ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (กลาง) ที่มาแฟ้มภาพเพจ banrasdr photo
Posted: 18 Feb 2018 01:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตให้ความเห็นกรณีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี พร้อมข้อเสนอ 3 แนวทาง 8 หลักการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตคอร์รัปชัน
18 ก.พ. 2561 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อกรณีคอร์รัปชันรุนแรงสุดในรอบ 3 ปีและเริ่มเห็นสัญญาณจ่ายเงินสินบนและใต้โต๊ะมากขึ้น ว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งและจะส่งผลกระทบอย่างมากในภาวะที่ประเทศกำลังเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมากและมีการใช้จ่ายงบประมาณมหาศาล 3-4 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดเนื่องจากขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนแอ สิทธิเสรีภาพทางวิชาการและสื่อมวลชนมีข้อจำกัด สถานการณ์คอร์รัปชันจะดีขึ้นหากการเมืองเป็นระบบเปิดมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็งขึ้น การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่มีการซื้อเสียงน้อยลง ระบบอุปถัมภ์ผ่อนคลายลง ย่อมทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันลดลง อย่างไรก็ตาม หากสังคมไทยปล่อยให้สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้และในอนาคตจะลดลงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับงบประมาณของประเทศไม่ต่ำกว่าปีละสองแสนล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่ำกว่า 4% ต่อปีจะทำให้ไทยไม่บรรลุเป้าหมายก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2575 เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต โดยคาดว่าหากปล่อยให้การทุจริตคอร์รัปชันอยู่ที่ระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศจะต้องเจอกับปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะอย่างแน่นอน การทุจริตจะเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจรวมทั้งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง ประเทศได้โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานด้วยงบประมาณที่สูงกว่าความเป็นจริง ประเทศมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเม็ดเงินงบประมาณไปลงทุนระบบสวัสดิการสาธารณสุขและระบบการศึกษาให้กับประชาชน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้เสนอ 3 แนวทางและหลักการ 8 ประการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้และมีสัญญาณเพิ่มขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทานในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ดร.อนุสรณ์ เปิดเผยว่า 3 แนวทางประกอบไปด้วย แนวทางที่หนึ่ง กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐ คืนสิทธิเสรีภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน แนวทางที่สอง การปฏิรูประบบและกลไกในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและบริหารประเทศอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะ คณะกรรมการ ปปช จะต้องเป็นอิสระ เป็นกลางและเที่ยงธรรม แนวทางที่สาม พัฒนาดัชนีธรรมาภิบาลเพื่อใช้กำกับดูแลการบริหารจัดการประเทศในสามระดับ 1. ระดับพื้นที่ มีดัชนีธรรมาภิบาลระดับจังหวัด 2. ระดับหน่วยงาน 3. ระดับโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้
ส่วนหลักการ 8 ประการที่สังคมโดยเฉพาะภาครัฐจะต้องผลักดันและยึดถือร่วมกันเพื่อต่อสู้กับวิกฤติทุจริตคอร์รัปชัน และ ทำให้ ระบอบประชาธิปไตยมีความความมั่นคงมากขึ้น ประกอบไปด้วย หลักการที่หนึ่ง การปฏิรูปโครงสร้างระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีความยั่งยืน (Sustainability of Structural Reform) หลักการที่สอง การเปิดเสรีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ (Liberalization and Deregulation) การเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ การผ่อนคลายกฎระเบียบจะลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ปิดช่องทางการทำทุจริตเรียกรับผลประโยชน์และติดสินบน หลักการที่สาม การมีส่วนร่วม (Participation) ต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชน ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในนโยบายและโครงการต่างๆของภาครัฐ มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง หลักการที่สี่ หลักนิติธรรม (Rule of Law) กรอบกฎหมายต้องยุติธรรม พยากรณ์ได้ มีความต่อเนื่อง ไม่เลือกปฏิบัติ บังคับใช้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หลักการที่ห้า ความโปร่งใส (Transparency) และ การเปิดเผยข้อมูล การเปิดเผยและความโปร่งใสในข้อมูลข่าวสารเป็นพื้นฐานจำเป็นเบื้องต้นในการป้องกันการทุจริต ความโปร่งใสการตัดสินใจและกระบวนการการตัดสินใจ การจัดสรรงบประมาณอย่างเปิดเผยตรวจสอบได้ หลักการที่หก ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม (Equity) หลักการที่เจ็ด ภาระรับผิดชอบ (Accountability) หลักการที่แปด ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (Effectiveness and Efficiency)
แสดงความคิดเห็น