Posted: 30 Jan 2018 12:39 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน

ตอนสุดท้ายของชุดรายงานพิเศษ เมื่อ กทม.ใช้ฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหาพลเรือน ชวนดูที่มาและขอบเขตอำนาจ กอ.รมน. นายทหารฝ่ายข่าว กอ.รมน.กทม. ระบุ รับคำสั่งจากผู้ว่าฯ เข้าไปปราบปรามการขายพลุไฟตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ยังไม่กำหนดว่าจะออกตอนไหน ส่งผลกระทบต่อชุมชนแต่ชาวบ้านพูดไม่เหมือนกัน

ในภาวะที่ประเทศที่รัฐธรรมนูญระบุว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารมาจะเข้าปีที่ 4 และวันเลือกตั้งเลื่อนก็มีแต่จะเลื่อนออกไปเรื่อยๆ นั้น ก็ไม่รู้ว่าชุมชนป้อมมหากาฬที่ทุกวันนี้เหลือกันอยู่ไม่เกิน 50 คน กำลังพบกับภาวะไม่ปรกติหรือไม่ เมื่อลานกลางชุมชนมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) ไปตั้งเต็นท์ลายพรางประจำการตลอด 24 ชั่วโมงมาตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการจำหน่ายพลุไฟ สอดคล้องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากพลุไฟ

เต็นท์ของ กอ.รมน.กทม. ที่มากางในชุมชน

การเข้าไปประจำการของ กอ.รมน.กทม. ส่งผลกับความเป็นไปของชุมชนป้อมฯ อย่างชัดเจน เพียงแค่แต่ละคนพูดถึงผลกระทบไม่เหมือนกัน แต่ชี้ชัดว่ากิจการพลเรือนถูกหน่วยงานความมั่นคงเข้ามารับผิดชอบไปแล้ว

“อย่างวันนี้ (22 ม.ค. 2561) เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามา ตอนแรกก็บอกว่าจะดูเรื่องพลุ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างหมดไป แต่เจ้าหน้าที่มาเจาะแต่ละบ้าน ไปถามว่า เมื่อไหร่จะไป ผมจะเอาบ้านให้ตรงโน้นตรงนี้ ก็เจาะแต่ละบ้าน ทุกวันนี้ที่โล่งๆ ก็คือคนที่อยากไป แล้วยังมีที่จะออกไปอีก” สุภาณัช ประจวบสุข ผู้ที่ยังอาศัยในชุมชนระบุถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กทม. เธอยังระบุว่ารู้สึกกดดัน เหมือนถูกจับตามอง

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬและหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวระหว่างการประชุมกับภาคประชาชน นักวิชาการ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ 21 ม.ค. 2561 ว่า ช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมาตนอยู่กับความหวาดระแวงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว ในชุมชนป้อมฯ มีความเคลื่อนไหวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารมาประจำการในพื้นที่เพื่อปราบปรามการขายดอกไม้ไฟ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมามีการใช้อำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 ที่ใช้เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล เรียกตนเข้าไปพบกับ กอ.รมน.กทม. และเมื่อสองวันที่แล้วมีนายทหารไปคุยกับหญิงชราที่มีอาชีพขายของชำป้อมมหากาฬว่า ถ้าคุณไม่ย้ายออกจากที่นี่ คุณคือศัตรูของกองทัพ

