ศิลปินเล่นดนตรีบนเวทีหน้าศาลาเฉลิมธานี
Posted: 08 Oct 2018 06:16 AM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-08 20:16

เครือข่ายท่องเที่ยวประชาสังคมจัด “นางเลิ้งที่รัก” นิทรรศการโชว์ของดี ความทรงจำร้อยกว่าปีของชุมชนนางเลิ้งที่หน้าโรงหนังสมัย ร.6 หลายชุมชนร่วมสร้างสีสันผ่านการทำสิ่งของจากภูมิปัญญาโบราณ ทำความรู้จักรู้จักนางเลิ้ง/ชนังเลิง/อีเลิ้ง(?) และโรงหนังเฉลิมธานี อดีตผู้บริหารโรงหนังเผย อยากจุดไฟรื้อฟื้นคุณค่าของคนในย่าน ด้านผู้จัดระบุ กทม. ให้งบปีนี้ปีเดียว

8 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม จัดงาน “นางเลิ้งที่รัก: เทศกาลท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ย่านประวัติศาสตร์เมืองย่านนางเลิ้ง” จัดขึ้นที่หน้าโรงหนังเฉลิมธานี ย่านนางเลิ้ง
ในงานมีการเสวนารำลึกความทรงจำของนางเลิ้ง มีการแสดงดนตรีปี่-กลองมวย ละครชาตรี กิจกรรมสาธิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปักลวดลายสไบ ดาบไม้ระกำ หมูกระดาษออมสิน ว่าวใบไม้ พวงมโหตร (เครื่องห้อยประดับธงตามงานบุญ) ฯลฯ  จัดขึ้นโดยคนจากชุมชนย่านนางเลิ้งและจากชุมชนรอบนอก นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการประวัติและของดีของย่านนางเลิ้งด้วย

