Posted: 18 Feb 2018 10:03 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย รุดยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ต่อรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุการมีโรงงาน และโรงไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2561 ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เข้ายืนหนังสือต่อ วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ โดยได้มีการยืนหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้าชีวมวลขนขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่มีแผนโครงการจะสร้างขึ้นที่บ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นรอยต่อกับตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ใกล้ชุมชนและนำล้ำเซบาย และจะมีกระบวนการแย่งชิงน้ำลำเซบายจากการอุปโภคและบริโภค

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นขัดกับหลักจังหวัดยโสธรที่ได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนา (Positioning) เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งให้จังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล มาอย่างต่อเนื่อง โดยพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยจังหวัดยโสธรมีกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน ปัจจุบันจังหวัดยโสธรมีพื้นที่ที่ ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 46,626 ไร่ อยู่ในพื้นที่อำเภอกุดชุม มหาชนะชัย ค้อวัง ป่าติ้ว ทรายมูล ไทยเจริญ และ เลิงนกทา และมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีศักยภาพเข้มแข็งและได้รับการรองรับมาตรฐานสากล จำนวน 10 กลุ่ม สมาชิก 3,000 ราย จังหวัดยโสธรจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธรสู่สากล เพื่อมุ่งขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้ได้ 100,000 ไร่ ภายในปี 2561

มะลิจิตร กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธรดำเนินการในรูปแบบประชารัฐมีการบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และองค์กรเกษตรกร ซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์จังหวัดยโสธรที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ จากผลการดำเนินงานส่งเสริมข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลักทั้ง 10 กลุ่ม ประมาณ 3,000 ราย มีความสุข ความพึงพอใจในหลายด้าน เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้น สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ความต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูข้าวมากขึ้น ตลาดผู้บริโภคให้การยอมรับ ผลผลิตไม่มีความแตกต่างจากผลิตข้าวเคมีมากนัก แต่สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศดีขึ้นตามธรรมชาติ

นวพร เนินทราย เลขากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามกระบวนการต่างๆ ขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ไม่ถูกต้อง ในขณะที่ชาวบ้านทุกคนตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้ ก็เพื่ออยากสื่อสารให้รัฐมนตรีได้รับรู้ว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเป็นอีกพื้นที่ในการชูเรื่องเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ และชาวบ้านจะปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อไม่อยากให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งผมมองว่าการที่ชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มเพื่ออยากจะสื่อสารถึงสารธารณะว่าการคัดค้านโรงงานเรามองว่ากระบวนการทำ EIA ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น ทั้งนี้การชุมชนมีความกังวลการใช้น้ำจากลำเซบาย มีการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งปริมาณน้ำลำเซบายไม่เพียงพอต่อกิจกรรมของชาวบ้าน และสถานการณ์น้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ขาดรายละเอียดการใช้น้ำของชุมชนโดยรอบ ทำให้ชาวบ้านตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และเกิดการบริหารจัดการน้ำร่วมกันมาโดยที่เป็นลายลักษณ์อักษรคือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันในบริหารจัดการน้ำภาครัฐและประชาชนในท้องที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ เรื่องน้ำในอนาคต ควรมีการรับฟังและมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนพื้นที่นั้นๆ ให้ร่วมตัดสินใจด้วย เพราะการดำเนินการก่อสร้าง/ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางระบบนิเวศตลอดสายน้ำ ต้องมีการมีการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนพื้นที่ก่อนเสนอโครงการ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไป โครงการอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการใช้น้ำในปริมาณมากต่อวัน และต้องมีบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด นี้ก็เช่นเดียวกัน แม้โครงการจะมีมาตรการเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำของโรงงานอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่มาตรการป้องกันปัญหาให้ชุมชนแต่อย่างไร กลับเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำรายใหม่(ใช้น้ำปริมาณมาก) กลับเป็นการเพิ่มปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการขอใช้น้ำของโครงการฯนี้ จะไม่เกิดผลกระทบตามต่อชาวบ้าน สมมุติหากโครงการโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งในอนาคต ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำใช้เพียงพอ แต่ชาวบ้านโดยรอบมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ยังจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีร่าง พรบ.น้ำ ฉบับปี 2560 ที่มีการกำหนดระเบียบการใช้น้ำ ให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ผันน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และเป็นการตีค่าทรัพยากรน้ำให้ด้อยคุณค่าเหลือเพียงปัจจัยการผลิตในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น

สิริศักดิ์ ทิ้งทายว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเล็งเห็นว่า “น้ำคือชีวิต” น้ำเป็นปัจจัยต้นทุนของวิถีชีวิต อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่พึ่งพิงลำน้ำแห่งนี้ดำรงชีพทำมาหากิน และลำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนตลอดสายน้ำ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการอนุญาตให้ใช้น้ำ/ผันน้ำ/สูบน้ำ จากลำเซบาย แก่ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพราะส่งผลกระทบต่อวงจรการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลอดจนระบบนิเวศแวดทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ยินยอมให้โรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นใช้น้ำจากลำเซบายโดยเด็ดขาด และคัดค้านที่จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.