พีระพล เหมรัตน์ อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ปัจจุบันย้ายออกมาอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาแม้นศรี หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ‘บ้านอิ่มใจ’ เป็นชื่อเดียวกันกับที่พักพิงคนไร้บ้านซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกัน กล่าวถึงเหตุผลการย้ายไปอยู่ที่บ้านอิ่มใจว่า “แฟลตนี้ไม่มีชุมชนอื่น เป็นสถานที่เร่งด่วนที่สั่งโดย รองนายกฯ ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) สั่งให้ กอ.รมน. มาดูที่นี่โดยเฉพาะ ให้ความสำคัญกับการหาที่อยู่ใหม่ให้คนในป้อม ให้อยู่สะดวกสบาย ก็มี เสธ. มาเดินดูหลายคน” พีระพลให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“เราก็สู้มา 25 ปีแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ เนื่องจากที่ตรงนั้น ข่าวสารและข้อมูลมันชัดเจนว่าไม่สามารถอยู่ต่อได้ในอนาคต เราและครอบครัวจึงปรึกษากันว่าไปดูที่อื่นไหม พอดีได้ที่ที่เกียกกาย หลังวัดแก้วแจ่มฟ้า มีที่ประมาณเกือบ 1 ไร่ เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งทางทหาร กอ.รมน. ก็ได้ดำเนินการขอเช่าที่ กรมธนารักษ์ก็ไม่ติดอะไร แต่ตอนนี้อยู่ในขบวนการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำการเช่าที่ จึงตัดสินใจออกมา” พีระพล กล่าว

กวี (นามสมมติ) ชาวชุมชนป้อมฯ ที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านอิ่มใจอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า เคยมีปัญหากับอดีตผู้นำชุมชนเมื่อครั้งที่ตนจะถอนเงินจากออมทรัพย์ชุมชนเมื่อจะย้ายออก แต่ก็โดนบ่ายเบี่ยง จนถึงกับต้องแจ้งตำรวจ และทางทหารได้ช่วยเหลือเขาไว้หลายเรื่อง ซึ่งกวีระบุว่า ทหารพึ่งพาได้มากกว่าตำรวจ เพราะทหารยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือเวลาที่ตนลำบาก โดยกวีได้ไปร้องเรียนเรื่องข้างต้นที่ กอ.รมน.กทม และเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.กทม ก็พาไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.สำราญราษฎร์

บทบาทของ กอ.รมน.กทม. ที่อ้างว่าเข้ามาปราบปรามการขายพลุไฟ และเรียกตัวอดีตผู้นำชุมชนเข้าไปพบตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ได้ เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามกับสังคมและหน่วยงานราชการฝ่ายพลเรือนได้สองประการ

หนึ่ง ภาวะเงียบงันของสังคมและหน่วยงานราชการฝ่ายพลเรือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงในกิจการพลเรือน สะท้อนความชินชากับการอยู่ใต้ระบอบคณะรัฐประหาร และวัฒนธรรมความมั่นคงที่ทหารเป็นใหญ่หรือไม่

สอง ความเงียบงันของสังคม และการตัดสินใจของ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ กอ.รมน.กทม. เข้าไปปฏิบัติการในชุมชนป้อมมหากาฬสะท้อนถึงการตีความด้านความมั่นคงในลักษณะกว้างมากถึงขนาดที่จะใช้หน่วยงานความมั่นคงแทนที่หน่วยงานพลเรือน แม้แต่ในเรื่องการจัดการการจำหน่ายพลุไฟและข้อสงสัยเรื่องการใช้อิทธิพลในพื้นที่่ชุมชนขนาดไม่เกิน 15 หลังคาเรือนใช่หรือไม่ หรือว่าลึกๆ มีเหตุปัจจัยที่ กทม. และ กอ.รมน.กทม. ยังไม่ได้บอกสาธารณชนกันแน่

ประชาไทชวนดูที่มาของ กอ.รมน. บทบาท และอำนาจของหน่วยงานความมั่นคงที่กินอาณาบริเวณมาถึงกิจการพลเรือน รวมทั้งเดินทางไปยังสำนักงาน กอ.รมน.กทม. ที่ศาลาว่าการ กทม. เพื่อสัมภาษณ์พันเอกวิโรจน์ หนองบัวล่าง หัวหน้าฝ่ายข่าวของ กอ.รมน.กทม. ถึงเหตุผลของการไปตั้งเต็นท์ประจำการในพื้นที่ และที่มาของอำนาจในการไปประจำการในชุมชน

กอ.รมน. 101: มาจากไหน มีบทบาท-อำนาจอะไรบ้าง

เว็บไซต์ของ กอ.รมน. ระบุว่า กอ.รมน. คือองค์กรที่แปรสภาพมาจากกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ใน พ.ศ. 2516 แต่ยังคงสืบต่อความรับผิดชอบในภารกิจป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปและภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์มีน้อยลงจึงได้ปรับบทบาทให้มีภารกิจด้านการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด จัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.)