รู้จักนางเลิ้ง/ ชนังเลิง/ อีเลิ้ง (?) และโรงหนังเฉลิมธานี

ข้อมูลจากแผ่นพับที่แจกในงานให้ข้อมูลว่า ชุมชนย่านนางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าแก่มีประวัติยาวนาน จุดเริ่มต้นของชุมชนมาจากการที่พระบาทสมเด็จกระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานให้โอรสและพระธิดาของพระนารายณ์ราชาของเขมร พร้อมครอบครัวราว 500 ครอบครัวที่ถูกปราบขบถในเมืองเขมรเมื่อปี 2325 และนำพามายังกรุงเทพฯ โดยพระยายมราช ให้พักอาศัยบริเวณรอบกรุงรัตนโกสินทร์ มีกลุ่มหนึ่งตั้งบ้านเรือนในบริเวณบ้านสนามควาย (บริเวณ ถ.พะเนียงจรดถนนหลานหลวง) ครอบครัวชาวเขมรมีจำนวนราว 10,000 คน
จากข้อมูลของแผ่นพับเดียวกันระบุว่า ชาวเขมรมีฝีมือในการปั้นโอ่ง ตุ่ม ไห หม้อดินเผา ในภาษาเขมรนั้น หม้อใหญ่จะเรียกว่า “ชนังเลิง” ทำให้ผู้คนพากันเรียกที่อยู่ของชาวเขมรว่า “บ้านชนังเลิง” และเรียกกันต่อๆ มาจนกลายเป็น “นางเลิ้ง”
ภาพทางเข้าตลาดนางเลิ้ง
ในปี 2394 มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาทิศเหนือและใต้ จึงมีเรือบรรทุกสินค้าเกษตรจากกระทุ่มแบน ปทุมธานีมาขึ้นที่ตลาดมหานาค จนถึงปี 2440 ตลาดนางเลิ้งกลายเป็นตลาดบกแห่งใหม่ที่เป็นอาคารตึกของหลวงให้เช่าริมถนนนครสวรรค์ และตลาดสดของพระนคร นางเลิ้งถูกเรียกว่าตลาดใหม่ หรือ “ซิงตั๊กลั๊ก” ในภาษาจีน คู่กับตลาดเก่าอย่างเยาวราช
อาคารสถาปัตย์ตึกแถวย่านนางเลิ้งนั้นสร้างราวปี 2440 ยุคล่าอาณานิคมของยุโรป อาคารมีลักษณะใหม่ ทันสมัยแบบนีโอคลาสสิค เพื่อแสดงความทันสมัยให้ชาวต่างประเทศเห็น ลดกระแสที่ว่าประเทศไทยล้าสมัย
ตลาดนางเลิ้งช่วงเย็นที่เป็นเวลาตลาดวาย
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ว่าชื่อนางเลิ้งมาจากไหนกันแน่ ซึ่งข้อมูลอีกชุดนั้นระบุว่านางเลิ้งมาจากคำว่าอีเลิ้ง เนื่องจากย่านนี้ขายตุ่มอีเลิ้งมาก่อน และต่อมาในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มีนโยบายรัฐนิยม ได้เปลี่ยนชื่อจากอีเลิ้งเป็นนางเลิ้ง แต่ที่จริงแล้วจากประวัติพบว่า มีการเรียกว่านางเลิ้งมาก่อนหน้านั้นแล้ว
โรงหนังเฉลิมธานี เป็นอาคารโครงสร้างไม้ ซึ่งเป็นลักษณะมาตรฐานในสมัยรัชกาลที่ 6 ผนังชั้นล่างและห้องฉายหนังเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ฝ้าเพดานและกระดานอัดวัสดุป้องกันเสียงสะท้อน ใช้ลังกระดาษสำหรับวางไข่บุผนังด้านใน เก้าอี้ดูหนังถูกถอดออกทั้งหมด ปัจจุบันศาลาอยู่ในสภาพทรุดโทรม ลานด้านหน้าที่หนึ่งในผู้อยู่อาศัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าแต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยนั้น ตอนนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวชุมชนใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ
ด้านหน้าของศาลาเฉลิมธานี
โรงหนังเฉลิมธานีมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของเฉกเช่นเดียวกับพื้นที่หลายส่วนในชุมชนที่ชาวบ้านเช่าอาศัย เปิดฉายหนังครั้งแรกเมื่อ 18 ธ.ค. 2461 โดยบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร ใช้ชื่อว่า “โรงหนังนางเลิ้ง” ในปี 2462 บ.ภาพยนตร์พัฒนากรรวมกิจการกับ บ.รูปยนตร์กรุงเทพและเปี่ยนชื่อเป็นสยามภาพยนตร์ ก่อนที่จะขายกิจการให้กับ บ.สหศีนิาม จำกัด บริษัทค้าภาพยนตร์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนชื่อโรงหนังนางเลิ้งเป็น “โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี” จากนั้น บ.สหศีนิมาได้ให้เอกชนเช่าช่วงดำเนินกิจการจนถึงปี 2537 จึงได้หยุดการฉายหนังเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ รวมเวลาให้ความบันเทิงผ่านจอเงินทั้งสิ้น 76 ปี ปัจจุบันศาลาเฉลิมธานีถูกเช่าโดยเอกชนเป็นโกดังเก็บของ และทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงชุมชนนางเลิ้ง ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการอนุรักษ์และพัฒนา

ผู้จัดหวังกระตุ้นชุมชนรักษากลิ่นอายเก่า กับความทรงจำมีชีวิตของอดีตผู้บริหารโรงหนังโบราณ

