Posted: 18 Feb 2018 10:01 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
We Walk ตั้งวงคุยปิดท้ายการเดิน ชี้ประสบความสำเร็จเกินคาดเพราะประชาชนกำลังอึดอัดกับรัฐบาลเผด็จการและสามารถรวมประเด็นสำคัญให้เห็นภาพรวม ก้าวต่อไปคือสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน ทำความสะอาดรัฐธรรมนูญ ล้างความสกปรกที่ คสช. ทำไว้ และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม
ในที่สุดการเดินเท้า 800,000 ก้าวของ We Walk หรือเดินมิตรภาพก็จบลงไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา แม้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะไม่ยอมให้ใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรม ทว่า ในที่สุดกลุ่ม We Walk ก็ได้ใช้พื้นที่ของวัดป่าอดุลยาราม ในตัวเมืองขอนแก่นเป็นที่จัดกิจกรรมปิดท้ายแทน
นอกจากนิทรรศการบอกเล่าสถานการณ์ของประชาชนในแต่ละภูมิภาคที่ต้องเผชิญปัญหาจากการลงทุนของเอกชน กฎหมายและนโยบายรัฐ การบายศรีสู่ขวัญแล้ว ยังมีเรื่องราวการเดินเท้าตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นกว่า 400 กิโลเมตร
ช่วงบ่ายมีวงเสวนาปิดท้ายในหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนบนถนนประชาธิปไตย’ หนึ่งในผู้เสวนาคือจอน อึ๊งภากรณ์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เขากล่าวว่า การเดินครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหมาย ยิ่งผู้มีอำนาจพยายามกลั่นแกล้งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากเท่านั้น จอนสะท้อนประเด็นความสำเร็จออกมา 3 ประเด็นคือ
1.เป็นกิจกรรมที่แสดงว่าองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานคนละด้านมีความสามัคคีและสามารถทำงานร่วมกันได้
“เมื่อมารวมกันแล้ว มันกลายเป็นนโยบายแห่งชาติที่สำคัญมาก ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอเลย ไม่ว่ารัฐสวัสดิการ ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่กลั่นกรองมาจากความทุกข์ของประชาชนทั่วประเทศที่เคยเสนอมาแล้ว แต่ครั้งนี้เห็นเป็นภาพรวม”
2.คนที่เคยมีความคิดเห็นต่างกันสามารถมาร่วมกันได้ จุดยืนได้ถูกปรับจูนเป็นจุดยืนเดียวกัน
3.ได้หาหนทางฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน แม้ว่าจะโดนปิดกั้นทุกทาง แต่ก็ยังสามารถเดินมาถึงที่หมายจนได้ นี่คือความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม จอนแสดงความเห็นว่าสิ่งที่ท้าทายคือการทำให้เครือข่ายภาคประชาชนมีความเข้มแข็งกว่านี้ ทุกเครือข่ายที่มาเดินร่วมกันต้องวางแผนขยายและสร้างความเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะเป็นฐานของการมีส่วนร่วมมากขึ้น
“ปัญหาของไทยคือเราไม่มีพรรคการเมืองภาคประชาชน ในขณะนี้ พรรคการเมืองไม่ได้จากประชาชน แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองภาคประชาชนสามารถเกิดจากเครือข่ายประชาชนได้ เราต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นในระบบพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเสนอกฎหมายกี่ครั้งไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีตัวแทนภาคประชาชนที่แท้จริง”
จอนให้ความหวังว่า อย่าเพิ่งท้อแท้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ผลักดัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างโอกาสเกิดพรรคการเมืองภาคประชาชนในอนาคต
“ประเด็นคือแล้วรัฐธรรมนูญจะทำยังไง ตอน คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยึดอำนาจ ตอนนี้สี่ปีแล้ว สร้างมลภาวะทั่วประเทศ คือทำให้ทุกสิ่งอย่างสกปรก โดยเฉพาะระบบยุติธรรม ใช้ ม.44 เอาสมุนตัวเองไปเป็นสภาปลอม ทั้งหมดนี้สร้างมลภาวะต่อระบบยุติธรรม เราต้องรอทำความสะอาดในภายหลัง รัฐธรรมนูญเขียนอะไร แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นตรงกันข้าม เช่นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่พอประชาชนจะออกไปเดินตามถนนก็ถูกห้ามปราม ผมมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญนี้อยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ถึงยี่สิบปี แต่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม”
