ซ้ายไปขวา: ปกรณ์ อารีกุล ประสิทธิชัย หนูนวล พนัส ทัศนียานนท์ อังคณา นีละไพจิตร จักรพล ผลละออ

Posted: 18 Feb 2018 10:52 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วงถกเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมระบุ คำสั่งหัวหน้า คสช. งดเว้นทำ EIA หวั่นรัฐบาลฮั้วเจ้าของโครงการ EIA ทำอย่างไรก็ผ่านเพราะเจ้าของโครงการจ้างทำ โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้กระทบทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมแยกกับการเมืองไม่ออก ปฏิบัติการของ จนท. ไปคาดโทษชาวบ้าน กองทุนยุติธรรมเข้าถึงยาก คสช. ไม่อดทนกับการตั้งคำถาม

เมื่อ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาหัวข้อ 'อนาคตสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนไทยใต้เงา คสช.' จัดขึ้นโดยวิชาระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ร่วมกับพรรตใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) มีปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อังคณา นีละไพจิตร จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยจักรพล ผลละออ
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ติง ใส่คำสั่งหัวหน้า คสช. งดเว้นทำ EIA ใน พ.ร.บ. หวั่นรัฐบาลฮั้วเจ้าของโครงการ

พนัสกล่าวว่า สิทธิชุมชนได้รับการยอมรับมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้รับรองสิทธิชุมชนอย่างชัดเจนและขยายขอบเขตกว้างขวางกว่าฉบับ 2540 ในมาตรา 66 นอกจากสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ยังได้รับรองสิทธิชุมชนทุกประเภท ที่สำคัญคือไม่มีการกำหนดบทบาทของรัฐว่า 'ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ' คือไม่มีช่องให้ไม่คุ้มครองสิทธิชุมชนไม่ทำหากไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สิทธิชุมชนได้รับการยอมรับในมาตรา 43 ส่วนที่เกี่ยวกับวงเล็บ 1 และ 2 เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งมีใน 2550 นอกเหนือจากนั้นยังมีการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ และจัดให้มีระบบสวัสดิการชุมชน แต่มีข้อสังเกตว่า สิ่งที่หายไปก็คือสิทธิชุมชนในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล

ในส่วนที่ 4 เรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเห็นได้ว่าสอดคล้องกันระหว่างสิทธิกับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่น่าจะก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะมีการกำหนดหน้าที่ของรัฐด้วย แต่ก็มีข้อสังเกตในเรื่องการประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA, EHIA) แต่ในมาตรา 57 ที่ระบุว่าหน้าที่การประเมินผลกระทบว่าโครงการจะมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ในเบื้องต้นคงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าของโครงการ อันนี้เชื่อว่าต่อไปจะเป็นประเด็นที่จะมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น และคงจะฟ้องต่อศาลปกครองถ้าหากยังไม่มีการตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ส่วนในมาตรา 72 ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐ ให้รัฐพึงดำเนินการประการต่างๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อบังคับ เพราะใช้คำว่า “พึง” คือไม่ทำก็ได้

พนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ที่ไปแก้ไข พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม) แสดงให้เห็นชัดว่า คสช. เอง คิดว่ากฎหมายว่าด้วยเรื่อง EIA เป็นอุปสรรคในการริเริ่มโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลต้องรีบเร่งทำเพื่อปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็มีภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนก็ไม่เห็นด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการประนีประนอมกันระหว่างรัฐบาลกับเจ้าของโครงการ
“ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่งการชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”

(เนื้อความในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559)

