Posted: 10 Oct 2018 09:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-10 23:22


26 กันยายน 2561 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนาทางวิชาการ "200 ปี Karl Marx (1818-2018) Marx and Marxism ความท้าทาย หรือ สิ่งที่ตายแล้ว" 26 กันยายน 2561 ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมีวิทยากรคือ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร. จามะรี เชียงทอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: Karl Marx มายาหรือวิทยาศาสตร์?



ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในที่นี้เรากำลังพูดถึงความคิดของคนๆ หนึ่ง ไม่ได้พูดถึงลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งมีความหมายมากกว่านั้น คนที่เอาความคิดของมาร์กซ์ไปพัฒนาต่อขยายนั่นเป็นอีกแบบหนึ่ง เรากำลังเจาะจงเฉพาะชีวิตและงานของมาร์กซ์

ลองดูกระแสความคิดของคนคนนี้ ตั้งแต่งานเขียนชิ้นแรกๆ ที่คนเข้าไปค้นในปี 1820, 1830, 1840 ปลายๆ งานที่คนอ่านแล้วเริ่มให้ความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ การเมืองและปรัชญาก็อยู่ที่ประมาณปี 1843 แล้วปี 1844 ก็มีงาน Paris manuscripts และงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จนกระทั่งหนังสือ ทุน (Capital) เล่มแรกที่ออกมาปี 1867 แล้วเขาก็เสียชีวิตไป เล่ม 2-3 ต้องให้เพื่อนมาทำต่อ

งานของมาร์กซ์ที่คนพูดถึงกันนั้นเป็นการจับเอาความคิดของมาร์กซ์เป็นบางด้าน ด้านเกษตร ด้านปฏิรูปโรงงาน แล้วเน้นการอธิบายว่า ความคิดกระแสหลักในยุคนั้นคิดกันอย่างไร แล้วมาร์กซ์มีมุมมองเป็นอีกแบบอย่างไร ซึ่งนั่นเป็นลักษณะตัดตอน สิ่งที่ขาดหายไปในการศึกษางานเกี่ยวกับมาร์กซ์เชิงวิทยาการก็คือ การมองงานของมาร์กซ์ในภาพรวมทั้งหมด ในฐานะที่เป็นองค์รวมทางความคิดที่ค่อนข้างเป็นเอกภาพพอสมควร แม้ว่าจะมีระยะเวลาพิจารณาที่แตกต่างกันตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แต่ถ้าไปนั่งเรียงดูจะเห็นว่าเป็นงานที่เป็นระบบชิ้นหนึ่ง ฉะนั้นจะเข้าใจความคิดของมาร์กซ์และประเมินมันได้อย่างถูกต้องว่ามีความสำคัญมากน้อย น่าสนใจแค่ไหน ต้องดูภาพรวมก่อน ซึ่งเวทีนี้จะขอพูดเรื่องนี้

