บรรยากาศในห้องประชุมที่ พม.

Posted: 10 Oct 2018 07:55 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-10 21:55


คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าพบรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยื่นข้อเรียกร้องไทยเลือกตั้ง ก.พ. 62 ตามนัด ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนปีหน้า ต้องมีตัวแทนประชาชนที่แท้จริงเป็นประธาน ต้องดูแลปัญหาธรรมาภิบาลข้ามพรมแดน ทำอาเซียนของประชาชนให้เป็นเรื่องจริง

10 ต.ค. 2561 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน นำคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าประเทศไทยเข้าพบอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC - ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children)

คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าประเทศไทยเข้าพบรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และรองอธิบดีกรมอาเซียน เพื่อนำข้อเสนอของคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าประเทศไทย ส่งผ่านหน่วยงานราชการต่อไปยังรัฐบาลไทย ในโอกาสที่ประเทศไทยเตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนและดำรงตำแหน่งในปี 2562 ต่อจากประเทศสิงคโปร์ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. 2561 โดยมีข้อเสนอดังนี้

ตามวาระที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของประเทศไทยจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ในวาระที่รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องให้คำมั่นต่อประชาคมอาเซียนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือน ก.พ. 2562

ภาคประชาสังคมมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาธรรมาภิบาลข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่นกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก อันเป็นผลมาจากการลงทุนที่ขาดธรรมาภิบาล จึงเสนอให้รัฐบาลอาเซียนคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุนทุกโครงการในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยยึดหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ภาคประชาสังคมอาเซียนเห็นด้วยกับหลักการของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศที่ให้การรับรองว่าประชาชนจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนา จึงขอเสนอให้รัฐบาลอาเซียนพิจารณากลไกในการที่จะผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก

ACWC ได้จัดทำเอกสารสำคัญว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี (EVAC and EVAW) และแผนปฏิบัติการภูมิภาค (RPA) ตั้งแต่ปี 2015 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะต่อผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง และกลุ่มหลากหลายทางเพศ คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าประเทศไทยเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่เอกสารสำคัญเหล่านี้และนำไปสู่การปฏิบัติโดยกลุ่มต่างๆ

ให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อสนับสนุนอำนาจหน้าที่ของ ACWC ในการรวบรวมข้อมูลและติดตามกรณีการละเมิดต่อสตรีและเด็กในภูมิภาคอาเซียนโดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ การติดตามกรณีการละเมิดดังกล่าวสามารถบรรจุไว้ในรายงานเงาภาคประชาสังคม CEDAW และ CRC ได้

เพื่อให้การทำงานของ ACWC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงควรสนับสนุน ACWC อย่างเพียงพอทั้งในเรื่องงบประมาณการทำงานและบุคคลากร โดยอาจให้มีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อสนับสนุน ACWC โดยอาจจะให้มีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับกลไกของสหประชาชาติที่ให้มีผูช่วย ของ ACWC หนึ่งคนในระดับภูมิภาค เพื่อหนุนเสริมให้สถาบัน ACWC เข้มแข็งและสามารถรับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศได้


(เสื้อเขียว) อุษณี กังวารจิตต์ รับหนังสือข้อเสนอแนะจากชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ตัวแทนคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้า

นอกจากเข้าพบ พม. แล้ว เมื่อวานนี้ (9 ต.ค. 2561) ชลิดายังได้นำคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าประเทศไทยเข้าพบอุศณา พีรานนท์ รองอธิบดีกรมอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย โดยยื่นข้อเรียกร้องคล้ายกันในสามข้อแรก และยื่นข้อเสนอให้กับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR - ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) โดยขอให้รัฐบาลไทยหยิบยกเรื่องการทบทวนขอบเขตงาน (TOR - Term of Reference) ของ AICHR ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ เพื่อให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็ง อาทิ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ซึ่ง AICHR ไม่มีท่าทีที่เหมาะสมต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา

อุษณีกล่าวว่า ทาง พม. เตรียมประชุมสุดยอดอาเซียนในเสาวัฒนธรรมในปีหน้า ส่วนการพิจารณาร่วมกับ กต. ที่จะมีเวทีให้ประชาสังคมพบปะกับผู้นำประเทศหรือไม่นั้น จะต้องเป็นภาระขององค์กรระดับภูมิภาคที่จะคุยกันว่าจะตกลงใจคุยกันทั้งเรื่องภารกิจหรือวาระได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวหรือไม่ ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป และขอให้สบายใจได้ว่าจะมีภาคธุรกิจ เอกชน ประชาสังคมมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ ต้องการให้ประชาสังคมร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ สิ่งที่อยากให้เกิดคือการที่ภาคประชาสังคมมีการร่วมคิด รับรู้และได้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐบาลคิดว่าจะมีในฐานะที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน

รัชดากล่าวว่า ACWC ทำงานภายใต้ขอบเขตประเด็น 16 ประเด็น คอรบคลุมสิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง และการป้องกันการค้ามนุษย์ ตามกรอบของอาเซียนนั้นถือเป็นที่ปรึกษา กิจการหรือกิจกรรมที่ทำก็คือตามแผนราย 5 ปีของ ACWC ประเด็นที่เสนอกันมาจะต้องพิจารณาว่าอยู่ในแผนงานหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไร ACWC ก็ยึดหลักการของ CRC (อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) และ CEDAW (อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ) อยู่แล้ว แต่ก่อนเรื่องจะถึงกลไกระหว่างประเทศนั้นต้องใช้กลไกระดับประเทศก่อน

คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าจัดตั้งขึ้นเมื่อ 26 ก.ค. 2561 โดยมุ่งเป็นตัวแทนประชาชนรากหญ้าชาวไทยในการแลกเปลี่ยนหารือกับประชาชนอาเซียนในประเทศต่างๆ และกระจายองค์ความรู้ไปทั่วประเทศผ่านเครือข่าย จัดหาภาคประชาชนไปร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียนเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาต่างๆ ในท้องที่และประเด็นของตัวเองด้วยตัวเอง นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายในการล็อบบี้ประเด็นต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านเวทีอาเซียนด้วย


ประชาสังคมตั้งกรรมการรากหญ้าอาเซียน มุ่งให้ความรู้สังคม-ล็อบบี้รัฐบาล

การเข้าพบ กต. และ พม. เกิดขึ้นหลังมีการอบรมเครือข่ายภาคประชาสังคมเรื่องโครงสร้าง กลไกการทำงานของอาเซียนที่จัดขึ้นที่โรงแรมเจแอล บางกอก เมื่อ 7-9 ต.ค. ที่ผ่านมา

คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้า 21 องค์กรประกอบด้วย

1. สมาคมเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิง

2. โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy

3. เครือข่ายกระเหรี่ยงและวัฒนธรรม

4. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

5. สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

6. เดอะ อีสาน เรคคอร์ด

7. สมาคมครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดพัทลุง

8. กลุ่มหัวใจเดียวกัน

9. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

10. PRO RIGHTS

11. เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส)

12. กลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ

13. ชุมชนวิถีไท จังหวัดนครศรีธรรมราช

14. ชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดตาก

15. ตัวแทนอูรักษ์ลาโว้ย

16. เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่

17. มูลนิธิศักยภาพชุมชน

18. กลุ่มเทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

19. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

20. ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร)

21. ตัวแทนคนพิการรักสุขภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.