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์กล่าวว่า พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ได้รับการบัญญัติหลัง NGO โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เริ่มนำเสนอว่าควรมีการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งประจวบเหมาะกับปี 2535 สมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เลยมีการแก้ไขกฎหมาย ยกร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมในปี 2535 ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และมีปัญหาในการบังคับใช้มากทีเดียว ในประเด็นเรื่องการใช้สิทธิชุมชน ในอดีตไม่มีกฎหมายฉบับใดที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าไปบริหารกิจการบ้านเมือง เพิ่งมาเกิดในปี 2530 กว่าๆ และเป็นกระแสต่อเนื่องจนมาเป็นกฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะประกันสิทธิชุมชนมากขึ้นกว่าเดิมถ้าดูตามตัวหนังสือ แต่โดยสาระจริงๆ จะขึ้นจริงหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องถกกันต่อไป
EIA ทำอย่างไรก็ผ่าน เพราะเจ้าของโครงการจ้างทำ อัด สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะเทือนปากท้อง สุขภาพ เศรษฐกิจทั้งประเทศ

ประสิทธิชัยกล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตนคิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องคนไปทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการจัดสรรโครงสร้างอำนาจและกลุ่มทุนในยุค คสช. กลายเป็นกติกาและพลังอำนาจที่จะไปจัดการสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าเป็นแค่หนึ่งในตัวขับเท่านั้น

สิ่งที่เป็นปัญหามากระหว่างการต่อสู้ของประชานเรื่องของ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 คือเรื่อง EIA ที่เป็นข้อขัดแย้งทั่วประเทศ ทำที่ไหนก็ตีกันที่นั่น เพราะขั้นตอนและข้อกำหนดทุกอย่างเป็นปัญหา เจ้าของโครงการจ้างบริษัทมาทำ EIA ให้ แล้วจ่ายเงินตอบแทนเป็นงวด EIA ในไทยจึงไม่มีฉบับไหนที่ไม่ผ่าน เปรียบเทียบเหมือนทำการบ้านส่งครู และผู้ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชำนาญการในการทำรายงานดังกล่าวกลับไม่รู้จักบริบท รายละเอียดต่างๆ ในพื้นที่ มันก็ผ่านทุกฉบับ การพูดเรื่องพลังงานอ้างอิงข้อมูลในปี 2542 ในรายงานราคาพลังงานหมุนเวียนแพงมาก แต่ข้อมูลล่าสุดในรอบห้าปีไม่ได้ถูกอ้างอิง ถ้าสมมติว่าเราแก้ พ.ร.บ. ปี 2535 ให้ผู้ที่ทำรายงานต้องเป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับผู้รับจ้าง ก็อาจมีส่วนให้ข้อเท็จจริงปรากฏ

ความเลวร้ายมีมากขึ้นในยุค คำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ที่ยกเลิกการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท กระบี่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้หากอิงตามกฎหมายผังเมือง เพราะเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลนี้ก็ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในกิจการพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงสร้างได้ นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไปแก้กฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ประการถัดมา เวลาทำรายงานสิ่งแวดล้อมจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในเวทีรับฟังความเห็นที่เทพากับกระบี่มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารนับพัน อาวุธครบมือ ที่เทพามีทั้งลวดหนามและรถถัง ส่วนที่กระบี่ต้องไปตากแดด 3-4 ชั่วโมง เพราะเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ ถูกตรวจอาวุธ กระบวนการมีส่วนร่วมในยุคนี้จึงไม่มีอยู่จริง พอเกิดภาวะแบบนี้ก็ทำให้กระบวนการตามกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าผ่านได้ง่ายขึ้น

ประสิทธิชัยกล่าวต่อไปว่า เดิม พ.ร.บ. 2535 ว่าด้วยการจัดทำรายงาน EIA มันก็ผ่านง่ายอยู่แล้ว พวกตนเคยไปล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุที่ว่าบริษัทไม่มีความชอบธรรม เพราะในกฎหมายเขียนว่าจะต้องให้เวลาประชาชนเท่าไหร่ บริษัทต้องชี้แจงเท่าไหร่ และมันไม่เป็นไปตามกติกา ก็เลยไปล้มเวที เหลือผู้สนับสนุนโครงการเพียง 10-20 คน เราก็นึกว่าจะไม่ผ่านเพราะกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ครบ แต่ปรากฏว่าผ่าน เลยไม่รู้ว่ามีมาตรฐานอะไรในการจัดทำ EIA

สิทธิของเราถูกทำลายลงจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการมันก้าวหน้าจนจะนำไปสู่การก่อสร้างแล้ว แม้หลายวันก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่าจะเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไป 3 ปี แต่ในระหว่างที่เลื่อน กฟผ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการจัดทำ EIA ได้ มันก็เท่ากับไม่เลื่อน เพราะในกรณีของ จ. กระบี่ต้องใช้เวลาทำ EIA สามปีอยู่แล้ว ของเทพา EIA เสร็จไปแล้วสองฉบับ การเลื่อนไม่มีนัยอะไรเลย เหมือนกับบอกชาวบ้านว่าให้หยุดชุมนุมได้แล้ว เพราะเราเลื่อนแล้ว แต่ก็ปล่อยให้ กฟผ. ดำเนินการต่อ เหมือนมัดมือคนหนึ่งแล้วปล่อยมืออีกคนหนึ่งให้ชกอยู่ฝ่ายเดียว และถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นจริง ชาวบ้านราว 1,000 คนในพื้นที่เทพาที่เป็นชุมชนมุสลิมจะถูกย้ายไปที่ไหนไม่รู้

สำหรับกระบี่ ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ กระบี่ตั้งอยู่พื้นที่ทะเลอันดามันที่กระแสน้ำและกระแสลมเชื่อมกันหมดตั้งแต่สตูลถึงระนอง เวลาขนถ่านหินจากอินโดนีเซียจะมาทาง จ.ตรัง แล้วถ้าเรือล่ม กระแสลมและคลื่นจะพามาถึงอ่าวพังงา ก็หายนะกันหมด กระบี่ พังงา ภูเก็ต สามจังหวัดนี้ทำรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศได้ปีละ 5 แสนล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงานแสนตำแหน่ง รัฐบาลนี้มีปัญญาทำรายได้ 5 แสนล้านจากไหนแบบที่ไม่ต้องลงทุนอะไร เพราะการท่องเที่ยวมันมาจากธรรมชาติ เพียงแค่รักษาธรรมชาติไว้ก็จะสามารถสร้างรายได้และการจ้างงานจำนวนมหาศาล

ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่ อันดามันทั้งอันดามันจะได้รับผลกระทบ พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติในอันดามันที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญจำนวน 1.5 ล้านไร่ ไล่มาตั้งแต่ตรังจนถึงระนอง ถ้าแหล่งชุ่มน้ำตรงนี้ปนเปื้อนเมื่อไหร่ ระบบอาหารเจ๊งทันที ผู้บริโภคอาหารทะเลจากภาคใต้ อันดามันและอ่าวไทย ถ้าอ่าวไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ส่วนอันดามันมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ผู้บริโภคจะได้รับอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารพิษ ได้รับผลกระทบทั่วถึงกันไปหมดจากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ พี่น้องจึงได้มาประท้วงกันที่กรุงเทพฯ หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงอดอาหาร เพราะว่าพี่น้องที่ภาคใต้ลองมาทุกวิธีแล้วก็ยังไม่ได้ผล หนังสือกองที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นร้อยฉบับแล้ว เลยใช้วิธีเอาความยากลำบากของชีวิตไปแลกกัน
แมน NDM ระบุ เคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมแยกกับการเมืองไม่ออก คนรุ่นใหม่ยังติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ปกรณ์กล่าวว่า เราน่าจะต้องคุยกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนคือเรื่องการเมือง ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้ว เวลาที่มันเกิดโครงการใดๆ ไม่ว่าจะเกิดในท้องที่เราหรือท้องที่ของคนอื่น ที่ถูกจัดสรรด้วยระบบกรเมืองที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะรู้สึกว่ามันสร้างไม่ได้ บางทีสุ้มเสียงการพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เหมือนจะอยู่ในโทนที่พยายามไม่โยงกับเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่เวลาเกิดการยกเลิกผังเมือง แปรสภาพพื้นที่ ล้วนเกิดจากมาตรา 44 และล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าจะหยุดเขื่อนแม่วงก์ก็ต้องหยุด ม.44 ด้วย ตนเคยคุยกับประสิทธิชัย หนูนวลว่า ถ้าเขื่อนแม่วงก์ถูกสร้าง แล้วสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้จริง แม้จะเสียพื้นที่ป่าบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ได้ผลประโยชน์ คนส่วนน้อยได้รับการเยียวยาที่พวกเขาพึงพอใจและสุดท้ายเขาเลือกแบบนั้น NGO ก็ไม่ต้องได้ค้านอะไร แต่ในเมื่อเงื่อนไขแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้น กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้การดำเนินการของรัฐเป็นไปอย่างเป็นธรรมยังมีปัญหา ก็ต้องมีคนแบบพวกเราอยู่ร่ำไป เราไม่มีทางหยุดโครงการพัฒนาของรัฐบาลชุดนี้ได้ถ้าเราไม่พูดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