เมื่อพูดถึงความคิดที่เป็นองค์รวมของมาร์กซ์ ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อน คือ มันมีกระแสแยกความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ออกเป็นช่วงๆ แบ่งเป็นมาร์กซ์หนุ่มกับมาร์กซ์แก่ ทำนองว่าตอนเป็นมาร์กซ์แก่คือ หนังสือ “ทุน” เป็นงานความคิดที่เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์ เน้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและผลกระทบทางการเมืองที่นำไปสู่การปฏิวัติทางสังคม เมื่อเทียบกับมาร์กซ์ที่ตอนยังหนุ่มอยู่ซึ่งเป็นมาร์กซ์ที่รักเพื่อนมนุษย์ เป็นมนุษย์นิยม ดังนั้นตอนหนุ่มกับแก่เป็นคนละคนกัน และปัญหาต่างๆ ที่เราพูดถึงลัทธิมาร์กซ์เป็นปัญหาของมาร์กซ์ตอนแก่ ขณะที่มาร์กซ์ตอนหนุ่หล่อ ฉลาด คม เข้ม ตรงนี้ผมว่าเป็นปัญหา พอพูดถึงคาร์ลมาร์กซ์ มักมีคนโยงไปถึงสหภาพโซเวียต สตาลิน เหมาเจ๋อตง ว่า คนตาย 30 ล้านคน เขมรแดงพลพต คนตายอีก 3-4 ล้านคน เวลาพวกนี้อ้างอิงชื่อมาร์กซ์คืองานที่เขียนในตอนปั้นปลายของชีวิต ซึ่งมีความคิดไปในทางปฏิวัติสังคมอย่างชัดเจน แต่มาร์กซ์ที่น่ารักคือมาร์กซ์ตอนหนุ่ม งานมันก็น่าอ่าน แล้วถามว่าจุดแบ่งมันอยู่ตรงไหน 1844 หรือ 1848 ปี 1848 คือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ Communist Manifesto ส่วน 1844 คืองานชิ้นนี้ Paris manuscripts แต่หากไปไล่ตรวจงานของมาร์กซ์จะพบว่ามันไม่มีเส้นขีดแบ่งตรงนั้นเลย ปี 1844 มาร์กซ์หนุ่มผู้เป็นเพื่อนบ้านที่แสนจะน่ารัก พอ 1845 มาร์กซ์เขียน Theses on Feuerbach เป็นงานสั้นๆ แต่มีประโยคหนึ่งในหนังสือซึ่งพวกเราเจอเรื่อยๆ คือ “นักปรัชญาเพียงแต่ตีความโลก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงโลก” เป็นข้อความที่ฮิตมาก อ่านแล้วสุดยอดมาก แต่หารู้ไม่ว่า มันเป็นแค่เอาท์ไลน์สำหรับเขียนงานชิ้นใหญ่ของมาร์กซ์และ Engels ชื่อ German Ideology เล่มหนามาก ซึ่งเขียนในปีต่อมาคือ ปี 1846 งานนี้คือการวางกรอบระบบความคิดของมาร์กซ์ทั้งชุดขึ้นมาเลย ว่าด้วยประวัติศาสตร์โลก การต่อสู้ทางชนชั้น การเปลี่ยนจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งอันเกิดจากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มสังคม และเปลี่ยนสังคมเป็นขั้นตอน จนมาเป็นยุคปัจจุบันคือ ทุนนิยม และทุนนิยมก็ไม่มีข้อยกเว้น สุดท้ายมันจะเกิดวิกฤตการณ์ภายในเกิดการต่อสู้ขัดแย้งกันเกิดการโค่นล้มปฏิวัติสังคมทุนนิยมที่เราเห็นทุกวันนี้มันจะล่มสลายหายไปเช่นเดียวกันสังคมศักดินาในอดีต แล้วจะเปลี่ยนไปสู่สังคมที่สูงขึ้นคือ สังคมคอมมิวนิสต์ นี่คือตรรกะทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องดำเนินไป เป็นกฎเกณฑ์ เขียนไว้ชัดเจนปี 1846 แต่เผอิญว่า German Ideology เขียนแล้วก็เอาไปใส่ลิ้นชักไว้ ไม่ได้พิมพ์ จนกระทั่งตีพิมพ์ปี 1932 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยซ้ำ

ดังนั้นการแบ่งเป็นมาร์กซ์หนุ่มกับมาร์กซ์แก่ ซึ่งมาร์กซ์แก่มีความคิดแข็งทื่อตายตัวและนำมาสู่ปัญหาอีกเยอะแยะนั้น มันไม่ใช่ ตัดอันนี้ออกไป

สิ่งที่จะพูดในครั้งนี้เจาะจงปรัชญาประวัติศาสตร์ คำอธิบายประวัติศาสตร์ ความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ในแง่มุมต่างๆ สุดท้ายแล้วเหมือนกับติ่งหรือส่วนหนึ่งในระบบความคิดเป็นชุดรวบยอด คือ การมองประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่า สุดท้ายประวัติของมนุษย์มีกฎเกณฑ์ไหม มีทิศทางหรือไม่ หรือเป็นแค่ความบังเอิญของเหตุการณ์ ไปของมันเรื่อยแล้วแต่ว่าใครจะพาไป เป็นอุบัติเหตุไปเรื่อยไม่มีทิศทาง หรือประวัติศาสตร์ก็เหมือนสังคมมนุษย์สามารถเอาหลักวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ แล้วก็กำหนดกฎเกณฑ์หรือค้นคว้าหากฎเกณฑ์ เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์มองไปในโลกธรรมชาติแล้วสามารถค้นคว้าเอากฎเกณฑ์ออกมาก เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ทฤษฎีการหักเหแสงของกาลิเลโอ มาร์กซ์ก็อยู่ในกระแสนี้ที่สามารถเอารูปแบบหรือวิธีการของยุคนั้นมาประยุกต์ใช้กับประวัติศาสตร์มนุษย์เพื่อสร้างกรอบทฤษฎีอันหนึ่งเพื่ออธิบายว่า การพัฒนาของสังคมมนุษย์ก็มีกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนในโลกธรรมชาติ

