Posted: 17 Oct 2018 10:18 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-18 00:18


ชำนาญ จันทร์เรือง

แม้ว่าเราจะมีการเลือกตั้งก็มิได้หมายความว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่หากประเทศจะเป็นประชาธิปไตยจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (representative democracy) ซึ่งเป็นกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลที่จะไปทำหน้าที่แทนบุคคลทั่วประเทศในสถาบันนิติบัญญัติ และบริหารรวมถึงตุลาการด้วยในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในหนังสือ “รัฐศาสตร์” ของอาจารย์ณัชชาภัทร อมรกุล ซึ่งผมได้ใช้เขียนบทความและสอนในชั้นเรียนมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานได้ระบุไว้ว่าการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. เป็นการทั่วไป (in general)

บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นบุคคลที่อายุเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเหตุ วุฒิภาวะ เช่น 16,18 หรือ 20 ปี เป็นต้น โดยต้องไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด ไพร่หรือผู้ดี ไม่ว่าจะจบการศึกษาในระดับใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของคนทุกคน ไม่เพียงแต่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

2. เป็นอิสระ (free voting)

ในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนของตนโดยไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ กดดัน ชักจูงหรือได้รับอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อที่จะได้เจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนแต่ละคน ประเภทที่เข้าแถวแล้วเขียนเบอร์ใส่ฝ่ามือนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นอิสระในการออกเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเขียนเบอร์ใส่ฝ่ามือแล้ว แต่คำสั่งจากที่บ้านให้เลือกฝั่งตรงกันข้ามก็ยังมีอิทธิพลเหนือกว่าอยู่นั่นเอง

หรือมิใช่ว่าทั้งๆที่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนอยู่แล้ว พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองก็ผ่านสภาฯออกมาแล้ว แต่ยังมีคำสั่งฯออกมาจำกัดไม่ให้ทำโน่นไม่ให้ทำนี่ตามที่พระราชบัญญัติฯบัญญัติไว้เสียอีก

3. มีระยะเวลา (periodic election)

การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะกำหนดระยะเวลาไว้เท่าใด โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเป็นการแน่นอน เช่น ส.ส. 4 ปี (อเมริกา 2 ปี อังกฤษ 5 ปี) ส.ว. 6 ปี เป็นต้น

4. การลงคะแนนลับ (secret voting)

เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตนได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องเกรงใจใครหรือไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้เพียงครั้งละ 1 คน ยกเว้นบางประเทศที่กฎหมายอนุญาตไว้เป็นข้อยกเว้นเช่น คนพิการหรือคนแก่ เป็นต้น และไม่จำเป็นจะต้องบอกให้คนอื่นทราบว่าตัวเองเลือกใคร หลักการลงคะแนนลับนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะแม้แต่ศาลเองก็ไม่สามารถจะสั่งให้เราให้การว่าในการเลือกตั้งนั้นเราลงคะแนนให้แก่ผู้ใด

5. หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man one vote)

ในบริษัทมหาชนผู้ที่ถือหุ้นมากกว่าอาจจะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงมากกว่า แต่ในการเลือกตั้งที่เป็นใช้สิทธิทางการเมืองนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะอะไร หรือมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างไร ก็มีสิทธิได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น ที่สำคัญก็คือประเด็นความมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพของประชากรก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุในการที่จะให้จำนวนเสียงของแต่ละคนต่างกัน

ในช่วงหนึ่งไทยเรามีตลกร้ายโดยบางคนเสนอว่าผู้ที่มีคุณภาพมากกว่าควรจะมีสิทธิมีเสียงมากกว่า ตัวอย่างเช่น ปริญญาเอก 10 เสียง ปริญญาโท 5 เสียง ปริญญาตรี 2 เสียงคนทั่วไป 1 เสียง ฯลฯ หรือ “วาทกรรมอัปลักษณ์ (ugly speech) ” ที่ว่าสามแสนเสียงในกรุงเทพฯเป็นเสียงที่มีคุณภาพย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงในต่างจังหวัดนั้นก็ได้รับการตอบโต้กลับว่าคนทั่วไปมีสองเท้าที่ก้าวเข้าสู่คูหาเท่ากันและสองเท้านี้ก็พร้อมที่กระทืบคนที่มาขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นสิทธิพื้นฐานนี้ได้เช่นกัน

6. บริสุทธิ์ยุติธรรม (fair election)

หลักการนี้อาจถือได้ว่าเป็นหลักที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะในหลัก 5 ข้อข้างต้นอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในบริบทของแต่ละประเทศ แต่ถึงแม้ว่าจะมีครบทั้ง 5 หลักข้างต้นแล้วหากขาดเสียซึ่งหลักแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วการเลือกตั้งนั้นก็จะเสียไป เพราะการเลือกตั้งที่ดีจะต้องมีการดูแลการเลือกตั้งไม่ให้มีการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิทธิขายเสียง การติดสินบนเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง หรือวิธีการใดๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

อย่าลืมว่าในประเทศเผด็จการทั้งหลายแม้จะใช้ชื่อว่าประชาธิปไตยก็ตาม เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ฯลฯ ต่างก็มีการเลือกตั้งเช่นกันเพราะเหตุที่ว่าการเลือกตั้งเป็นหัวใจของประชาธิปไตยนั่นเอง แต่การเลือกตั้งในประเทศเผด็จการทั้งหลายนั้นเป็น “การบังคับเลือก” (จะเอาหรือไม่เอา) ที่เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น

ประเทศไทยเราก้าวมาไกลแล้วในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจมีการสะดุดหยุดอยู่ หรือถอยหลังไปในบางคราวที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดา เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย การเดินขบวน การคัดค้านผู้ที่ครองอำนาจรัฐเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน และผู้ที่ละเมิดกฎหมายก็ต้องพร้อมรับผลแห่งการละเมิดนั้น

จะช้าหรือเร็วปีหน้าก็ต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะยิ่งยื้อก็ยิ่งพัง และการเลือกตั้งของไทยเราที่จะมีขึ้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักที่ว่า เป็นการทั่วไป เป็นอิสระ มีระยะเวลา เป็นการลงคะแนนลับ หนึ่งคนหนึ่งเสียงและบริสุทธิ์ยุติธรรม พูดง่ายๆสั้นๆก็คือต้องเสรีและเป็นธรรม (free and fair) จึงจะถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้าไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ไทยเราก็คงไม่ต่างไปจากกัมพูชาที่รังแต่จะถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากนานาประเทศ อาจถูกต่อต้านหรือมีมาตรการกดดันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นการตอกลิ่มให้ความแตกแยกในหมู่ประชาชนให้แผ่ขยายไปยิ่งกว่าเดิม ความเสียหายก็จะตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตาดำๆนั่นเอง



เผยแพร่ครั้งแรกใน: กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 17 ตุลาคม 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.