Posted: 03 Feb 2018 08:10 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ไฟไหม้โรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ จ.ตรัง
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 4 ก.พ. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ชื่อ บริษัท ไทยกอง จำกัด เลขที่ 85 หมู่ 6 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลและอบต.ต่างๆ กว่า 10 คัน เข้าระดมฉีดน้ำระงับเหตุ พร้อมอพยพพนักงานกว่า 200 คนที่ทำงานออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่เนื่องจากไฟโหมลุกไหม้อย่างรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้เวลาผ่านไปนานกว่า 3 ชั่วโมงยังไม่สามารถควบคุมได้ในขณะนี้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำเลี้ยงไฟไม่ให้ลุกลามไปยังอาคารเครื่องจักรที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน นายวสันต์ ถนอมทรัพย์ รองผวจ.ตรัง ได้เดินทางเข้าตรวจสถานที่ และนายศิริพัฒ พัฒกุล ผวจ.ตรัง ได้ประสานผ่านทางสถานีดับเพลิง สนามบินตรัง เพื่อที่จะนำโฟมเข้าดับเพลิงเพื่อให้การช่วยเหลือเร็วขึ้น ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างตรวจสอบ ขณะที่มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ที่มา: บ้านเมือง, 4/2/2561
ยอมจ่ายค่าชดเชย กรณีลูกจ้างถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย-ให้ออกจากงาน
กรณีแฟนเพจแหม่มโพธิ์ดำ แชร์ข้อความลูกจ้าง ย่านสีลม ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย และให้ออกจากงาน หลังจากนั้นลูกจ้างได้เข้าร้องเรียนกระทรวงแรงงานให้เอาผิดกับนายจ้าง
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ทีมสหวิชาชีพได้ประสานไปยังนายจ้างเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ลูกจ้างได้ให้ข้อมูลแล้ว โดยผู้แทนนายจ้าง ชี้แจงว่า ลูกจ้างรายนี้เป็นลูกจ้างของบริษัทจริง เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึง 27 มกราคม 2561 ในตำแหน่ง พนักงานขาย และภายหลังจากเกิดเหตุตามที่เป็นข่าว ได้เข้าดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด
สำหรับเงินค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าคอมมิชชั่น ได้โอนเงินให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารแล้ว ส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และหลักประกันที่เป็นเงินสดนั้น บริษัทจะจ่ายให้ลูกจ้างโดยนัดจ่ายที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้
ขณะที่กรณีการทำร้ายร่างกาย อยู่ระหว่างการพิจารณาของสหวิชาชีพ ว่าจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยที่ทางลูกจ้างได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางรักเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามกฎหมาย
ที่มา: ch7.com, 3/2/2561
ศาลสั่งจำคุกอดีตหัวหน้างาน ก.ทรวงสาธารณสุข ลวนลามลูกน้อง 1 ปี 6 เดือนไม่รอลงอาญา
นายอัศม์เดช รัตนวรประเสริฐ อายุ 40 ปี อดีตหัวหน้าส่วนกลุ่มงานภารกิจอำนวยการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ในคดีที่ถูกนางโชติกา อู่คงคา อายุ 30 ปี พนักงานลูกจ้างสาวกระทรวงสาธารณสุขแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองนนทบุรี ดำเนินคดีในข้อหากระทำอนาจารหญิงอายุเกินกว่า 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา
โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาว่านายอัศม์เดช มีความผิดจริง ตามที่โจทย์ฟ้อง และตัดสินจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หลังตัดสินเสร็จเจ้าหน้าที่ศาลได้ควบคุมตัวนายอัศม์เดช ส่งเรือนจำจังหวัดนนทบุรี
ที่มา: Nation TV, 3/1/2561
กรมการจัดหางานเผยสถิติระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้พุ่ง
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเผยสถิติเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 5,732 คน นิยมไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 2,492 คน คิดเป็นร้อยละ 43.48 ของจำนวนคนงานไทยที่เดินทาง ไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ ขณะที่ยอดระงับการเดินทางของผู้ที่มี พฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 44 คน โดยระงับการเดินทางไป "เกาหลีใต้" มากที่สุด