ต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมมาร์กซ์จึงหมกมุ่นเหลือเกินที่จะทำให้แนวความคิดของตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ เขาเขียนไว้เยอะเลย เพราะมาร์กซ์พัฒนาแนวคิดขึ้นมาจากกระแสก่อนหน้านี้ที่เป็นสังคมนิยมเพ้อฝัน สังคมนิยมยูโทเปีย ความคิดสังคมนิยมไม่ได้มีเฉพาะคาร์ล มาร์กซ์ เท่านั้น มาร์กซ์เป็นแค่สำนักหนึ่งภายใต้แนวคิดสังคมนิยมอันใหญ่เบ้อเร้อ ลัทธิสังคมนิยมก่อนมาร์กซ์มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นสังคมที่วิพากษ์และปฏิเสธทุนนิยมบนพื้นฐานของศีลธรรมและจริยธรรม ใช้ข้ออ้างเชิงศีลธรรมหรือศาสนามาวิพากษ์ทุนนิยม เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความละโมบโลภมาก ความฉ้อฉล ความเลวร้าย จึงมองว่ามันต้องเปลี่ยนเป็นสังคมที่ดีกว่าในเชิงศีลธรรม แต่มาร์กซ์บอกว่า ไม่ได้ จะเอาทุนนิยมไปวางบนพื้นฐานศีลธรรมความดีความชั่วไม่ได้ เพราะมาตรฐานศีลธรรมมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ท้ายสุด ทุนนิยมมีพื้นฐานที่มั่นคงแน่นอนชัดเจนเถียงไม่ได้ก็ต้องทำให้ทุนนิยมเป็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ นี่คือความหมกมุ่นของมาร์กซ์ เขาเขียนไว้เยอะเลยที่เยาะเย้ยถากถางนักสังคมนิยมรุ่นเก่า เขาพยายามทำให้สังคมนิยมเป็นวิทยาศาสตร์โดยผนวกกับการที่สังคมมนุษยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์กายภาพแบบเดียวกับฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ แต่ก็ต้องบอกว่า ความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่คาร์ล มาร์กซ์ พูดถึงเป็นคอนเซ็ปท์วิทยาศาสตร์ในปี 1850 หรือ 150 ปีมาแล้ว แล้ววิทยาศาสตร์ทุกวันนี้มันก็เป็นคนละอย่างเลย ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่มาร์กซ์พูดถึงเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตกทอดมาจาก ไอแซค นิวตัน คือ เชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นความเข้าใจต่อโลกความเป็นจริง โลกเป็นอย่างนั้นจริงๆ การที่ไอแซค นิวตัน ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงในศรีษะของเขา หมายความว่ามันมีแรงโน้มถ่วงจริงๆ อยู่ข้างนอกที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา ถึงมนุษยชาติจะสูญหายไปหมดแล้ว กฎแรงโน้มถ่วงก็ยังอยู่ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจถึงความเป็นจริงสัมบูรณ์ได้ แต่ความเป็นวิทยาศาสตร์ในยุคของเรานี้เป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว มันอ่อนน้อมถ่อมตนกว่านี้เยอะ ไม่มองว่ารู้จักโลกความจริงทั้งหมด เรารู้แค่ส่วนเดียว และความรู้ที่เรามีอยู่นั้นไม่แน่ว่าจะถูกต้องเสมอไป แม้แต่สิ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนผัน เช่น ทฤษฎีกายภาพของนิวตันก็ถูกข้ามพ้นโดยทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ เป็นต้น กลายเป็นว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะล้ำหน้าแค่ไหนก็มีโอกาสจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในวันใดวันหนึ่งแม้แต่ทฤษฎีสัมพันธภาพทุกวันนี้ก็เป็นเพียงแค่ว่า ที่ผ่านมาเราทดสอบแล้วมันไม่ผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตแล้วมันจะถูกเสมอไป

แล้วมาร์กซ์มองประวัติศาสตร์มนุษย์อย่างไร สังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบที่ไม่ต้องพึ่งศาสนา ไม่ต้องพึ่งความดีความชั่ว แต่วิเคราะห์สังคมทุนนิยมในเชิงกลไกว่ามันมีจุดบกพร่องภายในอย่างไร เหมือนวิเคราะห์เครื่องยนต์ ดูระบบภายในแล้วบอกว่าเดี๋ยววิ่งไปสัก 100 กม.มันต้องพังแน่ๆ ไม่เกี่ยวกับว่าคนทำเครื่องยนต์เป็นนักบวชหรือใคร นี่คือสิ่งที่มาร์กซ์พยายามจะทำกับการวิเคราะห์ระบบทุนนิยม

