Posted: 02 Feb 2018 11:00 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ผอ.WHO ชื่นชมรัฐบาลทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกล้างไตช่องท้องเป็นการขยายบริการสาธารณสุขไปที่บ้านของผู้ป่วย โดยมีชุมชนคอยช่วยเหลือ ทำให้ระบบยั่งยืน เพราะการรักษาไม่ใช่แค่เรื่องของบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แนะไทยบอกเล่าความสำเร็จให้โลกรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมีคุณภาพโดยไม่มีอุปสรรคการเงินมาขวางกั้น
2 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม (Tedros Adhanom) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) ดูงานผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย โดยลงพื้นที่ ซ.พระเจน ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนการบริการสาธารณสุขภายในชุมชนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี โดยมี ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร, พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้การต้อนรับ
ทีโดรส กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้องในวันนี้ ตนได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญว่า ที่ประเทศไทยผู้ป่วยได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี โดยไม่มีอุปสรรคทางด้านการเงินมาขวางกั้น เพราะมีรัฐบาลให้การสนับสนุน เมื่อตนถามผู้ป่วยล้างไตช่องท้องท่านนี้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่สนับสนุน เขาตอบว่า เราก็แค่รอความตายเท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทำลายกำแพงด้านการเงินลงได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญของระบบนี้ นั่นคือ ไม่ให้การเงินเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงการรักษาของประชาชน
“สิ่งสำคัญคือ ผมชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างมากที่กล้าหาญสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนในขณะที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่รอให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งนี้ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยคุณก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ และสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษา ยาจำเป็นราคาแพง และยังทำลายกำแพงการเงินที่เคยเป็นอุปสรรคขวางกั้นลงได้”
ทีโดรส กล่าวต่อว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและรับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในชุมชนแห่งนี้ ตนมีความประทับใจว่า ที่นี่หมอและพยาบาลสามารถฝึกอบรมผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้นได้ ผู้ป่วยสามารถล้างไตเองได้ที่บ้าน โดยมีญาติคอยช่วยเหลือ และชุมชนที่มาในรูปของอาสาสมัครสาธารณสุขคอยติดตามดูแล นี่เป็นการขยายบริการลงไปที่บ้าน โดยมีครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีความยั่งยืน เพราะการรักษาไม่ใช่แค่เรื่องของแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องทำให้ญาติและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วย และนี่เป็นต้นแบบที่น่าสนใจที่ไทยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประเทศอื่นๆ ได้
ทีโดรส กล่าวว่า จากสิ่งที่ได้เห็นในวันนี้ เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมี 2 ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ 1.การที่รัฐบาลสามารถทำลายกำแพงการเงินที่เคยขวางกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนลงได้ ด้วยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ 2.การส่งเสริมให้ชุมชนและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย
“แล้วก้าวต่อไปของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยควรเดินไปอย่างไร ผมเห็นว่ามี 2 ประการ คือ 1.ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น และ 2.ช่วยประเทศอื่นโดยการบอกเล่าความสำเร็จของคุณให้โลกได้รับรู้ นี่จะเป็นต้นแบบที่ดีให้แต่ละประเทศได้เรียนรู้เพื่อที่ประเทศอื่นๆ จะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองเพื่อประชาชนของพวกเขาเอง” ทีโดรส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทีโดรส ได้เยี่ยมและพูดคุยกับชาญ จันอุไร อายุ 69 ปี ชาวชุมชนบ่อนไก่ ซ.พระเจน ซึ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง โดยทีโดรสถามชาญว่า หากไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและรัฐบาลไม่สนับสนุนระบบนี้จะเป็นอย่างไร ชาญตอบว่า ก็คงได้แต่รอความตายเท่านั้น ซึ่งทีโดรสได้หันมาพูดคุยกับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินีว่า saving life, giving hope หรือการช่วยชีวิตคนหนึ่งไว้เท่ากับได้ให้ความหวังใหม่ของชีวิตกับคนนั้นต่อ
ทั้งนี้ชาญป่วยด้วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไตวายระยะสุดท้าย เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง มีหน่วยบริการประจำอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และเริ่มล้างไตช่องท้องเมื่อเดือนกันยายน 2560 โดย รพ.บ้านแพ้ว สาขาพัฒนาการ และได้รับการเยี่ยมติดตามดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินีและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน โดยผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้
[full-post]
แสดงความคิดเห็น