Posted: 04 Feb 2018 04:34 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
หรือจริง ๆ แล้วการจำกัดศิลปะต่างหากที่เป็น 'อาชญากรรม' อย่างน้อยก็ในมุมมองของฝรั่งเศส เมื่อเฟซบุ๊กถูกพิจารณาคดีในฝรั่งเศสกรณีที่พวกเขาถูกฟ้องร้องข้อหาละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก หลังจากที่พวกเขาลบบัญชีผู้ใช้ชาวฝรั่งเศสรายหนึ่งที่โพสต์รูปภาพศิลปะที่มีโยนีอยู่ในรูป ทนายความตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเฟสบุ๊คถึงปล่อยให้ความรุนแรงคงอยู่ในโซเชียลของตัวเองได้ แต่กลับจริงจังเหลือเกินกับการเปิดเผยเรือนร่างและรูปนู้ด
4 ก.พ. 2561 เป็นคดีความที่มีอายุมากกว่า 7 ปี แล้วหลังจากที่เฟสบุ๊คทำการปิดบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวของครูชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ เฟรเดริก ดูฮอง-ไบส์ซาส โดยไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ ในปี 2554 เพียงเพราะเขาโพสต์รูปถ่ายงานศิลปะที่มีโยนีประกอบ ซึ่งเป็นผลงานของกุสตาฟ กูร์แบ ที่มีชื่อว่า "ต้นกำเนิดของโลก" (L'Origine du monde) โดยมีการทำลิงค์ต้นทางถึงวิดีโอรายงานข่าวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะนี้
เรื่องนี้ทำให้สื่อ France24 ตั้งคำถามว่าหรือเฟสบุ๊คจะสับสนว่าอะไรเป็นศิลปะ อะไรเป็นสิ่งลามก จากการเซนเซอร์รูปจิตรกรรมสีน้ำมันที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และในเรื่องนี้ก็ทำให้ในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมามีการพิจารณาคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่ง France24 ระบุว่ามันอาจจะทำให้เฟสบุ๊คได้รับบทเรียนความรู้เกี่ยวกับศิลปะบ้าง
นอกจากกรณีของดูฮอง-ไบส์ซาสแล้ว ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คยังเคยปิดบัญชีผู้ใช้ของประติมากรชาวเดนมาร์ก โฟรดา สไตนนิกค์ ด้วยสาเหตุคล้าย ๆ กันเกี่ยวกับกฎห้ามรูปโป๊เปลือยในเฟสบุ๊ค จนกระทั่งต่อมาเขาก็เข้าสู่บัญชีผู้ใช้ได้อีกครั้งแม้ว่าจะถูกลบเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาเรื่องโป๊เปลือยออกไปก็ตาม
แต่ดูฮอง-ไบส์ซาสก็ไม่พอใจที่เขาถูกระงับบัญชีผู้ใช้จึงฟ้องร้องเฟสบุ๊คในเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 บนฐานเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้มีการต่อสู้ทางกฎหมายมาเป็นเวลาาวนาน 5 ปี โดยอาศัยฐานการพิจารณากฎหมายจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เป็นตัวตั้ง เนื่องจากบริษัทเฟสบุ๊คตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย
สเตฟาน คอตตินิว ทนายความของดูฮอง-ไบส์ซาส เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่าขณะที่เฟสบุ๊คอนุญาตให้มีความรุนแรงและแนวคิดรุนแรงในโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่กลับเข้มงวดอย่างมากกับเรื่องการเผยเรือนร่างและรูปนู้ด
รูปนี้มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 2409 มีการตัดสสมมุติฐานว่าผู้ที่สั่งให้วาดน่าจะเป็น คาลิล เบย์ ทูตอาณาจักรอ็อตโตมันในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งหลังจากนั้นสภาพการเงินร่อแร่ของเบย์เนื่องจากการพนันก็ทำให้เขาขายภาพนี้ออกไป มีครั้งหนึ่งที่ผู้ซื้อภาพนี้คือนักจิตวิเคราะห์ชาร์ค ลากอง จากการประมูลในปี 2498 หลังจากที่ลากองเสียชีวิตมันก็กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ออร์แซอย่างเป็นทางการในปี 2538
พิพิธภัณฑ์ออร์แซที่อยู่ในกรุงปารีสระบุถึงผลงานชิ้นนี้ว่าลักษณะรายละเอียดเชิงกายวิภาคของอวัยวะเพศไม่ได้ดูโจ่งแจ้งน้อยลงเลย แต่ด้วยความชำนาญเป็นพิเศษของกูร์แบและความปราณีตของการใช้สีอำพันของเขาก็ทำให้ภาพวาดนี้ต่างออกไปจากรูปอนาจารทั่วไป
กูร์แบเป็นหนึ่งในศิลปินผู้พยายามเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการแสดงออกรูปเปลือยในงานศิลปะแทนที่จากเดิมที่มักจะทำให้ดูนุ่มนวลและเป็นภาพเปลือยในแบบอุดมคติ แต่กูร์แบบอกว่างานศิลปะของเขาจะนำเสนอภาพเหล่านี้ให้ดูสมจริงและโจ่งแจ้งมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแรงสะเทือนจนมีการเซนเซอร์เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันหลายครั้ง เช่น ในปี 2552 ก็เคยมีกรณีตำรวจโปรตุเกสยึดหนังสือที่มีรูปภาพ "ต้นกำเนิดของโลก" อยู่บนหน้าปก โดยอ้างกฎหมายห้ามสิ่งลามกอนาจาร แต่การกระทำของตำรวจก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมา
เรียบเรียงจาก
'Origin of the world': Facebook on trial over Courbet's vagina, France 24, 01-02-2018
http://www.france24.com/en/20180201-france-facebook-art-censorship-culture-origin-world-trial-over-courbet-vagina-painting
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/L%27Origine_du_monde
แสดงความคิดเห็น