ทีนี้การมองเชิงประวัติศาสตร์ล่ะ มาร์กซ์ก็ได้มุมมองเชิงประวัติศาสตร์มาจากอาจารย์ของตนเองชื่อ วิลเฮห์ม เฮเกล (Wilhelm Hegel) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันรุ่นก่อน เขียนอะไรไว้เยอะแยะ มุมมองของเขาคือ มองโลกทั้งโลกเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว แล้วมีการพัฒนาไปขั้นสูง ตัวการก็คือ the idea หรือความคิดของพวกเราทั้งหมดรวมเป็นความคิดองค์รวม พัฒนาจากการไม่รู้อะไรเลยจนเป็น self consciousness การรู้จักตัวเอง การพัฒนาจิตสำนึกนี้เกิดจากความขัดแย้งภายใน คือ เรารับรู้อะไรบางอย่าง เรามองไปแล้วรับรู้ว่า กอไก่คือกอไก่ สีดำคือสีดำ แล้วนั่งวิเคราะห์ไปเรื่อยๆ จนพบว่าสีดำไม่เป็นความจริง ไล่ไปจนถึงโมเลกุล อะตอม สีดำมันไม่เป็นสีดำแล้ว กลายเป็นไม่มีสี ความรับรู้ของเราจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากที่ยึดติดความเป็นสีดำก็ข้ามพ้นความเป็นสีดำไปสู่ความคิดอื่นๆ ไล่ไปเรื่อย

การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเกิดจากความขัดแย้ง หลักนี้คือหัวใจ การพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น สวยงาม สุภาพเรียบร้อย แต่เกิดจากความขัดแย้งถกเถียงกันเพื่อค้นพบคำตอบเพื่อไปสู่ขั้นใหม่ ขั้นใหม่ก็เกิดความขัดแย้งใหม่อีก ไล่ไปเรื่อยๆ การพัฒนาจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ปรัชญาแบบนี้คาร์ล มาร์กซ์ เรียนมาตั้งแต่เด็ก เป็นศิษย์เอกคนหนึ่ง และสิ่งที่มีผลมากคือ ปรัชญาประวัติศาสตร์ซึ่งเฮเกลอธิบายปรัชญาประวัติศาสตร์ แล้วความคิดที่เป็นนามธรรม เป็นขั้นตอน มีความขัดแย้งแล้วพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้ความคิดสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นในโลกความเป็นจริงเราเห็นได้ที่ไหนหรือ ที่เฮเกลเขียนมันเป็นเรื่องความคิดล้วนๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงสังเกตได้ไหม ได้ ดูได้จากประวัติศาสตร์มนุษย์ มันพัฒนามาหลายหมื่นปี จากสังคมที่เป็นขั้นต้นมากจนเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนมาก เจริญมาก แล้วตัวเอกในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็คือ The State หรือ รัฐ (รัด-ถะ) อำนาจรัฐ อำนาจการปกครอง อำนาจที่คนกลุ่มหนึ่งมีเหนือคนอีกกลุ่มแล้วนำพาให้สังคมมนุษย์ในรูปของรัฐพัฒนาไปเรื่อย จากรัฐหรือรูปแบบการปกครองแบบเผ่า ยุคหิน เกิดเป็นอาณาจักร ระบบศักดิดา จนกระทั่งเป็นระบบรัฐบาลสมัยใหม่แบบที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