สมพงษ์ โชติวรรณ อดีตผู้บริหารโรงหนังเฉลิมธานีกล่าวว่า เขารับสืบทอดกิจการจากพ่อที่เสียชีวิต เป็นการรับงานแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเขามีอายุราว 20 กว่าปี ช่วงนั้นเป็นช่วง พ.ศ. 2500 กว่าๆ เล่าให้ฟังถึงเรื่องขาขึ้นและขาลงของโรงหนังเฉลิมธานี จนมาถึงวันที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของชุมชนอายุร้อยกว่าปีขึ้นมาในวัย 76 ปีของเขา และหวังว่าคนในชุมชนจะตื่นตัวในการรื้อฟื้นกลิ่นอายชุมชนเก่
สมพงษ์ โชติวรรณ
“โรงภาพยนตร์ก็มีเป็นยุคๆ มียุคหนังอินเดีย ก็จะได้ลูกค้าที่มาชมเป็นพวกแม่ค้าที่เสร็จจากค้าขาย แล้วก็หมดยุคหนังอินเดียก็เป็นหนังญี่ปุ่น พวกซามูไร พอหมดยุคซามูไรก็เป็นพวกกำลังภายใน มันก็จะเป็นแต่ละยุคไปเรื่อยๆ”
“ผมนึกตลกอยู่ว่าคนในท้องถิ่นบอกว่าผมไม่ใช่คนในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเราขยายกิจการไปภาคตะวันออก ช่วงหนังบูมๆ เนี่ยเราสามารถเป็นตัวแทนของเครือข่ายของบริษัทที่จำหน่ายหนังในภาคตะวันออก เราซื้อสิทธิ์หนังทุกเรื่องในการบริหารจัดการ”
“การซบเซามันเกิดจากวิดีโอเข้ามา ตอนนี้สื่อเข้าถึงบ้าน เราก็คิดว่าจะอยู่ได้ ไม่ต่ำกว่านี้ ที่ไหนได้มันต่ำกว่าที่เราคิดอีก จนกระทั่งเราต้องปิดตัวเอง นี่ปิดมา 20 กว่าปีแล้ว”
“งานบริเวณนี้นี่ช่วงหนึ่งที่ผมเข้ามาช่วยงานชุมชน เราก็มาช่วยสร้างภาพพจน์อะไรต่างๆ ที่มีกลิ่นอายของมันอยู่แล้ว เอามาปัดเป่าอะไรให้มันดีขึ้น จนกระทั่งทาง ทอท. การท่องเที่ยวของ กทม. เห็นว่าตรงนี้มีความเข้มแข็ง ก็เลยเข้ามาสนับสนุนตรงนี้อีกที
“โรงหนังก็เป็นองค์ประกอบ ทำให้สังคม มีนักศึกษาเข้ามาขอความรู้ขออะไรต่างๆ เราก็พยายามถ่ายทอดให้ ส่วนหนึ่งถ้าเราไม่ให้กับสังคม กลิ่นอายหรืออะไรต่างๆ มันก็จะหายไป แล้วมันก็จะลบเลือนไป เราอยู่ตรงนี้มีแต่คนให้ความสนใจแต่ทำไมเราไม่ไขว่คว้ามาเสริมให้มีจิตวิญญาณขึ้นมา” สมพงษ์กล่าว
ระพีพัฒน์ เกษโกศล นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว กองการท่องเที่ยว เลขานุการเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม กล่าวว่า เป้าหมายการทำนิทรรศการนี้คือต้องการให้คนในชุมชนตื่นตัวในการค้นหาคุณค่าในพื้นที่และนำเสนอมันออกมาอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ภาคประชาชนได้คิดและลงมือทำเอง
ระพีพัฒน์ เกษโกศล
“กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาย่านประวัติศาสตร์เมืองสู่การท่องเที่ยวสร้างสรรรค์ มีการคัดเลือกย่านประวัติศาสตร์ใน กทม. เจ็ดย่าน และนางเลิ้งเป็นหนึ่งในนั้น ตัวโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนในท้องถิ่น ย่านเกิดการตื่นตัว ค้นหาคุณค่า เรื่องราวตัวเองแล้วช่วยกันนำเสนอและรักษาเรื่องราวนั้นให้สังคมมองเห็นความสำคัญ และหันมาให้การสนับสนุนดูแลพื้นที่เหล่านั้น ขณะเดียวกัน ระหว่างการทำงานก็ต้องการให้เกิดกระบวนการพัฒนาศักยภาพองค์กรประชาชนในท้องถิ่น ผ่านการคิด การลงมือทำด้วยตัวเอง เป็นผลพวง เรามุ่งเน้นเป้าหมายคือผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดการดำรงอยู่ที่มีคุณค่าของย่าน ขณะเดียวกันก็ทำให้คนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง จัดการตนเองได้โดยใช้การท่องเที่ยว”
“งานนี้ก็ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ คนที่มาเยี่ยมเยือน รวมถึงภาคีเครือข่ายที่มาสนับสนุนคนนางเลิ้งจากย่านอื่นที่มารวมตัวกันในฐานะเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคมก็รู้สึกว่ารูปแบบการทำงานแบบนี้ดี มีความสุข และอยากจะกลับไปทำงานแบบนี้ที่บ้านตัวเอง เราทำการบ้านมาเป็นสิบปี อยากมีกิจกรรมแบบนี้มานานก็เพิ่งได้ทำครั้งนี้”