หลายครั้งคนที่เราถูกทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองเป็นคนเลว คนโกง ทำให้การเมืองมันไกลกับชีวิต แต่ก็มีคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม การออกค่ายอาสาไปที่ห่างไกล เป็นเพราะโครงสร้างทางการเมืองที่ชนชั้นนำบางกลุ่มผูกขาด เราจึงเข้าใจว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องการเมือง มันอาจมีการสื่อสารทางยุทธวิธีบ้างว่า การมาเรียกร้องครั้งนี้เป็นเรื่องการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเมือง คำพูดแบบนี้ก็เป็นการสื่อสารทางการเมือง

นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) กล่าวว่า ตนไปอยู่ในลิสต์การติดตามของ คสช. และโดนเรียกปรับทัศนคติครั้งแรกมากจากการรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชนกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า จากนั้นจึงนำเสนอสไลด์ภาพการทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มต่างๆ เพื่อรณรงค์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในช่วงรัฐบาลเลือกตั้งที่ปกรณ์เองก็มีส่วนร่วม พบว่าไม่มีทหาร ไม่มีเจ้าหน้าที่สันติบาลไปนั่งเฝ้า หลังรัฐประหารปี 2557 การอ้างสิทธิการชุมนุม การแสดงความเห็นนั้นไม่สามารถทำได้ ในปี 2557 การชุมนุมนิสิต ม.เกษตรเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทำไม่ได้ กลุ่มดาวดินเคลื่อนไหว ชูป้าย เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก คัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียม ก็ทำไม่ได้ การเคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมในปี 58-59 ทำไม่ได้เลย แต่ในปี 60-61 พอจะทำได้บ้าง การถูกจับดำเนินคดีน้อยลง

อนาคตการเคลื่อนไหว เป็นที่ทราบกันดีว่าจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 และ 74/2559 ว่าด้วยการหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นคำสั่งที่เปลี่ยนที่ดินป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวรเป็นที่ดินรองรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ป่าจำนวน 4 พันไร่ที่ อ.แม่สอด เปลี่ยนสถานะภายในคืนเดียว ชุมชนที่อาศัยกับป่าก็โดนให้ย้ายออก โครงการเหล่านี้ ถ้าดำเนินต่อไป คนรุ่นใหม่ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมเขาก็จะสู้ ถ้าคิดว่าเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรที่ดีกว่านี้เขาก็จะเลือกตั้ง เขาก็อยากเห็นการเลือกตั้งก่อน เพราะว่าถ้ามีการเลือกตั้งเร็วแล้วเรื่องเหล่านี้มันแก้ไขได้มันก็เกี่ยวกัน

