Posted: 18 Feb 2018 12:56 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
นับแต่ต้นปี 2561 รัฐบาล คสช. ต้องเผชิญกับแรงกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นับแต่ปมนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จนป่านนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากพลเอกประวิตร จนถึงความไม่พอใจของประชาชนจากที่มีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน จากที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
ท่ามกลางแรงกดดันดังกล่าว เครื่องมือหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลนำมาใช้ก็คือ การแจ้งข้อหาคดีอาญากับผู้รณรงค์ “อยากเลือกตั้ง” ทั้งในการชุมนุมที่สกายวอล์คเมื่อวันที่ 27 มกราคม และที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฐานขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558
จึงเป็นการสมควรที่สังคมจะหันมาตั้งคำถามว่า บรรดาคำสั่ง คสช.ที่ออกมายังมีความชอบธรรมอยู่หรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งมีเนื้อหาขัดกับหลักการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ก่อนอื่นคำสั่ง คสช.ที่ 3 /2558 นั้นมีรายละเอียดหลายข้อ แต่ข้อที่ถูกนำมาใช้บ่อยคือข้อ 12 ที่พูดภาษาให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การออกคำสั่งนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก เพราะเมื่อคณะรัฐประหารเข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ ก็ย่อมไม่ต้องการให้เกิดการชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจของตัว การต่อต้านจึงมีบ้างแต่ไม่กว้างขวาง อีกส่วนหนึ่งก็เพราะประชาชนคาดว่า คสช.คงเข้ามาใช้เวลาไม่นานในการจัดระเบียบการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว
ดังนั้นเมื่อมีการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ความคาดหวังเรื่องการเลือกตั้งย่อมสูงขึ้น เมื่อมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปถึงปี 2562 ความไม่พอใจย่อมมีสูง การแสดงออกโดยใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง จึงเกิดขึ้น โดยในรัฐธรรมนูญเขียนถึงเสรีภาพในการชุมนุมไว้ว่า
“มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี”
ตามรัฐธรรมนูญข้างต้น การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ทำได้เฉพาะการชุมนุมนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง ความปลอดภัย หรือศีลธรรม ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ครอบจักรวาลห้ามการชุมนุมทุกชนิด เพราะเกรงว่าจะเป็นการต่อต้าน คสช. จึงเป็นคำสั่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
คสช.อย่าเข้าใจผิดว่า ความมั่นคงของรัฐบาลหรือความมั่นคงของ คสช. เท่ากับความมั่นคงของรัฐ เหมือนกับที่พลเอกประวิตร เพิ่งพูดออกมาผิดๆ ว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะรัฐบาลหรือ คสช. เป็นเพียงผู้ใช้อำนาจรัฐ เหมือนกับรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่ชุด ตัวรัฐไม่ได้ถูกทำลาย
ประชาชนที่ทวงสัญญาการเลือกตั้ง จึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะพวกเขาอยากให้มีรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจรัฐตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้าม คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ต่างหากที่กร่างและขัดรัฐธรรมนูญ
และถ้าพิจารณาลงลึกต่อไปก็จะทราบได้ไม่ยากว่า ประชาชนที่แสดงตัวอยากให้มีการเลือกตั้งนั้น คือคนที่เคยรณรงค์โหวตโนเมื่อคราวลงประชามติ ปี 2559 เพราะเขาเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มีกลไกที่เอื้อกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.อยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น สว.จากการแต่งตั้ง การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แถมยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก แต่ครั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ พวกเขาก็ยังต้องยอมรับ และอยากให้เลือกตั้งโดยเร็ว คสช.ที่ดูจะพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ควรที่จะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป
หากนายกรัฐมนตรีจะทำท่าจำไม่ได้ว่า ตัวเองเคยให้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งวันไหนเวลาไหน มากี่ครั้งแล้ว ผู้เขียนไม่ขอทบทวนยาว แต่จะขอทบทวนความจำครั้งสุดท้ายที่นายกฯ พูดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อมีการผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า จะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และมีจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งสื่อมวลชนหลายแขนงต่างลงข่าวตรงกัน
มากกว่านั้น ในเดือนธันวาคม 2560 ที่สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ออกแถลงการณ์ฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลตามลำดับนั้น ในแถลงการณ์นั้นก็ยังอ้างถึงคำพูดของพลเอกประยุทธ์ ด้วยซ้ำว่า “คณะรัฐมนตรีฯ [แห่งสหภาพยุโรป] ยอบรับแถลงการณ์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีฯ เรียกร้องให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เคารพกำหนดการการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ” (ประชาชาติธุรกิจ 11 ธันวาคม 2560)
ถ้าจะพูดภาษาชาวบ้าน แถลงการณ์ของอียู ก็คือ การนำคำพูดของพลเอกประยุทธ์มาผูกมัดให้พลเอกประยุทธ์ต้องทำตาม ดังนั้น เมื่อมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปถึงปี 2562 จึงเป็นการเสียสัตย์ของผู้นำประเทศ ที่ทำให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ
ดังนั้น การที่ประชาชน “อยากเลือกตั้ง” จะแสดงออกเพื่อทวงสัญญาการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตรงกันข้าม เขาอยากให้รัฐไทยมีความมั่นคงในสายตาของนานาประเทศ ในความหมายที่ว่า ยังมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่รับปากใครแล้ว เชื่อไม่ได้
นอกจาก คสช. ควรยุติการตั้งข้อหากับประชาชนอย่างขาดหลักกฎหมายแล้ว อย่างใช้คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ การตั้งข้อหาแกนนำบางคนด้วยข้อหา ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือที่มักพูดกันว่า ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก็ควรจะถูกยกเลิกด้วย
ป. อาญา มาตรา 116 นี้ หากอ่านตัวบทจริงๆ จะพบคำสำคัญที่เป็นมูลเหตุของความผิด เช่น การกระทำที่ “ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” “เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย” “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร”
วิญญูชนผู้มีเหตุผล คงตัดสินได้ไม่ยากว่า การรณรงค์อยากให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญหรือไม่ การยืนชูป้ายอยากเลือกตั้งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่ การเรียกร้องให้เลือกตั้ง จะเป็นการก่อความไม่สงบหรือไม่
เมื่อการเรียกร้องการเลือกตั้ง ไม่เข้าข่ายหรือใกล้เคียงที่จะเข้าข่ายกับความผิดมาตรา 116 ก็ไม่ควรจะมีการตั้งข้อหาตั้งแต่ต้น คงมีแต่ผู้ที่เคยชินกับการเข้ามามีอำนาจด้วยการใช้รถถังเท่านั้น ที่เมื่อได้ยินคำว่า “อยากเลือกตั้ง” แล้วบอกว่า เป็นการใช้กำลังข่มขืนใจ ประทุษร้าย
ผู้เขียนขอยืนยันอีกครั้งว่า การตั้งข้อหาต่างๆ ต่อผู้รณรงค์อยากเลือกตั้งนั้น เป็นการตั้งข้อหาที่ไม่มีมูลเหตุสมควรตั้งแต่ต้น สังคมไม่ควรยอมให้ คสช.เข้าใจผิดทึกทักว่า ความมั่นคงของรัฐบาล คสช. เท่ากับความมั่นคงของรัฐ
คำสั่ง คสช. ต้องไม่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ.
แสดงความคิดเห็น