Posted: 05 Oct 2018 03:01 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-05 17:01


'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' จ่อดำเนินการทางกฎหมาย กับเพจ 'เดรัจฉานนิวส์' หลังทำภาพตัดต่อสร้างข่าวปลอม ให้ตนมีความเห็นในลักษณะคัดค้านการตีระฆัง ขณะที่ 'สุรพศ ทวีศักดิ์' ถูกเสียบประจาน หลังโพสต์เตือนสติสังคมให้เคารพสิทธิผู้ร้องเรียนกรณีวัดตีระฆัง

5 ต.ค.2561 กรณีข่าวระหว่างคอนโดมิเนียมกับวัดไทรที่มีการเรียกร้องให้หยุดตีระฆัง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้วัดไทรตีระฆังต่อ ไปจนถึงไล่ตามหาผู้อาศัยที่คอนโดมิเนียมดังกล่าวว่าใครเป็นผู้ร้องเรียนนั้น

ผลกระทบไม่เพียงการตามล่าหาตัวผู้ร้องเรียนการตีระฆังเท่านั้น แม้แต่ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ที่ออกมาโพสต์เฟสบุ๊กเตือนสังคมให้เคารพสิทธิผู้ร้องเรียนกรณีวัดตีระฆัง ก็ถูกกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กวิจารณ์ไปจนถึงด่าทอและนำข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตมาประณามด้วย

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'เดรัจฉานนิวส์' (https://www.facebook.com/เดรัจฉานนิวส์-159204968131869/) นำภาพตัวเขา พร้อมใส่ข้อความโพสต์ในเพจเพื่อให้คนเข้าใจผิดว่า ธนาธร มีความเห็นในลักษณะคัดค้านการตีระฆัง

ต่อมาเฟสบุ๊ก 'Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' โพสต์ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า "เป็นข่าวปลอม ที่จงใจให้เกิดความเสียหายกับผมและพรรคอนาคตใหม่ ฝากบอกทุกๆ คนด้วยครับ ทางเรากำลังเตรียมดำเนินการทางกฎหมายต่อไป"



ขณะที่เพจ 'เดรัจฉานนิวส์' ปัจจุบันมียอดคนกดถูกใจ 2.6 หมื่น ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 22.20 น. ของวันที่ 5 ต.ค.61 ไม่สามารถเข้าถึงเพจดังกล่าวได้ โดยเข้าไปเฟสบุ๊กแจ้งว่า "ขออภัย เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้ ลิงก์ที่คุณได้ติดตามอาจหมดอายุไปแล้ว หรือเพจนี้อาจจะมองเห็นได้เฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้รวมถึงคุณด้วย"

ณัฏฐา มหัทธนา (โบว์) นักกิจกรรมการเมือง อาจารย์ และอดีตพิธีกรช่องวอยซ์ทีวี เคยถูกเพจนี้ รวมทั้งเพจทีนิวส์ และเพจมั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่ ทำกราฟฟิกตัดภาพตนเข้ากับถ้อยคำที่ไม่เคยพูด ในประเด็นการโทษประการชีวิตด้วย

โบว์ ณัฏฐา โต้ข่าวปลอม-ปั่นโทษประหารชีวิต ชวนสังคมแลกเปลี่ยนอย่างประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฏการณ์ข่าวปลอมหรือภาพตัดต่อและใส่ข้อความลักษณะนี้มักมีมาตลอด ดังนั้นผู้อ่านหรือผู้รับสารควรตรวจสอบแหล่งที่มาที่สามารถอ้างอิงได้ก่อนปักใจเชื่อข้อมูลดังกล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.