กรณีที่เจ้าหน้าที่พบเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรพร้อมซากเสือดำก็มีคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงความไม่พอใจมาก แถลงการณ์จากกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรณีเสือดำก็มีความก้าวหน้า คือไม่ได้สรุปว่าเปรมชัยผิด แต่ให้เข้ารับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในบรรทัดฐานเดียวกันกับที่คนยากคนจนโดน ซึ่งตนคิดว่าคนรุ่นใหม่มีท่าทีของความเข้าใจและติดตามข่าวสาร ส่วนตัวไม่คิดว่าเปรมชัยจะติดคุก ถ้าเปรมชัยติดคุกภายในปี 61 ตนจะบวชให้ คสช. 7 วัน
'อังคณา' ระบุ ปฏิบัติการของ จนท. คาดโทษชาวบ้าน ข้อบังคับกองทุนยุติธรรมทำให้ได้เงินประกันยาก คสช. ไม่อดทนกับการตั้งคำถาม

อังคณากล่าวว่า กสม. ไม่ได้ผูกพันอยู่กับกฎหมายในประเทศอย่างเดียว แต่ยังผูกพันกับข้ออนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้สัตยาบรรณไว้ ให้มาทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ พร้อมทั้งทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ส่วนตัวเชื่อว่าความเป็นพลเมืองไม่สามารถแยกกับการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐได้ ทั้งยังไม่สามารถแยกกับการขับเคลื่อนทางการเมืองได้เลย

รัฐธรรมนูญ 2560 มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือ สิทธิชุมชนท้องถิ่น กับสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหายไป เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ทาง กสม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการบรรจุอะไรเพิ่มเติม

ในส่วน กสม. ในช่วง 2 ปีเศษๆ ที่ตนปฏิบัติหน้าที่ จำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องสิทธิชุมชน ผลกระทบของโรงกำจัดขยะ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โรงไฟฟ้า เหมือง เป็นต้น ชาวบ้านบางทีไม่รู้ว่า EIA, EHIA คืออะไร แต่จะรู้สึกว่ามีผลกระทบอย่างไรกับชุมชนผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นน้ำในลำห้วยที่เคยใช้อาบ ดื่ม ก็ใช้ไม่ได้ ผัก หญ้า สัตว์ที่หาได้จากริมน้ำก็หาไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน

ช่วงปีที่ผ่านมา กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนหลายเรื่อง นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ กสม. ได้ทำการตรวจสอบ ในตัวคำสั่งไม่ได้บอกผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งต้องแยกแยะประเภทป่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ในการใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณ คำสั่งนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม กล่าวโทษราษฎรในความผิดอาญาด้วย ทำให้ประชาชนที่เคยอาศัยในพื้นที่ป่าได้รับความเดือดร้อนมาก การออกคำสั่งที่ไม่มีความยืดหยุ่น และส่งผลกระทบต่อราษฎร ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชน ทำให้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตมายาวนานกลายเป็นคนผิด อย่างในกรณีสุภาพ คำแหล้ เป็นต้น


ในวันที่ได้รับอิสรภาพของสุภาพ คำแหล้ สตรีนักสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน

ศาลฏีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ภรรยาเด่น คำแหล้ คดีรุกที่ป่าสงวน

เปิดบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้' หลังฎีกาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน

อังคณาระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กังวลคือบางทีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเป็นทหาร วิธีการที่ใช้ก็ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ปราบก่อน จับก่อน แล้วมาพิสูจน์ทีหลัง ประชาชนจำนวนมากจึงต้องรับภาระในการพิสูจน์ ซึ่งตามหลักการควรมีหลักในการคุ้มครองก่อนจะฟ้องร้อง ดำเนินคดี รัฐบาลควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ การดำเนินการของรัฐ สามารถโต้แย้ง คัดค้านกระบวนการจัดการของรัฐ มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ และเน้นย้ำให้รัฐบาลสร้างหลักประกันว่า การไล่รื้อจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ส่วนตัวอังคณาดีใจที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิทุกด้านของประชาชน เพราะรัฐบาลเน้นย้ำเรื่องธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลบอกจะนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติที่ว่า ธุรกิจทุกชนิดต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องมีหลักการในการเคารพ คุ้มครอง ถ้ามีการละเมิดต้องมีการเยียวยา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงยังคงเป็นคนละเรื่อง โครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือบริษัททุนขนาดใหญ่มีการฟ้องร้องคนในชุมชนไม่ใช่น้อย เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไม่กล้าคัดค้าน หรือที่เรียกว่าการฟ้องเพื่อปิดปาก ชาวบ้านหลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงโดนกันคนละ 6-7 คดี ซึ่งชาวบ้านมีข้อจำกัดในเรื่องการหาเงินมาประกันตัวเวลาถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตนเคยคุยกับผู้หญิงอายุ 77 ปีจากภาคอีสานที่มาร้องเรียนว่า โดนข้อหาชุมนุมสาธารณะเพราะไปคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล กองทุนยุติธรรมบอกว่าให้เงินประกันตัวไม่ได้เพราะว่าเธอมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง แต่เธอบอกว่า ถ้าไม่มีที่ดินก็ไม่มีหลักทรัพย์เหลืออยู่แล้ว ทั้งยังมีลูกชายที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย จึงอยากจะเก็บที่ดินเอาไว้เผื่อว่าจำเป็นจะต้องใช้เงิน ถ้าเอาเงินไปประกันตัวก็จะไม่มีหลักทรัพย์ที่จะใช้ อังคณายังระบุว่า เคยตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในเรื่องการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมและพบระเบียบที่เขียนว่า อนุญาตให้คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม ให้อนุกรรมการผู้ได้รับมอบหมายใช้ดุลยพินิจพิจารณาคนที่มาขอเงินจากกองทุนฯ ว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่าทุกคนต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาล ระเบียบเช่นว่าจึงอาจเป็นอุปสรรคของชาวบ้านในการที่จะเข้าถึงเงินประกันตัว กองทุนยุติธรรมจึงยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง มีข้อบังคับบางอย่างที่ควรยกเลิกเพื่อให้คนเข้าถึงทรัพยากรจากกองทุนยุติธรรมได้มากขึ้น

ผู้แทนจาก กสม. คิดว่าถ้ารัฐบาลนี้มีความจริงใจ ก็ควรชะลอโครงการขนาดใหญ่เอาไว้จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนสามรรถใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ รัฐบาลต้องไม่ยอมที่จะให้ประชาชนถูกกลั่นแกล้งจากการฟ้องร้อง ดำเนินคดีจากบริษัทหรือทุนใหญ่ ในช่วงเวลานี้ ปัญหาสำคัญคือ แม้รัฐบาลจะเชื่อมั่นว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล คสช. ไม่มีคือ รัฐบาลทหารไม่มีความอดทนที่จะถูกท้าทาย ถูกตรวจสอบโดยประชาชน ในเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนแล้ว ทุกฝ่ายก็จำเป็นต้องเคารพรัฐธรรมนูญ และควรอดทนกับการตั้งคำถามของประชาชน เหมือนกรณีเทพา ที่ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกฯ แต่นายกฯ ก็บอกให้ไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรม ทั้งที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิโดยตรงด้วยการชุมนุมหรือขอเข้าพบผู้นำรัฐ บางครั้งการไปนั่งคุยมันเป็นลักษณะการเสวนาโต้ตอบ ถ้าผู้นำไม่เข้าใจก็สามารถถามชาวบ้านกลับไป หรืออะไรที่ชาวบ้านไม่รู้ก็จะได้รับทราบกัน ไม่เหมือนการส่งจดหมายที่ล่าช้า และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีได้เลย

อังคณาขอให้รัฐบาลรักษาสัญญาให้ไว้กับประชาชน รีบให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คำสั่ง คสช. ต่างๆ ที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ต้องปรับปรุง รัฐต้องไม่มองว่าคนที่เห็นต่างกับรัฐเป็นศัตรู เพราะเราต้องอยู่ด้วยกัน และตรวจสอบด้วยกัน เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วภายใต้ภาวะไม่ปรกติ ที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพที่พึงมี
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.