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดี กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 5,732 คน โดยไปทำงาน "ไต้หวัน" มากที่สุด 2,492 คน รองลงมาคือ "เกาหลีใต้" 368 คน ญี่ปุ่น 335 คน ฮ่องกง 113 คน ตามลำดับ ขณะที่มีการระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 44 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 46.67 ซึ่งมีจำนวน 30 คน โดยประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุดเป็น "เกาหลีใต้" รองลงมาเป็น บาห์เรน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็ก สิงคโปร์ และกาตาร์
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงคนหางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ "ประเทศเกาหลีใต้" จึงขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าการไปทำงาน ต่างประเทศจะต้องเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน, มีสัญญาจ้างที่ผ่านการรับรองสัญญาจ้าง จากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศ ใช้ "วีซ่า ท่องเที่ยว" ในการทำงานไม่ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันการ หลอกลวงไปทำงานต่างประเทศจนต้องทำให้สูญเสียทรัพย์สินตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จึงขอให้ ตรวจสอบกับ "กรมการจัดหางาน" ก่อน
โดยสอบถามข้อมูลแจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือเบาะแสการหลอกลวง "คนหางาน" ได้ที่สำนักจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครอง คนหางาน กรมการจัดหางาน โทร.0-2248-2278 หรือสายด่วน กระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน
ที่มา: แนวหน้า, 3/2/2561
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาย้ำไม่มีแผนปลดพนักงาน
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า แผนระยะกลาง 3 ปี (ปี 2561-2563) นั้น ธนาคารประเมินว่าสินเชื่อรวมจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7-9 จากปีนี้ที่ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโตร้อยละ 6-8 โดยยังคงเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลักสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดส่งผลให้จีดีพีปีนี้เติบโตร้อยละ 4 และปีนี้คาดว่าจีดีพีจะเติบโตร้อยละ 4 เช่นเดียวกัน
“ผลการดำเนินงานปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 23,209 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเติบโตตามไปด้วย” นายโนริอากิ กล่าว
ส่วนงบลงทุนเทคโนโลยีใน 3 ปี นายโนริอากิ กล่าวว่า ธนาคารตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท โดยจะใช้ปีนี้ 8,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะพัฒนาดิจิทัลและปรับปรุงรูปแบบสาขาให้มีความทันสมัยและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีแผนลดสาขาและลดพนักงานลง โดยปัจจุบันธนาคารมี 663 สาขา เพียงแต่จะปรับพนักงานให้เหมาะสมกับงาน เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 600,000 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 220,00 ล้านบาท และ สินเชื่อรายย่อย 730,000 ล้านบาท
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/2/2561
สอศ.หึ่ม!! แอบจ้าง “เด็กอาชีวะ” ผิดวัตถุประสงค์ “โรงเรียนในโรงงาน” หากเจอสั่งระงับทันที
จากกรณีรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร้องเรียนต่อ รมว.แรงงาน ถึงกรณีนายจ้างบางแห่งใน “โครงการโรงเรียนในโรงงาน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสถานประกอบการ ในการรับเด็กอาชีวะมาฝึกประสบการณ์ เพื่อรับทำงาน แต่กลับฉกฉวยผลประโยชน์โดยมีการจ้างงานเป็นพนักงาน โดยไม่มีสวัสดิการ ส่งผลให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพ จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้าง
วันนี้ (30 ม.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ สอศ. กับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์ คือ ต้องการให้เด็กอาชีวะเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงกับผู้ประกอบการต่างๆ โดยได้รับค่าตอบแทน แต่ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการจ้างงานเป็นแบบพนักงานของบริษัท ซึ่งตรงนี้ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งตนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับทราบถึงปัญหาการจ้างงานนักศึกษานี้แล้ว ตนได้กำชับให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่งให้ดูแลในเรื่องนี้แล้ว ไมให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีก หากพบว่ามีการจ้างงานนักศึกษาที่ไปฝึกประสบการณ์ในโครงการโรงเรียนในโรงงาน ให้รายงานเข้ามา และ สอศ. จะสั่งระงับความร่วมมือกับสถานประกอบการนั้นๆ ทันที