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ระบุให้สถานะของ กอ.รมน. เป็น “ส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ” ใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรอง ผอ.รมน.

กอ.รมน.กทม. เป็นหน่วยย่อยในระดับจังหวัดของ กอ.รมน. โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน.กทม. (ผู้ว่าฯ ใน พ.ร.บ. หมายรวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ที่มีที่มาของการดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้ง ต่างจากจังหวัดต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง) ขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค มีหน้าที่รับผิดชอบความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาค โดยหน่วยปฏิบัติงานระดับภูมิภาคนั้นเป็นหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทั้งที่เป็นอัตราประจำและช่วยราชการ

มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้


ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป


อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและการดำเนินการต่อ ครม.


อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานตามข้อ 2 โดย ครม. จะมอบหมายให้ กอ.รมน. มีอำนาจในการกำกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามที่ ครม. กำหนดด้วยก็ได้


เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงเรียบร้อยของสังคม


ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่ ครม. สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

กอ.รมน. ปรากฏตามหน้าข่าวบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเครือข่ายความมั่นคง หรือการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในลักษณะต่างๆ ซึ่งสามารถนิยามในภาพรวมได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าไปปฏิบัติการในกิจการพลเรือน

กอ.รมน.งัดม.44 บุกค้นบ้านอดีต กมธ.ร่างรธน.50 หิ้วตัวสอบ มทบ.43 ทุ่งสง
ชัดเจน กอ.รมน. พร้อมนำมวลชนหนุน กรธ.ทำความเข้าใจร่าง รธน.
กอ.รมน. จัดตั้งเครือข่ายข่าวภาคประชาชนสอดส่องภัยความมั่นคง
กอ.รมน. แจ้งความ ‘จ่าประสิทธิ์’ ปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทหารไล่รื้อชุมชนคลองไทรฯ จี้ย้ายออกใน 7 วัน–องค์กรสิทธิฯ ระหว่างประเทศ ร้อง DSI คุ้มครอง
พวงทอง ภวัครพันธุ์: ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา
สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

ฝ่ายข่าว กอ.รมน.กทม. เผย รับใบสั่งจากผู้ว่าฯ กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และไม่มีกำหนดว่าจะย้ายออก

พันเอกวิโรจน์ หนองบัวล่าง

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พันเอกวิโรจน์ หนองบัวล่าง หัวหน้าฝ่ายข่าวของ กอ.รมน.กทม. กล่าวว่า กอ.รมน.กทม. อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ทาง กอ.รมน.กทม. ได้สังเกตการณ์มานาน และได้ส่งคนไปประจำการเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะอยู่ถึงเมื่อไหร่ โดย กอ.รมน.กทม. จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปราบปรามการขายพลุให้แล้วเสร็จ ซึ่งชาวชุมชนเองก็ยืนยันหลายปากว่าไม่มีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพลุไฟหรือยาเสพติด

“การที่ กอ.รมน. ไปตั้งเต็นท์ในพื้นที่ เพราะอดีตมีการทำผิดกฎหมายของประชาชนในป้อม มีการค้าขายและสะสมพลุ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมารายได้จากชุมชนในป้อมมาจากการจำหน่ายพลุ ทางเราก็ไปดำเนินกรรมวิธีตามกฎหมายว่า ไม่อยากให้ในป้อมมีการสะสมและจำหน่ายพลุ เราเลยเข้าไปอยู่ตรงนั้นเพื่อให้เห็นว่าเราทำตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งก็ทำสำเร็จ เพราะไม่มีคนขายและสะสมพลุในบริเวณนั้นอีกเลย รวมทั้งได้ไปตรวจพบและดำเนินการจับกุมบุคคลที่เป็นพ่อค้ารายใหญ่ที่อยู่ตรงบ้านบาตร ข้างวัดสระเกษที่เป็นแหล่งจำหน่ายและสะสมพลุจำนวน 7 คูหา มีพลุจำนวน 200 ตันที่นั่น เราก็ไปตรวจพบและจับกุมทั้งหมด เป็นการขยายผลจากชุมชน”