ฉะนั้น การพัฒนารูปแบบของรัฐจากที่ง่ายๆ โบราณมาสู่รูปแบบที่ซับซ้อน นี่คือพัฒนาการของความคิดของมนุษย์ซึ่งสะท้อนมาเป็นการพัฒนารัฐ หรือรูปแบบการปกครองขึ้นมา การพัฒนาประวัติศาสตร์ที่มีรัฐ แล้วบทบาทของตัวบุคคล คุณ ผม อยู่ตรงไหน เวลาเฮเกลมองรัฐ มองแบบองค์รวมหมดเลย ไม่ได้มองแต่ละคน แต่ถามว่าคนแต่ละคน คุณ ผม มีความสำคัญหรือเปล่าหรือเป็นมดปลวก เฮเกลบอกว่าคนแต่ละคนมีความสำคัญ แต่มีความสำคัญภายใต้บริบทของการวิวัฒนาการทางสังคมหรือขั้นตอนนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่เข้าใจวิวัฒนาการทางสังคมอย่างทุกถูกต้อง เข้าใจว่าทิศทางมันจะไปอย่างนี้แล้วคุณก็ดำเนินการให้สอดคล้องไปตามนั้น คุณก็มีส่วนในการให้สังคมมันเดินไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เจตจำนงหรือความต้องการของคุณมันไม่สามารถข้ามพ้นยุคสมัยไปได้ ถ้ายุคสมัยนี้มันต้องเกิดรัฐแบบคุณประยุทธ์ ถ้ามันจะต้องเกิดอย่างนั้น ไม่ว่าคุณจะพยายามฝืนยังไง ก็ไม่ได้ผล ยังไงคุณประยุทธ์ก็ต้องมา ฉะนั้น ปัจเจกชนแต่ละคนจึงมีสถานะเชิงสัมพัทธ์ที่จะสัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือภาพรวมนี้ทั้งหมด ปัจเจกชนบางทีอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ยกเว้นปัจเจกชนที่เป็นรัฐบุรุษ เป็นผู้ปกครอง เป็นจักรพรรดิ เป็นประธานาธิบดี นักการเมืองใหญ่ เขาอาจจะดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่ออำนาจของเขา แต่ถ้าการกระทำของเขามันสอดคล้องกับทิศทางของสังคมที่กำลังจะไป ก็ถือว่าคนคนนั้นมีผลต่อความก้าวหน้าของสังคม แม้ว่าโดยตัวบุคคลจะน่ารังเกียจ มีพฤติกรรมที่ย่ำแย่แค่ไหน

ยกตัวอย่าง นโปเลียน โตขึ้นมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่แล้วก็ทรยศต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นจักพรรดิ กลายเป็นนโปเลียนที่ 1 ยาตราทัพบุกยุโรปไปทั่ว หิวในอำนาจ ต้องการเป็นเจ้าแห่งยุโรป เป็นคำอธิบายว่า ใช่ ตัวนโปเลียนอาจหิวอำนาจ บ้าคลั่ง อะไรแล้วแต่ แต่สิ่งที่ นโปเลียนทำมันทำให้สังคมยุโรปก้าวหน้าไป เพราะเวลานโปเลียนยาตราทัพในประเทศไหนก็เอาระบบฝรั่งเศสไปใช้ด้วย ระบบที่ตกทอดมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น ระบบกฎหมายแพ่งและอาญา เป็นต้น ฉะนั้น แม้ภายหลังตัวนโปเลียนจะแพ้ถูกไล่กลับ ผู้ปกครองศักดินาเก่ากลับเข้ามายึดอำนาจ ผู้ปกครองในออสเตรีย เยอรมัน โปแลนด์ ไม่สามารถจะฟื้นระบอบศักดินาเก่าขึ้นมาได้ กลายเป็นว่าระบบที่นโปเลียนนำเข้ามายังอยู่ต่อ และระบบไพร่ติดที่ดินในยุโรปเสื่อมสลายลงในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือคุณูปการของนโปเลียน

ทีนี้มาที่คาร์ล มาร์กซ์ เขาก็ถอดแบบปรัชญาประวัติศาสตร์ของเฮเกลเข้ามาใช้กับสังคมมนุษย์ว่า สังคมมนุษย์ก็มีการพัฒนาเป็นขั้นๆ เหมือนกันและเป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ มาร์กซ์ใช้คำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ คือ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตของมนุษย์พัฒนามาเรื่อย เมื่อเราพัฒนาเทคโนโลยีดีขึ้น สังคมก็ต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง คุณมีเครื่องจักรไอน้ำ จะตั้งโรงงานต้องมีโรงงาน ต้องการแรงงาน แต่ถ้าประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นไพร่ติดที่ดินอยู่คุณตั้งโรงงานไม่ได้ ดังนั้น การมีโรงงานอุตสาหกรรม คุณต้องมีคนงานซึ่งสามารถย้ายถิ่นย้ายที่ได้ ระบบไพร่ศักดินาจึงอยู่ไม่ได้ถ้าระบบอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้น

