประเทศจะลดค่าใช้จ่ายด้านยาได้มหาศาล ขณะเดียวกันยังเป็นการป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นภัยคุกคามขณะนี้ ไม่แต่เฉพาะประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล สปสช.เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ตามพันธกิจ“ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา” ทั้งได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ ในการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อลดการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะของโรงพยาบาลใน 2 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งผลการเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้นโยบายนี้ ในปี 2555 และ 2557 โดยสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและโอสถกรรมานุบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

พบว่า ภาพรวมการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 48.57 เป็นร้อยละ 38.56 ของผู้ป่วยกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลัน หรือลดลง ร้อยละ 10.01 ส่วนกลุ่มโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ภาพรวมการสั่งใช้ยาปฏิชีวินะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน จากร้อยละ 53.63 เป็นร้อยละ 44.82 ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือลดลงร้อยละ 8.81 หลังการดำเนินนโยบาย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.