Posted: 06 Oct 2018 02:34 AM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-06 16:34


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน “ครบรอบ 42 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2561 เพื่อร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยในเวทีเสวนา 'รายงานการสืบค้น เรื่องที่สูญหาย... จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ' ภัทรภร ภู่ทอง หนึ่งในคณะทำงานโครงการบันทึก 6 ตุลา ได้หยิบยกภาพการฟาดเก้าอี้กับศพที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงขึ้นมา แล้วตั้งคำถามว่า ผ่านมา 42 ปีเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับภาพนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาพที่คนคุ้นเคยมากเกี่ยวกับ 6 ตุลา

คำตอบก็คือ เรายังไม่ทราบเลยว่าบุคคลที่อยู่ในภาพนี้ ทั้งผู้ชายคนถือเก้าอี้ ผู้ชายที่ถูกแขวนคอ เด็ก นักศึกษา ประชาชนที่ยืนอยู่ในภาพนั้น เราไม่ทราบเลยว่าพวกเขาเป็นใคร มีความเข้าใจผิดด้วยว่าศพที่ถูกแขวนคอนี้คือ วิชิตชัย อมรกุล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ วิชิตชัยอยู่ในอีกภาพหนึ่ง

ภัทรภร กล่าวว่า โครงการบันทึกหกตุลาเริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” เหมือนเราจะรู้เรื่องเยอะ แต่จริงๆ แล้วเรารู้น้อยมากเกี่ยวกับ 6 ตุลา เรารู้จำนวนผู้เสียชีวิต 46 คน แต่เมื่อถามลึกลงไปว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตบ้าง ขณะยังมีชีวิตอยู่เขาเป็นใคร ความฝันของเขาเป็นอย่างไร ความรุนแรงในภาครัฐที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เราจำแต่ตัวเลข แต่ชีวิตที่ถูกพรากไปเรารู้จักน้อยมาก จึงเป็นที่มาของการทำโครงการนี้ เพื่อทำแหล่งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง มันจะนำไปสู่การสืบค้นไม่เฉพาะเหตุการณ์หกตุลา แต่เป็นเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย และอีกเหตุผลคือ การต่อสู้กับความพยายามทำให้ลืมเหตุการณ์หกตุลา ในการทำงานโครงการนี้ไม่ใช่แค่การบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เป็นการสื่อสารถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ภัทรภร ระบุว่าตอนนี้โครงการได้ดำเนินกิจกรรมดังนี้ 1.รวบรวมเอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับคดี เช่น เอกสารชันสูตรพลิกศพ การอ่านเอกสารเหล่านี้จะทำให้เห็นระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น 2.ภาพถ่ายต่างๆ ได้มาจากผู้บริจาคที่เห็นคุณค่าในโครงการ เช่น ภาพสีของนักข่าวอเมริกันที่อยู่ในวันนั้น เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพสไลด์สี 3.หนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือน ก.ย. – ต.ค. 2519 มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ดาวสยาม ชาวไทย เป็นแหล่งข้อมูลฝ่ายขวาชั้นดี เราแสกนลงเว็บไซต์ 4.สัมภาณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิต มีบางส่วนที่ตามหาพบ และบางส่วนยังตามหาไม่พบซึ่งอยากเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตามหาพวกเขาและแง่มุมต่างๆ ที่ท่านรู้โดยสามารถติดต่อกับโครงการได้โดยตรงที่เพจเฟสบุ๊ค “บันทึก 6 ตุลา” และ 5. บทความจากนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์

ในการสื่อสารเรื่องราวของโครงการฯ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานด้านการสื่อสาร โดยมีแนวคิดว่าต้องการให้เรื่อง 6 ตุลาถูกพูดถึงตลอดทั้งปี เป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ คลังประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบค้นบริบทสังคมในยุคนั้นได้อย่างมากมาย ที่สำคัญเรากำลังทำงานแข่งกับเวลาเพราะพยานต่างๆ ทั้งพยานที่มีชีวิตหรือเอกสารก็กำลังเลือนหายไปกับการเวลา

"เรากำลังเอาหลักฐานต่างๆ เข้าสู่อินเทอร์เน็ต และใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ เพื่อต่อสู้กับการทำให้หกตุลาถูกลืม" ปราบกล่าว

"ในการพูดถึงเรื่องหกตุลา การติดตามเหยื่อและครอบครัว มันมีความหมายต่อสังคมไทยที่มากกว่าไปความรู้เรื่องหกตุลา แต่เราหวังว่าเรื่องรววที่เราค้นกันนี้ จะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของชีวิตคนอื่นมากขึ้น เห็นด้านมืดของสังคมไทย และระมัดระวังให้มันไม่เกิดซ้ำอีก" พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งทีมโครงการ 6 ตุลา

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.