“เราก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าจะไม่มีการจำหน่ายพลุ ปัจจุบันสืบทราบว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายอยู่ คนที่เคยจับกุมไปแล้ว จากที่เคยมาขายที่ป้อมมหากาฬ หน้าร้านตัวเอง ตอนนี้ใช้กุฏิพระในวัดสระเกษเป็นที่เก็บ เดี๋ยวรอให้แน่ชัดก่อนจะไปจับให้หมดเลย”


เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของ กอ.รมน.กทม. ระบุว่า แม้ทาง กทม. จะเป็นเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว แต่ กอ.รมน.กทม. ก็มีหน้าที่รับผิดชอบทับกับ กทม. ในบางเรื่อง ในประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬนั้น กอ.รมน.กทม. ได้รับคำมอบภารกิจจากผู้ว่าฯ กทม. ที่สวมหมวกผู้อำนวยการ กอ.รมน.กทม. อยู่แล้วอีกใบ

“เขาเรียกว่าอยุ่ในความรับผิดชอบของ กทม. ในภาพรวม แต่ กอ.รมน. มีหน้าที่รับผิดชอบทับกับ กทม. ในบางเรื่อง เช่น ป้อมมหากาฬ ทางผู้ว่าก็ขอความร่วมมือมาทาง กอ.รมน. เพราะท่านก็เป็น ผอ. อยู่แล้ว ว่าช่วยเพ่งเล็งตรงนี้เรื่องการจำหน่ายพลุในป้อมเพิ่มเติมอีกภารกิจหนึ่ง โดย กอ.รมน.กทม. ได้มีการประสานงานกับส่วนกองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 1 ส่วนสำนักงานเทศกิจเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร และตำรวจ สน.สำราญราษฎร์”

คำตอบของวิโรจน์ในประเด็นบทบาทการไล่รื้อสะท้อนถึงทิศทางการจัดการพื้นที่และคนในชุมชนป้อมมหากาฬของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะเก็บเอาไว้แต่บ้าน ส่วนคนนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งแยกออกจากกัน

“ทราบว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ที่กรุงเทพฯ ได้เวนคืนหมดแล้ว ชุมชนป้อมที่เราไปอยู่ก็มี 15 ครอบครัว ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานดั้งเดิมจากคนในป้อม แต่เป็นคนมาเช่าบ้าน เช่น เมื่อก่อนมีคนเขมรมาเช่าบ้านหลังหนึ่งอยู่ พอเราเข้ามาเขาก็ให้ออกไป เราก็ให้ประชาชนที่เขารู้จักกันมาอาศัยแทน รวมทั้งคนในป้อมที่มีหลายกลุ่มที่เป็นผู้บุกรุกแต่เดิมแต่อยู่มานาน ก็เป็นเรื่องที่ทาง กทม. ต้องดำเนินการต่อไปในสิ่งที่ตามกฎหมาย แต่ผมก็ทราบมาว่า ในส่วนของบ้าน ทาง กทม. จะอนุรักษ์ไว้ แต่จะอนุรักษ์เป็นโบราณสถาน ไม่ให้คนอาศัย เป็นบ้านที่เขาเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และจะอนุรักษ์เอาไว้ ผู้บุกรุกทั้งหมดต้องออกไปจากบริเวณนี้”

“ทาง กทม. จะมีประวัติแต่ละบ้านว่าเป็นบ้านใคร จ่ายค่าชดเชย ค่าเวนคืนไปแล้วเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ จากข้อมูล กทม. มีบ้านที่ไม่ได้รับค่าเวนคืนอีกร้อยละ 25 หรือ 2 ครอบครัว จะจ่ายต่อเมื่อรื้อเท่านั้น ที่เหลือเป็นผู้บุกรุกทั้งหมด”