“โครงการนี้เราต้องการให้เด็กได้ไปเรียนรู้เจตคติ ทัศนคติที่ดีในการทำงานจริง ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริงจากนายจ้าง เป็นไปในลักษณะการฝึกงานแต่มีรยได้ด้วย แต่ไม่ได้ต้องการให้ฉกฉวยโอกาสนำเด็กนนักศึกษาไปจ้างงานแบบเป็นพนักงาน ซึ่งตรงนี้ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน หากพบการกระทำดังกล่าว จะสั่งหยุดความร่วมมือทันที ซึ่งตรงนี้ทาง ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้องบอกเตือนนักเรียนนักศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการสั่งหยุดระงับความร่วมมือกับสถานประกอบการใด เนื่องจากอยู่ในช่วงเฝ้าระวังอยู่” ดร.สุเทพ กล่าว
เมื่อถามว่า มีรายงานว่า มีการจ้างงานเด็กอาชีวะในโครงการดังกล่าวจำนวนมากทางอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ดร.สุเทพ กล่าวว่า ตนได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังแล้ว หากพบก็จะดำเนินการทันที ส่วนเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงานขณะไปเรียนรู้ในสถานประกอบการนั้น ตามจริงทุกวิทยาลัยมีการจัดทำประกันหมู่ให้แก่เด็กอาชีวะทุกคนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องกำชับทางสถานประกอบการด้วยว่า นอกจากการให้ความรู้ที่ดี ประสบการณ์ที่ดี ทัศนคติ และวิธีการทำงานที่ดีให้แก่เด็กๆ แล้ว ขอให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย อะไรที่เสี่ยงเกินไปก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยง
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/1/2561
โรงงานปั่นด้ายแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี ปลดคนงานกะทันหัน 400 คน
โรงงานปั่นด้ายแห่งหนึ่ง ในตำบลบางน้ำเชี้ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวอินเดีย ได้มีการปลดคนงานทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติออกจำนวนกว่า 400 คน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
โดยพนักงานของโรงงานดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วยคนไทยและต่างชาติ จำนวนกว่า 400 คน ที่ในช่วงเช้าวันนี้ ได้เดินทางมาตามปกติ จนกระทั่งเมื่อมาถึง ทางโรงงานได้เรียกรวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าโรงงาน และได้ประกาศแจ้งปลดคนงานทั้ง 400 คน โดยในจำนวนนั้น มีคนงานที่เป็นคนไทยอยู่ประมาณ 200กว่าคน และเป็นคนงานต่างชาติเกือบ 200คนพนักงานที่ถูกปลด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเริ่มรู้สึกผิดปกติตั้งแต่ไม่มีวัตถุดิบเข้ามาป้อนโรงงานและมีข่าวว่าจะปลดคนงาน หากมีคนงานคนไหนพูดเรื่องนี้ก็จะถูกเรียกตัวไปพบ อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานประกาศจะจ่ายเงินให้ตามที่กฎหมายกำหนด ตามอายุการทำงาน ทั้งแบบรายเดือนและรายวัน
นอกจากนี้ยังมีเงิน ค่าตกใจให้อีก โดยพนักงานรายเดือนจะได้คนละหนึ่งเดือน ส่วนรายวันก็จะได้รับคิดเป็นรายวันโดยจะโดนหักจำนวนวันหยุดออกไป คนงานต่างบอกว่าต้องยอมรับเพราะทางโรงงานมีการจ่ายเงินให้ทำตามกฎหมายแล้ว แต่ตอนนี้ต้องรอดูว่าทางโรงงานจะจ่ายเงินให้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ทางโรงงานได้นัดให้คนงานทั้งหมดไปรวมตัวรอรับเงินที่สนามกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี โดยบอกว่าคนงานไทยจะจ่ายเป็นเช็คให้ ส่วนคนงานต่างชาติจะจ่ายเป็นเงินสด ทำให้คนงานไทยเกิดความไม่แน่ใจว่าเช็คที่จะได้มีเงินจริงหรือไม่ จึงต้องการให้เช็คที่ได้รับสามารถนำไปขึ้นเป็นเงินได้เลยภายในวันนี้
สำหรับโรงงานแห่งนี้เคยปลดคนงานมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม โดยในการปลดคนงานเมื่อครั้งที่ผ่านมา เกิดการประท้วงกันขึ้นเนื่องจากทางโรงงานจะไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายและมีการปลดคนงานแบบกะทันหันไม่บอกล่วงหน้าเหมือนกับคราวนี้ แต่ต่อมาภายหลังได้มีการเจรจาและตกลงกันได้
ที่มา: บ้านเมือง, 31/1/2561
ประชารัฐเพื่อสังคมพุ่งเป้าปี 2561 ดันจ้างงานผู้สูงอายุ-พิการ 1 แสนคน
ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วย นายอิสระว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนและ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม โดยมีผู้แทนหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน (5 Quick Win) ได้แก่ 1.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ 2.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3. การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และ 5.ความปลอดภัยทางถนน
โดย พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า คณะทำงาน E6 ได้สรุปความก้าวหน้านำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ซึ่งได้เน้นย้ำให้คณะ E6 ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องพัฒนาทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยเฉพาะในปี 2561 ต้องเป็นการขับเคลื่อนที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ สามารถตอบได้ว่าประชาชนได้อะไร มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร มีการออมเพิ่มขึ้นหรือไม่ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงกี่เปอร์เซนต์ รวมถึงสามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“คณะทำงาน E6เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมความร่วมมือทุกภาคส่วน ดังนั้นหากมีข้อติดขัดรัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะที่มีข้อเสนอให้ทบทวนคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 156/2561 เรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งอาจส่งผลให้การจ้างงานเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการคนพิการเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ตาม ม.35 ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น ในประเด็นนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ได้มอบหมายให้หารือร่วมกับกรมสรรพากรเพื่อหาทางออก และกำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างแท้จริง” พล.อ.อนันตพร กล่าว และ นอกจากนั้นได้ฝากกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและพิจารณามาตรการและข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้การดำเนินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย
นายอิสระ กล่าวว่า คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ ยังคงมีภารกิจที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรค เพื่อรายงานความคืบหน้าต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยคณะทำงานทั้ง 12 คณะได้แบ่งกลุ่มตามภารกิจออกเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่กลุ่มการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน(Thailand 4.0)2.กลุ่มพัฒนาคุณภาพคน 3. กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ และ 1 คณะทำงาน คือ คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งนี้แผนการดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 12 คณะ จะเน้นแผนที่มีผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจและสังคม และสามารถเห็นผลได้ภายใน 1 ปี
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า คณะทำงานย่อยทั้ง 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางสำคัญในการดำเนินงานในปี 2561 ได้แก่ 1.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ เน้นขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และ 35 ในหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ให้ได้ 68,000 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 15,000 อัตรา ภายในปี 2561 โดยขอให้มีความชัดเจนและแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ เพื่อให้การลดหย่อนภาษีตามมาตรา 35 เป็นการส่งเสริมในการจ้างงานคนพิการ 2.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวม 58,000 คนหรือเพิ่มขึ้น 19,000 อัตราในปี 2561 เพื่อลดภาระการพึ่งพิง และสร้างงานในชุมชน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องขอรับการสนับสนุน อาทิ สามารถจ้างงานผู้สูงอายุได้เกิน 15,000 บาท/เดือน และนำมาลดหย่อนภาษีได้, ผู้สูงอายุสามารถสมัครเข้ากองทุนประกันสังคม, จ่ายค่าแรงจ้างแบบไม่เต็มเวลาได้ เป็นต้น 3. การออมเพื่อการเกษียณอายุจะเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ
ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า 4.ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม เครื่องมือสำหรับผู้สูงอายุตามภูมิภาคต่างๆ 5 ศูนย์ในปี 2561 รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการนำร่องพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องการการสนับสนุนทั้งส่วนของการจัดสรรพื้นที่ชุมชนเมืองของการเคหะแห่งชาติ และกรมธนารักษ์ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาลงทุนพัฒนาที่อยู่อายุสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง และ 5. ความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้ 55 องค์กรที่ร่วม MOU กำหนดมาตรการความปลอดภัยขององค์กร โดยตั้งเป้าการดำเนินงาน “10-5-0” ใน 3 จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี คือ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ให้ได้ร้อยละ 10 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดปีให้ได้ร้อยละ 5 และลดจำนวนผู้เสียชีวิตในหน่วยงานที่ร่วม MOU ให้เป็น 0 นอกจากนี้ในปี 2561 จะสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมใน 3 กลุ่มภารกิจงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายผลความร่วมมือในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมในทุกมิติ
ที่มา: บ้านเมือง, 31/1/2561
มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
1. กำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
ค่าจ้างรายวัน หมายถึง เงินค่าจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน โดยค่าจ้างรายวันนั้น ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลาเบี้ยเลี้ยง ประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นเงิน ภาษีอากรที่ผู?จ?ยออกแทนให้ ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้
(1) ต้องมีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้กำหนดและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561
(2) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในกรณีอื่น ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ทั้งนี้ สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
มาตรการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในประเทศได้อย่างยั่งยืน และจูงใจให้นายจ้างได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันเป็นการสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ที่มา: ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) กรมสรรพากร, 31/1/2561
สศอ.ชี้ขึ้นค่าแรงกระทบภาคอุตสาหกรรมน้อย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ในอัตรา 5 – 22 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 นั้น นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่สูงกว่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะเป็นแรงงานที่มีฝีมือประกอบกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงส่วนใหญ่เช่น สิ่งทอ ได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากที่มีการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศไปก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคบริการ แต่ไม่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมรวม
ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.58 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวคือ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ น้ำมันพืช และน้ำมันปิโตรเลียม ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2560 ขยายตัวได้อย่างต่ำร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.7 ส่วนปี 2561 ดัชนีเอ็มพีไอคาดขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 จีดีพีภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัวร้อยละ 2 - 3
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ถ้าไม่มีอะไรผันผวนการเมืองระหว่างประเทศไม่รุนแรง เศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับขึ้นดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งยังต้องติดตามนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกา ส่วนเวียดนามก็มีการออกกฎหมายควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ซึ่งส่งผลยอดการส่งออกของไทยที่อาจจะหดตัวลง
ที่มา: TNN24, 31/1/2561
สหภาพมิตซูบิชิแอร์เฮลั่น ถกผู้บริหารได้ข้อสรุปค่าแรง โบนัส พนง.ทุกคนต้องรายงานตัว 31 ม.ค.นี้