เลขาฯ เครือข่ายการท่องเที่ยวภาพประชาสังคมยังกล่าวว่า งานนิทรรศการลักษณะนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากร่วมงานกันมาเป็นสิบปี เป็นภาพที่เครือข่ายท่องเที่ยวอยากมีมาตลอดเพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีงบ ต้องพึ่งพากันเอง ทั้งนี้ งบประมาณจัดงานครั้งนี้เป็นงบประมาณที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2561 จากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของทาง กทม. ซึ่งมีให้เพียงปีนี้เท่านั้น เพราะงานในลักษณะนี้มักไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน
“เพราะเราไม่ได้งบประมาณ เราอยากทำแบบมีการจัดการแบบองค์รวม ที่ปกติจัดกันแบบไม่มีตังค์มันก็ทำได้ เช่น สร้างเส้นทางท่องเที่ยวบ้าง ไปดูงานบ้าง ก็ช่วยกันออกเงินบ้าง ทำกันทีละอย่างสองอย่างบางทีมันไม่เกิดแรงกระเพื่อม แต่ถ้ามีการทำพร้อมกันและทำอย่างต่อเนื่องมันก็จะทำให้คนเห็น และมีแรงกระเพื่อม ที่ผ่านมามันทำแบบไม่มีตังค์ ก็ทำๆ หยุดๆ พึ่งพากันเองก็อาจจะไม่เต็มที่”
“การมีงบก็ดีที่เราสามารถเอางบไปกระจาย เกื้อหนุนคนทำงานในพื้นที่ ถ้าเราไม่มี (งบ) ก็ไม่มีจะให้ บางทีก็ต้องหางบจากการจัดกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบางครั้งเราก็คิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทำงานอนุรักษ์มานาน ที่ต้องมาเหนื่อยในขณะที่ปากท้องยังหิวอยู่ แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปทำแบบนั้นต่อ”
ระพีพัฒน์ยังมองว่าการที่ชาวชุมชนมีบทบาทในการรื้อฟื้น นำเสนอคุณค่าชุมชนจะทำให้เกิดความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้น
“มันทำให้คนมองว่าพื้นที่ตรงนี้มีชุมชนคนเก่าแก่อยู่ และถ้ามีการจัดการที่ดี มันก็มีคุณค่า มีความหมาย เป็นเสน่ห์ของเมือง ก็ทำให้ (เห็นว่า) ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้แค่อยู่ไปวันๆ ทำมาหากิน แต่ช่วยรักษามรดกวัฒนธรรมของบ้านเมืองได้ มันก็ทำให้ผู้มีอำนาจก็อาจจะมองเห็นว่าดีที่มีเขาอยู่หรือทำให้เขามีความมั่นคงมากขึ้น ก็ต่างกับชุมชนที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรและรอวันเคลื่อนย้ายไป” ระพีพัฒน์กล่าว
ชุมชนย่างนางเลิ้งเป็นพื้นที่ที่โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงหัวลำโพง - บางแคกำลังพาดผ่าน นอกจากนั้น บางพื้นที่นั้นมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของและให้ชาวชุมชนเช่าที่ เรื่องอนาคตด้านที่อยู่อาศัยจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายข้
ระพีพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเจ็ดชุมชนมีการแยกจัดเส้นทางท่องเที่ยวรวมกัน 21 เส้นทางอยู่แล้ว แต่นิทรรศการเช่นนี้จะจัดที่นางเลิ้งเป็นที่แรก จากนั้นก็ตามด้วยย่านอื่นๆ อีกหกย่าน (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของย่านทั้งเจ็ดและรายละเอียดของโครงการที่เว็บไซต์ 7 ย่านเก่ากับรักษ์ของเรา)

ภาพในงาน

หัวโขนจากบ้านนราศิลป์ หนึ่งในองค์กรด้านวัฒนธรรมในย่านนางเลิ้ง
(ซ้าย) วิทยากรจากบ้านนราศิลป์สอนผู้ร่วมงานปักสไบ
กิจกรรมสาธิตปักพวงมโหตร อุปกรณ์ตกแต่งธงในงานบุญ
นิทรรศการภาพถ่ายที่ทางเข้างาน
[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.