มาร์กซ์จึงมองว่า สังคมมนุษย์เป็นพันปีร้อยปีมีการพัฒนาความสามารถในการผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ ระบบสังคมก็ต้องเปลี่ยนตาม การเปลี่ยนก็ต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้น เพราะสังคมมันแบ่งชนชั้นทางเศรษฐกิจ สมัยก่อนมีเจ้าศักดินา มีไพร่ติดที่ดิน แต่ทุนนิยมมีคนงาน มีนายทุน การต่อสู้สทางชนชั้นสำหรับเฮเกล ตัวเอกของเขาคือ รัฐ (รัด-ถะ) แต่ในมุมของมาร์กซ์ ตัวเอกไม่ใช่รัฐ แต่เป็นชนชั้น (Class) โดยเฉพาะชนชั้นคนงานที่จะทำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม

มาร์กซ์เคลมว่าที่ตัวเองวิเคราะห์สังคมจากยุคหินมาเรื่อยจนถึงยุคศักดินาของยุโรป จนถึงยุคของมาร์กซ์ คือ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ที่เป็นขั้นตอนของเขาเป็นวิทยาศาสตร์เทียบเท่ากับวิทยาศาสตร์เคมี ฟิสิกส์ และเนื่องจากมันเป็นวิทยาศาสตร์ คุณสามารถที่จะใช้มันทำทนายอนาคตได้ เหมือนทฤษฎีแรงดึงดูดของนิวตันคุณสามารถทำนายการโคจรของดาวเคราะห์ได้ เขาทำนายว่า ทุนนิยมก็เหมือนสังคมก่อนหน้านี้ มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้ง เกิดการต่อสู้ทางชนชั้น เกิดการปฏิวัติ แล้วก็ถูกแทนที่ด้วยสังคมที่ดีกว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเสรีภาพที่มากกว่า แล้วมาร์กซ์ก็เรียกว่า สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างที่เรารู้กัน

นี่คือภาพรวม น่าเสียดายว่าภาพรวมนี้นักวิชาการพูดน้อยไปหน่อย แต่พูดเพียงแง่มุมบางแง่มุม บทบาทของปัจเจกชน ในเฮเกลบอกแล้วว่า ปัจเจกชนมีบทบาทสัมพัทธ์ เพราะรัฐเป็นตัวเอก ปัจเจกชนในทัศนะของมาร์กซ์ก็เช่นกัน มาร์กซ์พูดเหมือนเฮเกลเลย คุณและผมจะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ต่อเมื่อคุณรับรู้ทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อคุณรับรู้ว่าทุนนิยมไม่ยั่งยืน สักวันหนึ่งก็ต้องไม่อยู่และถูกแทนที่ด้วยสังคมที่ดีกว่า คุณเข้าใจสิ่งนั้นแล้วเข้าร่วมผลักดันคุณก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ แต่ถึงแม้คุณจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าการกระทำของคุณมันบังเอิญช่วยผลักสังคมไปในทิศทางนั้นก็เป็นไปได้เหมือนกัน ปัจเจกชนแต่ละคนก็เป็นหน่วยหนึ่งในเชิงสัมพัทธ์ภายใต้ระบบทั้งหมด ปัจเจกชนไม่ได้เป็นอิสระ ปัจเจกชนไม่ได้แยกออกจากสังคม

ทีนี้มาร์กซ์เคลมว่ากรอบความคิดนี้เป็นวิทยาศาสตร์ คนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็คือคนที่ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณไม่เชื่อก็เท่ากับคุณไม่เชื่อทฤษฎีแรงโน้มถ่วง แล้วในที่สุด หลายคนอาจบอกว่า เปล่า มาร์กซ์ไม่ได้อ้างทฤษฎีของตัวเองเป็นขนาดนั้น ช้าก่อน คำหนึ่งที่มาร์กซ์ใช้บ่อยมากแม้กระทั่งในงานเริ่มต้นคือ false consciousness จิตสำนึกที่ผิดพลาด จิตสำนึกที่รับรู้อย่างไม่ถูกต้อง ในเมืองไทยอาจเรียก มิจฉาทิฐิ คนที่ไม่เข้าใจ คนที่มองว่าระบบทุนนิยมคือระบบที่ยั่งยืน คือความเป็นธรรมชาติ เราเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่เกิด ย้อนหลังไปสามสี่พันปี เอามนุษย์ยุคหินมานักวิจัยสมองก็ยังเจอระบบทุนนิยมในสมองของมนุษย์ยุคหิน