สืบเนื่องจากเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจตามติดกันมาเป็นเวลานาน กรณีบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดการผลิตชั่วคราว งดจ้างพนักงานเกือบ 2000 คน หลังเจรจาในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนไม่ลงตัว โดยทางบริษัทยังยื่นข้อเสนอมาให้สหภาพแรงงานรับข้อเสนอ 3 ข้อ คือ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้าง การไม่หักค่าบำรุง และการทำงาน 3 กะ ซึ่งทางพนักงานรับไม่ได้ อีกอย่างคือ ทางบริษัทมาปิดงานช่วงปลายปีพอดี ทำให้พนักงานได้รับเดือดร้อนมากนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด เฟซบุ๊ก "อินไซด์ อมตะนครนิวส์" ได้โพสต์ความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า...เฮลั่นวัดหลังสหภาพประกาศข่าวดีสำหรับพนักงาน!!! มิตชูแอร์ต่อสู้กันแรมเดือน #นิคมอมตะนครชลบุรี ผลสรุปการต่อสู้แรงงานปี 2017 บริษัทปิดงาน 29/12/2017 ยุติการเจรจาวันที่ 29/01/2018 22.00น.ห้องประชุมโรงแรมชลอินเตอร์
โบนัส7.7+20,000 บาท เงินบวกออก 02/02/2018 (เงินพิเศษ) ส่วนโบนัสออกวันที่ 09/02/2018 ค่าแรงเริ่มวันเสาร์ที่ 27/01/2018 Start ข้อเสนอที่1 ฟิกเรท400฿ (ยกเลิก) แต่ใช้โครงสร้างตาฐาน Levelคิดเป็นค่าเฉลี่ยของแต่ล่ะตำแหน่งเช่น O3, คิดฐานเดียวกันค่าเฉลี่ย‼️ ใช้โครงสร้างระดับตำแหน่งงาน 6% ของค่าจ้างพื้นฐาน (ฟิกเรทของแต่ล่ะระดับงาน+ผลงาน) ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างพื้นฐาน*6%*40% + ค่าผลงาน O3 = 300฿งาน*0.5%
ข้อเสนอที่2 การเปิด3กะ เปลี่ยนแปลงเป็น 3 กะตามความเหมาะสมกะA06.00-14.20 (พัก8.30-8.40 ค่ากะA160+70฿(ใช้%*ค่าจ้างพื้นฐาน*1% กะ B14.30 ค่ากะ 160฿+70(%*ค่าจ้างพื้นฐาน2%เริ่มทำงาน22.00-06.20 ค่ากะ160+70฿ การทำงาน3กะให้เริ่มสัปดาห์แรกให้มีผลวันที่ 1 เมษา 2561
ข้อเสนอที่3 การไม่หักค่าบำรงสิ้นสุดมีนาคม2561 เราจะเริ่มหักค่าบำรุงของสมาชิกเอง เพื่อไม่ให้เขานำมาเป็นข้อต่อรอง
สภาพการจ้างให้คงสภาพตามเดิมทุกประการ
1. #การกลับเข้าทำงานต้องเข้าใจนโยบายและระเบียบข้อบังคับและทำตามคำสั่งของบริษัทอย่างเคร่งครัด‼เราอย่าทำลายทรัพย์สินบริษัทแม้กระทั่งกระดาษแผ่นเดียว และต้องไม่ด่า ไม่ว่าคนที่ไม่ใช่สมาชิกหรือคนที่เข้าข้างใน
2. ให้พนักงานทั้งหมดมารายงานตัววัน31/01/2018เวลา10.00-12.00ส่วนสถานที่รายงานตัวบริษัทจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง‼
3. วันที่30/01/2018(ให้พนักงานนอนพักที่บ้าน) ทีแรกบริษัทจะตัดสวัสดิการของเราทั้งหมดแต่สหภาพยืนการว่าหากเขาตัดสวัสดิการพนักงานเราจะไม่รับเงื่อนไขของมัน บริษัทจึงยอมคืนสวัสดิการต่างๆให้เช่นโปรทองพนักงานดีเด่น‼
4. วันที่31/01/2018ต้องให้สร.แกนนำเซ็นต์เอกสารก่อนตรวจสอบเอกสารก่อนแล้วเราค่อยเซ็นต์และตามกรรมการไป
ที่มา: TNews, 30/1/2561
ครม.เคาะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่ม 1 เม.ย.
30 ม.ค. 2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้มีการศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้ รวมถึงคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6
ทั้งนี้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 8-20 บาทต่อวัน ในทุกจังหวัด แบ่งออกเป็น 7 ระดับ ได้แก่ 308 บาทต่อวันจำนวน 3 จังหวัด 310 บาทต่อวัน จำนวน 22 จังหวัด 315 บาทต่อวัน จำนวน 21 จังหวัด 318 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด 320 บาทต่อวัน จำนวน 14 จังหวัด 325 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด และ330 บาทต่อวัน จำนวน 3 จังหวัด ให้มีผลผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561
ที่มา: ไทยโพสต์, 30/1/2561
ประกันสังคมเผยดูแลผู้ประกันตนได้รับผลกระทบชุมนุมปี 2553 ฟรี
ผู้สื่อข่าวรายงานการเปิดเผยของนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานที่ระบุว่า กรณีมีชายที่ได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนลูกหลงที่หัวไหล่ด้านขวาเฉี่ยวเส้นประสาทหลังการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ได้รับเงินเยียวยามาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยานอกบัญชีหมดแล้ว จึงใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ แต่เบิกยานอกบัญชีไม่ได้ จากนั้นได้ใช้สิทธิประกันสังคมอีกทาง แต่โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่มีแพทย์รักษาอาการได้ ต้องรอส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น รอการช่วยเหลืออยู่นั้น ตนขอชี้แจงว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ตนเองเลือกไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากสถานพยาบาลที่เลือกไม่สามารถรักษาได้ ต้องส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า