การรื้อบ้านหมายเลข 113 ในวันที่ 29 ม.ค. 2561

วิโรจน์ขยายความของผู้บุกรุกว่า เป็นคนที่เจ้าของบ้านเดิมให้เช่าบ้าน แล้วเจ้าของบ้านเดิมก็รับค่ารื้อถอนไปแล้ว แล้วก็ให้คนที่เช่าอยู่นั้นอยู่ต่อโดยไม่เก็บค่าเช่า คนที่อยู่โดยสถานภาพผู้เช่าก็กลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย เพราะไม่จ่ายค่าเช่าให้ กทม. และไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน “แต่ กทม. ก็ไม่ได้ใจร้ายนะ เมื่อคนเช่าเดิมย้ายออกจากที่เช่าเดิมก็จะได้รับค่าเสียสิทธิ์จำนวน 43,000 บาทเพื่อไปเช่าบ้านที่อื่นต่อ อันนี้คือที่ทราบมา”

แต่ในความเป็นจริง กอ.รมน.กทม. ก็มีหน้าที่เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนจากคนในชุมชนเหมือนกัน สะท้อนจากคำตอบของวิโรจน์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน.กทม. กับชุมชน “ก็มีหลายคนที่อยู่ในนั้นมาร้องว่า คนทั้ง 5 ครอบครัวเหมือนกับทำตัวเป็นเจ้านายเขาซึ่งเขาไม่ชอบ เราก็เลยเชิญเขามาพูดคุยว่ามีการร้องเรียนแบบนี้ มีเหตุผลอะไรที่ไปอธิบายให้ฟังไหม ก็ไกล่เกลี่ยแล้วยุติกันไป วันที่ 26 ม.ค. นี้ก็มีอีกเหมือนกันเพราะคนภายในปล่อยกู้เงินแล้วดอกเบี้ยเกินอัตรา ก็จะเรียกมาสอบถามกัน”

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่ กทม. พยายามเข้ารื้อบ้านหมายเลข 111 ในชุมชนป้อมฯ ธวัชชัยได้เดินทางไปยังศาลาคนเมืองเพื่อเข้าพบกับทาง กอ.รมน. หลังถูกเรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการมองหน้าเท่านั้น

เมื่อ 29 ม.ค. วิโรจน์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ชุมชนป้อมมหากาฬ ขณะที่มีการรื้อบ้านหมายเลข 113 ว่า กอ.รมน.กทม. เป็นหน่วยงานหลักที่ประสานงานหาที่อยู่ใหม่ให้กับผู้ที่ออกจากชุมชนป้อมฯ โดยที่จะเป็นบริเวณเกียกกาย ขนาดเกือบ 1 ไร่ เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะให้คนที่ไม่มีบ้านรวมเงิน และรวมตัวกันตั้งเป็นสหกรณ์ เก็บเงินสะสมรวมกันให้ได้ร้อยละ 10 ของราคาที่ แล้วยื่นเรื่องขอกู้เงินอีกร้อยละ 90 จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อเอาเงินจำนวนดังกล่าวมาสร้างบ้าน เช่าที่ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี แต่ต้องเป้นบ้านตามรูปแบบที่ พอช. กำหนด คือเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น วิโรจน์ระบุว่า การประสานกับอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นไปด้วยดี “เราประสานกับรองอธิบดีกรมธนารักษ์แล้ว ท่านก็เต็มใจในส่วน กอ.รมน. เข้าไปดำเนินการจัดการ ก็เต็มใจที่จะให้ที่ตรงนั้น”

ด้านอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ อาสาสมัครด้านกฎหมายของชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวถึงการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เรียกตัวบุคคลเข้าพบนั้นไม่สมควร เพราะคำสั่งดังกล่าวให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสภาพการณ์ เพราะทางชุมชนก็มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ส่วนภาพรวมการต่อสู้ระหว่าง กทม. กับชุมชนป้อมมหากาฬนั้นเป็นการต่อสู้เชิงนโยบายในประเด็นอัตลักษณ์ชุมชน ส่วนกฎหมายนั้นแม้เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ์ แต่ก็ได้บัญญัติไปบังคับใช้ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แล้ว ทาง กทม. เองนอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังมีภาระที่ต้องดูแลชาว กทม. ซึ่งชาวชุมชนป้อมมหากาฬเองก็เป็นคน กทม. เหมือนกัน