Marx and Marxism ความท้าทาย หรือ สิ่งที่ตายแล้ว | พิชิต-จามะรี-เก่งกิจ-ไชยันต์ [คลิป]

200 ปี คาร์ล มาร์กซ์

อีกคำหนึ่งที่มาร์กซ์ใช้บ่อยมากในการพูดถึงชนชั้นแรงงาน เพราะในทฤษฎีของมาร์กซ์ พระเอกที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็คือชนชั้นกรรมาชีพ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะทำงานเปลี่ยนสังคมจากทุนนิยมไปสู่สังคมที่เลิศกว่า แต่มาร์กซ์ก็ยอมรับว่า ถ้าไปถามคนงานในโรงงานในสมัยของมาร์กซ์เองก็เถอะ ไม่มีใครรู้จักคาร์ล มาร์กซ์ และถ้าถามว่าอยากได้อะไรในชีวิต เขาก็จะตอบว่าอยากได้ค่าแรงสูงๆ อยากให้ชั่วโมงทำงานน้อยลง อยากได้วันหยุดวันอาทิตย์ ฯลฯ สมัยนั้นทำงานกันวันละ 14 ชม. วันเสาร์ไม่หยุด ไม่มีสวัสดิการอะไรทั้งสิ้น ทำงานแล้วแขนขาดก็ไล่ออก คนงานยุคนั้นไม่มีใครรู้จักสังคมนิยม เขาอยากได้แค่นั้น มาร์กซ์ก็เห็นด้วย มาร์กซ์ใช้คำว่า class in itself and class for itself

Class in itself ก็คือ ชนชั้นในตน ชนชั้นที่เกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าผลประโยชน์ตัวเองอยู่ที่ไหน เช่น คนงานในโรงงานที่ทำงานวันละ 14 ชม.แล้วหวังอย่างเดียวอยากได้ค่าแรงงานแพงขึ้น เปรียบเทียบกับคนงานอีกประเภทหนึ่ง class for itself คือชนชั้นคนงานที่บรรลุแล้ว คนที่เข้าใจแล้วว่าผลประโยชน์ของฉันไม่ใช่แค่เอาค่าจ้างสูงขึ้น สวัสดิการดีขึ้น มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงาน ไม่ใช่แค่นั้น ผลประโยชน์ของฉันคือต้องกำจัดนายทุนออกไปให้หมด แล้วพวกฉันซึ่งก็คือคนงานเข้ายึดกุมการผลิตด้วยตัวเอง นี่คือผลประโยชน์ที่แท้จริงของคนงาน ถ้าคนงานบรรลุถึงจุดนี้ คุณคือ class for itself

ปัญหาเกิดขึ้นคือ ภาพที่เป็นแบบนี้มันมีศัพท์ในทางปรัชญาเรียก Historicism คือการมองว่าประวัติศาสตร์มีกฎเกณฑ์แน่นอน เป็นขั้นๆ แล้วสามาถรทำนายอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การมองประวัติศาสตร์มนุษย์เทียบเท่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มีวิวัฒนาการของมัน การมองว่าประวัติศาสตร์เป็นขั้นๆ นี้ไปจบที่โลกพระศรีอาริย์ สังคมออุดมคติที่มาร์กซ์เรียกสังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ ไม่มีรัฐ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีคุกตะราง ไม่มีตำรวจ อัยการ ศาล แล้วมนุษย์ใช้เวลาทำการผลิต 1-2 ชม. ที่เหลือไปเขียนกลอน เล่นเปียโน วาดภาพ เล่นไวโอลิน ความคิดแบบนี้เรียก Millennialism

สองคำนี้ ไม่ได้มีเฉพาะคาร์ล มาร์กซ์ แต่เป็นลักษณะร่วมกันของลัทธิต่างๆ หลายลัทธิ เช่น ลัทธินาซี เขามองว่าสังคมพัฒนาจากสังคมป่าเถื่อนมาจนเป็นสังคมปัจจุบัน เพียงแต่การต่อสู้ทางชนชั้นถูกแทนที่ด้วยเชื้อชาติ นำไปสู่สังคมอุดมคติที่เผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์ที่สุดครองโลก นอกจากนี้ยังมีบรรดาศาสตร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะศาสนาที่นับถือพระเจ้า ไม่ว่า ศาสนา ยิว คริสต์ หรืออิสลาม ต้องขออภัยผู้นับถือ นี่เป็นการเล่าเชิงวิชาการไม่ใช่การดูหมิ่นดูแคลนกัน ความคิดทางศาสนาเป็นอย่างนี้เหมือนกัน แม้กระทั่งศาสนาพุทธส่วนที่นำเชื้อมูลของพราหมณ์หรือฮินดูเข้ามา ก็มีแนวโน้มจะเป็น Millennialism เหมือนกัน มีพระพุทธเจ้าหลายองค์และนำไปสู่ยุคพระศรีอาริย์ แต่อาจจะต่างที่มองเป็นวัฏจักร วนซ้ำๆ มากกว่าจะมองว่าเป็นพัฒนาการที่สูงขึ้น