ด้านเดชรัต สุขกำเนิด จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เห็นว่าความสำเร็จของ We Walk ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เป็นความอึดอัดของผู้คนที่แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็เหมือนไม่มี รัฐบาลจะออกคำสั่งอะไรก็ออก ประชาชนจะเดินก็จับด้วยคำสั่ง 3/2558 เหมือนไม่มีกฎหมาย
“แต่ We Walk ก็แหวกออกมาได้ ออกมาสู่สิทธิเสรีภาพของประชาชนจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง และต้องขยายไปสู่กรณีอื่นๆ อย่างเอ็มบีเค 39 ราชดำเนิน เราต้องสื่อสารว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินไปอย่างสงบสันติ ปราศจากอาวุธ ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ คสช. ไม่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ”
ปัจจัยความสำเร็จประการต่อมาคือเนื้อหาที่ We Walk เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ We Walk ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก เดชรัต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“เงินที่รัฐบาลนำให้เป็นเบื้อยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 8 ล้านคน 6 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ข้าราชการ 7 แสนคน ได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาล 195,000 ล้านบาท แต่ที่ประชาชนเราเรียกร้องบำนาญแห่งชาติแค่เส้นความยากจนที่ 2900 บาทต่อเดือน แต่ข้าราชการสามสี่ห้าหรือหกหมื่นบาทต่อเดือน นี่คือความไม่เท่าเทียม และคนจำนวนมากอยากเปลี่ยนสิ่งนี้ เราต้องก้าวต่อไป”
ประเด็นลักษณะนี้มักถูกตั้งคำถามว่าจะเอาเงินงบประมาณจากไหน เดชรัต กล่าวว่า
“แล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากไหน ปีที่แล้วเราขาดดุลงบ 5 แสนกว่าล้าน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ คำตอบคือเราลดหย่อนภาษีให้นักลงทุนปีละ 22,000 หมื่นล้าน เราต้องเอากลับมา ถ้าเราเก็บภาษีที่ดินที่ตอนนี้ถูกชะลอ ถ้าเก็บไร่ละ 1,000 บาท จะมีเงินจากภาษีที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท นอกจากยังต้องเอาเงินกลับคืนมา เงินที่ให้นักลงทุน ให้ข้าราชการ เอาคืนมา แล้วจัดสรรให้เท่าเทียมและเป็นธรรม”
ขณะที่กิติมา ขุนทอง สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ ส่วนตัวมองว่าเป็นความผิดเพี้ยนของคนมีอำนาจที่กำลังบอกว่ากำลังก้าวสู่ประชาธิปไตย แต่กลับไม่เข้าใจและไม่ศรัทธาประชาธิปไตย จึงไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
“มันเป็นความจนตรอกที่เราถูกผลักออก ตัวเองสัมพันธ์กับประเด็นเหมืองโปแตส โรงงานน้ำตาล เราเคยขอความเป็นธรรมต่อรัฐ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการฟ้องร้องชาวบ้านที่เลย ที่ชัยภูมิ ที่กุสุมาลย์ หรือตอนเราไปชี้แจงที่ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการ) เป็นบรรยากาศที่ควรมีส่วนร่วม แต่เราถูกปิดกั้น แล้วมีเวลาพูด 15 นาที พูด 10 คน แล้วเราจะบอกเรื่องราวอย่างไร จะจัดนิทรรศการเรื่องข้าวก็ทำไม่ได้ เราถูกลดทอนความเป็นคน ดังนั้น การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราออกมาเคลื่อนไหวเพื่อบอกว่าเราเผชิญอะไรอยู่”
กิติมายังตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงมีความสำคัญมากคิดเป็นร้อยละ 70-80 ทำไมผู้หญิงจึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสาธารณะมากขึ้น นั่นเป็นเพราะผู้หญิงต้องดูแลปากท้องของครอบครัว มันหมายถึงการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงอาหาร ต้องดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว แต่สถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่กำลังเผชิญคือการถูกปล้นทรัพยากร ถูกกีดกันจากสวัสดิการของรัฐ การออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเพราะประเด็นเหล่านี้กระทบต่อบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง
“พออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ รัฐที่ไม่เข้าใจจึงกลัวมาก ปิดกั้น ข่มขู่ วิธีการเหล่านี้สะท้อนความกลัวของรัฐต่อประชาชน ที่ใดมีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่นั่นย่อมมีการขัดขืน”
แสดงความคิดเห็น