“ถ้าว่ากันด้วยกฎหมาย รัฐได้ออกกฎหมายเวนคืนซึ่งเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิ์ เพื่อเอาที่ดินไปทำเป็นที่สาธารณะ แต่ในเชิงนโยบายที่ต่อสู้กันคือการรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนเมือง เป็นเรื่องการต่อสู้เชิงนโยบายและการแก้ไขปัญหาชีวิตคนเมือง กทม. เองก็มีหน้าต้องทำตามกฎหมายเวนคืน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขคน กทม. ด้วย ซึ่งคนชุมชนป้อมมหากาฬก็เป็นคน กทม. ถามว่าวันนี้ถ้าเอาคนออกจากชุมชน เขาก็เป็นคนไร้บ้าน กทม. จะรับผิดชอบตรงนี้อย่างไร 25 ปีที่ผ่านมาก็เป็นการต่อรองทางนโยบาย ไม่ได้ต่อรองกฎหมาย เพราะกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2535 แล้ว” อภิชาต ระบุ

พื้นที่หัวป้อมที่เคยเป็นชุมชน ปัจจุบันถูกลาดยาง และเคยใช้เป็นที่ตั้งโรงครัว และสุขาสาธารณะเมื่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

ความเดิมตอนที่แล้ว: จุดเริ่มต้นของปมปัญหา อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบัน

ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. หน่วยทหาร-พลเรือน ของ กอ.รมน.กทม. เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ และยังคงปักหลักอยู่ที่ลานกลางชุมชนจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรมานั่งเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง

15 ม.ค. กทม. เข้ารื้อบ้านเลขที่ 63 ที่เจ้าของบ้านสมัครใจย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่สำนักงานประปาเก่าที่สี่แยกแม้นศรีที่ถูกจัดเอาไว้ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งในรั้วเดียวกันมีอาคารที่จัดเอาไว้เพื่อเป็นที่พักของคนไร้บ้าน เรียกว่า บ้านอิ่มใจ ทาง กทม. และ กอ.รมน.กทม. มีแผนที่จะใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ในย่านเกียกกายปลูกที่พักอาศัยให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ต่อ

ในวันเดียวกัน ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ถูก กอ.รมน.กทม. เรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครให้อยู่หรือย้ายจากชุมชนได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการที่ธวัชชัยมองหน้า และเพราะคนในชุมชนไม่พูดจาด้วย

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ปัจจุบันเหลือประชากรในป้อมจำนวน 10 หลังคาเรือน จำนวนคนราว 45 คน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม. มีแผนจะเข้ารื้อบ้านอีกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. 2561 โดยวานนี้ (29 ม.ค. 2561) มีการเข้าไปรื้อบ้านหมายเลข 113 ซึ่งเป็นบ้านของกวี (นามสมมติ) ที่เพิ่งย้ายออกไปอยู่บ้านอิ่มใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีชาวชุมชนที่ออกไปส่วนหนึ่งกลับมาพร้อมคนงาน โดยให้เหตุผลว่ามาป้องกันเหตุทะเลาะกันระหว่างคนที่จะย้ายออกและคนที่ยังอยู่

ในวันเดียวกัน สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่องมาตรการที่รัฐพึงปฏิบัติในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ โดยเดินทางไปยื่นที่ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม โดยขอให้กรรมการอนุรักษ์ฯ ปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง 4 ฝ่ายระหว่าง กทม. ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ นักวิชาการ และฝ่ายความมั่นคง ลงนามร่วมกันว่าด้วยการอนุรักษ์บ้านจำนวน 18 หลังเอาไว้ และให้พิจารณาเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนที่ถือเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ส่งหนังสือถึง 'บิ๊กป้อม' ดูแลชุมชนป้อมมหากาฬตามข้อตกลงเดิม
มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่
มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.