ตอนอาจารย์ไชยันต์พูดว่า เคยฟังผมพูดแล้วตกใจที่ผมพูดว่า ลัทธิมาร์กซ์มีลักษณะเหมือนศาสนา ผมหมายความว่ามันคล้ายในความหมายนี้ คือ Historicism, Millennialism ในแง่ที่มันกระตุ้นให้คนทำอะไรบางอย่าง คนที่เชื่อในลัทธิมาร์กซ์ก็จะเหมือนคนที่เชื่อในศาสนา ต่อสู้เพราะมีความคิดว่าสังคมในวันนี้สักวันหนึ่งจะต้องล่มจมจบไป เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วันข้างหน้าและเราเป็นฝ่ายถูก เราจะแพ้จะถูกกระทำอย่างไรก็ตามแต่เราคือคนถูกต้องเพราะเราเข้าใจถูกต้องว่าประวัติศาสตร์กำลังจะไปทางนี้ คนอื่นที่เป็นศัตรูกับเราไม่เข้าใจ คนที่เชื่อในลัทธิมาร์กซ์อย่างมากจะมีลักษณะเหมือนคนที่เชื่อในศาสนาแม้เขาจะบอกว่าเขาไม่ใช่

เวลาบอกว่าคิดแบบศาสนาเหมือนเป็นการดูถูกกัน แต่ไม่ใช่ ทุกวันนี้มีการดีเบตกันว่า ศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เกิดขึ้นมาได้ยังไง ทำไมสังคมมนุษย์ต้องมีศาสนาทุกสังคม แม้แต่สังคมดึกดำบรรพ์ก็มีเช่นกัน มีคำอธิบายหลายแบบ ตั้งแต่ศาสนาเป็นสิ่งหลอกลวง ศาสนาเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจมนุษย์ ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ เลยเอาศาสนาเข้ามาอธิบายเพราะวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ หรืออธิบายว่า สังคมต้องมีศาสนาเพราะมันมีฟังก์ชันของมัน กฎหมายอย่างเดียวไม่ทำให้สังคมอยู่ได้โดยสันติสุข เพราะกฎหมายควบคุมได้เฉพาะพฤติการณ์ภายนอก แต่ศาสนามันเข้าไปถึงข้างใน กฎหมายควบคุมได้เฉพาะภายนอก ถ้าไม่มีตำรวจ ไม่มีกล้องวงจรปิด คุณก็ลักขโมยไปแล้ว แต่ศาสนาเป็นกลไกทางสังคมที่ควบคุมถึงข้างใน ถึงไม่มีคนเห็นคุณก็จะไม่ทำความผิด ไม่ขโมย ไม่โกหก ไปจนกระทั่งคำอธิบายว่า ศาสนาเป็นข้อผิดพลาดของวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้มนุษย์ยอมรับฟังคนที่เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งทำให้สังคมมนุษย์อยู่รอดมาได้ แต่บังเอิญว่าคนที่เป็นผู้นำสร้างพระเจ้าขึ้นมาแล้วเอามาหลอกใช้ จริงๆ แล้วถ้าเป็นสมัยนี้เราก้าวหน้าไปเยอะเราไม่ได้มองว่าศาสนาเป็นเรื่องเหลวไหล เรื่องเข้าใจผิด ไสยศาสตร์ แต่ศาสนามีฟังก์ชันอะไรบางอย่างหรือไม่ ดังนั้น ที่ผมบอกว่ามาร์กซ์คล้ายศาสนา ไม่ได้มีความหมายในทางลบใดๆ ทั้งสิ้น หลายคนอาจมองว่า คนคนหนึ่งต้องมีจุดมุ่งหมายในชีวิต มีเป้าหมาย ไม่ใช่เกิดมากินนอนสืบพันธุ์ หลายคนคิดแบบนั้น มันจึงต้องมีอุดมการณ์อะไรบางอย่าง
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.