สำหรับการรักษาพยาบาลนั้นผู้ประกันตนสามารถใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา แต่ในกรณีที่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคมที่รักษาไม่ได้ แล้วไม่ส่งต่อ ขอให้ผู้ประกันตนหรือญาติที่มีข้อขัดข้องสามารถแจ้งสายด่วนประกันสังคม โทร 1506 ให้บริการ 24 ชั่วโมง
ที่มา: โลกวันนี้, 29/1/2561
ม.หอการค้าฯชี้ขึ้นค่าแรงเงินสะพัด 3 หมื่นล้าน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ในอัตรา 5-22 บาทต่อวัน ว่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเอสเอ็มไทยให้เพิ่มขึ้นทันที แต่ในภาพรวมจะทำให้เกิดเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยอีก 30,000 ล้านบาท และช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้ร้อยละ 0.1-0.2 เนื่องจากจะช่วยให้แรงงานประมาณ 6 ล้านคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ล่าสุดวันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และหอการค้าไทย ถึงมาตรการการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเตรียมออกมาตรการพัฒนาผลิตภาพ Productivity เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำพร้อมกับการให้คำปรึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเสริมทักษะ และความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ การทำโครงการพี่ช่วยน้อง ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มาช่วยเหลือรายเล็กให้ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม และการหาตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านตัวแทนจากส.อ.ท.และหอการค้าไทย กล่าวพอใจกับมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากหลายมาตรการสามารถทำได้ทันที ซึ่งเชื่อว่า การยกระดับคุณภาพสินค้าของเอสเอ็มอี จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และก้าวสู่การเป็นอินดัสทรี 4.0 ในผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
เช่นเดียวกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์เตรียมออกมาตรการสินเชื่อวงเงิน 70,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท
ที่มา: TNN24, 29/1/2561
สหภาพฯ ไทยพาณิชย์ยุติชุมนุม หลังพอใจผู้บริหารรับข้อเสนอ
สหภาพฯ ไทยพาณิชย์ยุติการชุมนุม หลังพอใจผู้บริหารรับข้อเสนอ พร้อมประเมินผลงานเป็นธรรมมากขึ้น แต่หากยังไม่คืบหน้าพร้อมออกมาเรียกร้องอีก
นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ว่า พอใจกับการหารือครั้งนี้ เนื่องจากผู้บริหารรับข้อเสนอจากทางสหภาพฯ ที่ต้องการให้มีการทบทวนผลการประเมินการทำงานของพนักงานที่ได้รับคะแนนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนในอนาคต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้เวลาพนักงานปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างองค์กรที่จะโยกย้ายตำแหน่งการทำงานตามนโยบายของธนาคาร เพราะพนักงานส่วนใหญ่พร้อมจะปรับตัว โดยเรื่องดังกล่าวผู้บริหารยืนยันไม่มีการลดจำนวนพนักงานตามกระแสที่ออกมาแน่นอน ซึ่งทางสหภาพฯ ยืนยันจะไม่ชุมนุมต่อไป แต่หากข้อเสนอที่เสนอไปยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกลับมาเรียกร้องสิทธิ์ดังกล่าวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (29 ม.ค.) ไม่มีภาพพนักงานออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องสวัสดิภาพตามเวลาที่แจ้งกันไว้ในประกาศ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาที่จะรวมตัวกันที่ลานน้ำพุหน้าธนาคารในเวลา 12.00-12.45 น. ซึ่งทางสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่าทางผู้บริหารต้องการยื้อเวลาในการเจรจากับสหภาพช่วงเวลา 11.00 น.ให้ล่วงเลยเวลานัดหมายการรวมตัว ทำให้พนักงานไม่สามารถเรียกร้องสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งทางสหภาพฯยืนยันจะเดินหน้าเรียกร้องตามความต้องการของพนักงานต่อไป
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/1/2561
แสดงความคิดเห็น