Posted: 16 Oct 2018 12:34 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-17 02:34


17 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 ต.ค.) ที่ บ้านท่ากอม่วง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้จัดมหกรรมโฉนดชุมชน 18 ปีแห่งการปฎิรูปที่ดิน เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์การปฎิรูปที่ดินและการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ โดยทาง สกน. ได้ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมย์ 18 ปี แห่งการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน

โดยแถงการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังต้องเผชิญกับนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการเผชิญหน้ากับนโยบายทวงคืนผืนป่าซึ่งมีปฏิบัติการยึดที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยดั่งเดิมเดิมของชาวบ้าน โดยการบังคับใช้กฎหมายและจับคุมดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ที่รัฐพยายามกำหนดแนวเขตทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ละเลยหลักการสิทธิชุมชน

นอกจากนั้นทาง สกน. ระบุด้วยว่า การแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเนินนาน กลับดำเนินการด้วยความล่าช้าสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรุนแรงมากขึ้น ทั้ง กรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ความล่าช้าในกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐกลับส่งผลให้เอกชนฟ้องดำเนินคดี จับกุม กับชาวบ้าน จนทำให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเสนอให้มีการดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชนตั้งแต่ปี 2553 แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าในการเดินหน้าต่อที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามทางกลุ่มประกาศว่าจะมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และหากสังคมไทยยังไม่การกระจายถือครองที่ดินได้อย่างเป็นธรรม ก็พร้อมที่จะปักหลัก ยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อมุ่งสร้างประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคมต่อไป

แถงการณ์ฉบับเต็ม


นับเป็นเวลาอันยาวนานที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ได้ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งพื้นที่เขตป่าและพื้นที่นอกเขตป่า เราจึงรวมตัวกันขึ้นในพื้นที่ 9จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึง “ที่ดิน”ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดของสังคมเกษตรกร และผลักดันเกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม บนฐานของความเสมอภาค เคารพหลักสิทธิมนุษยชน จัดการทรัพยากรบนฐานของหลักสิทธิชุมชน

กระนั้นก็ตาม 18 ปีที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ยังต้องเผชิญกับนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ยังคงลิดรอนสิทธิชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือของเรา อย่างเช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่มีปฏิบัติการยึดที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยดั่งเดิมเดิมของชาวบ้าน โดยการบังคับใช้กฎหมายและจับคุมดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม , การเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ที่รัฐพยายามกำหนดแนวเขตทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ละเลยหลักการสิทธิชุมชน ซึ่งการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น หากขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ในทางตรงกันข้าม การแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเนินนาน กลับดำเนินการด้วยความล่าช้าสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรุนแรงมากขึ้น ทั้ง กรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ความล่าช้าในกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐกลับส่งผลให้เอกชนฟ้องดำเนินคดี จับกุม กับชาวบ้าน จนนำไปสู่การลุกขึ้นคิดค้น “นวัตกรรมทางนโยบาย” ของประชาชนเอง เพื่อเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามแนวทางโฉนดชุมชนที่ประชาชนผลักดันให้เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่ม ปี พ.ศ. 2554 ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน แต่รัฐก็ยังมินำพา ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าในการเดินหน้าต่อที่เป็นรูปธรรมเพื่อที่จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซ้ำร้ายรัฐยังมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และมัดรวมการตัดสินใจไว้กับระบบราชการผ่านแนวทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ( คทช.) ที่พยายามจะแก้ไขปัญหาที่ดินให้ประชาชน ในรูปแบบที่ดินแปลงรวม ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ภาคประชาชนพบ มีปัญหาทางปฏิบัติมากมาย ทั้งประเด็นของการติดข้อจำกัดในด้านสิทธิในการใช้ประโยชน์ไม่ลงไปถึงชุมชนตามหลักสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินในรูปแบบของแปลงรวม อีกทั้งยังติดข้อจำกัดในการใช้มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ที่จำแนกแจกแจงประเภทการเข้าอยู่ และการเข้าถึงการพัฒนาในพื้นที่ที่จะติดข้อจำกัด

นอกจากนี้ภาคประชาชนยังผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ซึ่งหลังจากการมีการดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ประชาชนยังคงต้องออกแรงติดตามการดำเนินการให้ยึดตามหลักเจตนารมณ์ตามที่ภาคประชาชนเสนอ เพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินและได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินได้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเป็นธรรม อีกทั้ง กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่ประชาชนเคยร่วมกันออกแบบเพื่อเป็นแหล่งทุนหนึ่งของธนาคารที่ดินในกลไกของการเร่งรัดให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินนั้น ปัจจุบันรัฐและนายทุนเจ้าที่ดินกลับปรับแต่งแปลงร่างจนกลายเป็นเพียงแค่ ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งไม่มีนัยยะสำคัญต่อการกระจายการถือครองที่ดิน ซ้ำร้ายกระบวนการนิติบัญญัติยังประวิงเวลาในการออกกฎหมายฉบับนี้จนกระทั้งปัจจุบัน

ท้ายที่สุดสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ยังคงเผชิญกับผลกระทบจากการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ในนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐได้ใช้อำนาจเผด็จการ ยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านก็ยังคงยืนหยัด ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองจำนวน 6 ราย และเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดินทดแทนอย่างเป็นธรรม

ดังนั้นพวกเรา “สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” มุ่งมั่นที่จะยืนหยัดตามเจตนารมณ์ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป้าหมายเดียวกัน เราจะเดินหน้าผลักดันนโยบายของประชาชน โดยเราจะตั้งมั่น ยืนยันถึงสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนอย่างไม่มีข้อแม้ ผลักดันนโยบายธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยได้สามารถเข้าถึงที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างยั่งยืนในที่สุด และ “สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” จะสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อต่อสู้กับความ “อยุติธรรม” ทุกประการเกี่ยวกับปัญหาที่ดินของประชาชน ซึ่งหากสังคมไทยยังไม่การกระจายถือครองที่ดินได้อย่างเป็นธรรม และเรา“สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” พร้อมที่จะปักหลัก ยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อมุ่งสร้างประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคมต่อไป

เชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน

16 ตุลาคม 2561

ณ สหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านท่ากอม่วง จำกัด

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.