Posted: 09 Oct 2018 04:55 AM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-09 18:55


จตุพร พรหมพันธ์ุ ปฏิเสธข่าวจับมือสนธิ-พุทธะอิสระตั้งพรรค ส่วน 'พรรคเพื่อชาติ' เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2556 'ยงยุทธ ติยะไพรัช' คนบ้านเลขที่ 109 จะเข้าไปหนุนเสริมคนหน้าใหม่ เผยเห็นด้วยกับแนวทางพรรคเพื่อชาติ และไม่ขัดข้องถ้าแกนนำ นปช. จะไปร่วม ถือเป็นทางเลือกของคนที่ยังไม่มีที่ยืน แถมเส้นทางการเมืองข้างหน้าเป็นเวทีรัฐสภา "รวมกันแพ้ แยกกันชนะ" ขณะที่ขั้ว กปปส. ก็เตรียมไว้ถึง 5 พรรค ส่วนตัวเขาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อชาติไม่ได้ แต่จะให้กำลังใจพรรคเพื่อชาติ กฎหมายเปิดช่องให้สนับสนุนได้เท่าไหร่ก็จะสนับสนุนไปเท่านั้น

9 ต.ค. 2561 กรณีที่มีกระแสข่าวจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จับสนับสนุนยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และจะร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองกับสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งอดีตพระพุทธะอิสระนั้น

ล่าสุดจตุพร พรหมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวเกิดจากการที่สื่อมวลชนบางสำนักจับ 2 เรื่องมารวมกัน ข้อเท็จจริงคือ ไม่ได้มีการจับมือกับสนธิ ลิ้มทองกุล และอดีตพรรคพุทธะอิสระเพื่อตั้งพรรคการเมือง แต่ในช่วงที่ติดคุกและได้เจอกับสนธิและได้มีการพูดคุยกันจริง โดยสนธิพูดว่าอยากเห็นบ้านเมืองที่เปิดให้คนทุกฝ่ายมาพูดคุยกันได้ โดยจตุพรกล่าวเช่นกันว่าเขาเองก็อยากให้เป็นแบบนั้น และพรรคเพื่อชาติก็ควรเป็นแบบนั้น ส่วนสนธิ และพุทธะอิสระจะมาร่วมกับตัวเขาตั้งพรรคการเมืองก็ไม่จริง อีกทั้งสนธิยังเหลือโทษจำคุกอีก 18 ปี ขณะที่อดีตพระพุทธะอิสระก็เตรียมจะบวชใหม่

"ส่วนพรรคเพื่อชาติตั้งอยู่เดิมมาตั้งแต่ปี 2556 ตัวผมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อชาติไม่ได้เพราะขาดคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้" จตุพรกล่าว

โดยในส่วนของพรรคเพื่อชาติ ก็เป็นไปตามที่ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภาแถลง โดยที่ตัวยงยุทธเองก็จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้ว่าตัวของยงยุทธเองจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและเพิ่งพ้นโทษมาจากบ้านเลขที่ 109 เพราะต้องการผลักดันคนใหม่ๆ เข้าไปทำงานการเมือง

สำหรับแนวคิดการทำงานของพรรคเพื่อชาติ ที่ให้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองสามารถเข้ามาร่วมงานกับพรรคได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยนั้น จตุพรกล่าวว่า สอดคล้องกับความคิดของเขา เพราะเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบชัดเจน "รวมกันแพ้ แยกกันชนะ" ในขณะที่ซีกของฟากแกนนำที่ขึ้นเวที กปปส. ต่างก็แยกไปอยู่ 5 พรรค บางส่วนไปพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีการแยกพรรค ก็เพราะเขาเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว

จตุพรกล่าวด้วยว่าแต่ นปช. ที่ยังไม่มีพื้นที่ รวมทั้งแนวร่วมทุกกลุ่มถ้าพรรคเพื่อชาติเปิดพื้นที่ ก็ควรเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา เพราะอีกปีกหนึ่งก็เข้ามาถึง 5 พรรค "การเมืองในเวทีข้างหน้าจะเป็นเวทีรัฐสภา ไม่ใช่เวทีนอกสภา พรรคเพื่อชาติถือเป็นช่องทางเข้าไปอีกช่องทางหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบไว้อย่างนี้ ก็ถือว่านี่เป็นโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ ส่วนพรรคพวกที่มีพื้นที่อยู่แล้วในพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องมา"

เมื่อถามว่าจตุพรจะไปร่วมพรรคเพื่อชาติหรือไม่ เขาตอบว่าเขาสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญทำให้เขาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ถึง 10 ปี ดังนั้นกฎหมายเปิดช่องให้สนับสนุนได้เท่าไหร่ก็จะสนับสนุนไปเท่านั้น

"ตัวเราไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนไม่ได้อยู่แล้ว และเห็นว่าพรรคนี้เป็นทางเลือกสำหรับคนไม่มีที่ยืน เพราะอีกฝ่ายใช้ถึง 5 ช่องทาง สำหรับแกนนำ นปช. คนอื่นๆ ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จะไปใช้ช่องทางนี้เพื่อเข้าไปต่อสู้ในสภา เราก็สนับสนุน ก็เป็นผู้ให้กำลังใจกันได้อยู่แล้ว กฎหมายไม่ได้ห้าม"

เมื่อถามย้ำว่าจะหันหลังให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ จตุพรกล่าวว่า เขาหันหน้าหันหลัง หรือไปทางไหนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีสิทธิทางการเมือง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.