Posted: 06 Oct 2018 02:49 AM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-06 16:49


6 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเมื่อเวลา 16.25 น ที่ลานปฏิมากรรม 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังคงมีคนทยอยนำดอกไม้มาวาง รำลึก 42 ปี 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้า ขณะที่ นศ.รำลึกหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา












โดยก่อนหน้านี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าในช่วงเช้าได้มีการทำบุญตักบาตร วางดอกไม้บริเวณสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีองค์กรต่างๆ ญาติผู้เสียชีวิต นักวิชาการ และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุธรรม แสงประทุม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายวรชัย เหมะ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์

นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 สู่การตระหนักถึงการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่อาจเกิดความขัดแย้งเห็นต่างว่า เป็นปกติที่จะเกิดความเห็นต่างในสังคม แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละยุคสมัยจะมีการจัดการความขัดแย้งอย่างไร

"แม้หลายคนยังคิดว่า รากเหง้าความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ไม่เพียง 6 ตุลาฯ ยังรวมถึงเหตุการณ์ปี 2552, 2553 และ 2557 โดยเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นั่นเพราะว่าการใช้ความรุนแรงหรือเข่นฆ่าทำลายกันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยการจัดงานวันนี้จึงหยิบยกเรื่อง “สันติประชาธรรม” ของศาสตราจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ชี้ว่าจะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ช่วงใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีการต่อสู้ทางการเมือง เกิดการเสนอความคิดที่โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม หากเกิดการปลุกระดมเกิดความไม่พอใจในสังคม และหวังว่าการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละพรรคจะเกิดความสร้างสรรค์ เมื่อเทียบกับการเมืองการเลือกตั้งในต่างประเทศ ไม่ได้ต่างกัน แต่ต้องยอมรับว่าพลเมืองของประเทศเขามีการจัดการมีวิจารณญาณที่ต่างกัน และเชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา"

นายบุญสมระบุว่า การสืบทอดอำนาจไม่ได้มีแต่ในไทย ซึ่งต่างประเทศก็เคยเกิดขึ้น โดยขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการและป้องกันความขัดแย้ง แม้เหตุการณ์หลังการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้น กรณีเกิดขั้วเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่ไม่เอา คสช. กับ กลุ่มที่สนับสนุน หากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเร่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมประชาชนได้ดี ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง "เอาหรือไม่เอา คสช." จะเลือนหายไป ซึ่งเชื่อว่าทหารจะสรุปวิเคราะห์บทเรียน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ
นศ.รำลึกหน้า มหาวิทยาลัยพะเยา

เวลา 19.00 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา กลุ่มพลังใหม่ประชาธิปไตยและนิสิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรมรำลึก 42 ปี 6ตุลา 2519 “ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม” โดยภายในกิจกรรมมีการอ่านกวี และจุดเทียนเพื่อรำลึก และมีการร่วมกันร้องเพลง ”ตุลาอาลัย” ที่แต่งโดยนิสิตสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยหลังร่วมกันร้องเพลงและจุดเทียนนิสิตก็มีตัวแทนของกลุ่มและนิสิตกล่าวจบงานในวันนี้และก็สลายตัว

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า ภายในงานมีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆ คอยสังเกตุการณ์และถ่ายรูป


สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนตอนหนึ่งไว้ใน เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา (https://doct6.com/learn-about/how) ว่า

"วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

จริงอยู่ประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย มีคดีอิทธิพลจำนวนมากที่ทางการไม่กล้าแตะต้อง และจับคนร้ายไม่ได้ แต่คดีอิทธิพลเหล่านั้นแตกต่างจากคดี 6 ตุลาฯ เพราะการก่ออาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์กลางเมืองที่เปิดเผยจนได้รับรู้กันทั่วโลก รวมทั้งผู้ต้องหาที่เปิดเผยโจ่งแจ้งก็มีอยู่มาก แต่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกด้วย ปัญหาในกรณีนี้ก็คือ อิทธิพลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มฆาตกรซึ่งผลักดันให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลอยู่ได้เช่นนี้? และนักศึกษาผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมได้ก่อความผิดร้ายแรงเพียงใดหรือ จึงต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?

เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคม คือ การก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติ ที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น"

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.