นิวัฒน์ สุรโชติเกรียงไกร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง (ที่มาภาพเว็บไซต์ไทยพีบีเอส)

Posted: 11 Oct 2018 06:23 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-11 20:23


'ไทยพีบีเอส' แถลงอาลัยวิศวกรวูบกลางรายการ สิ้นใจขณะนำส่ง รพ. 'เลขา สพฉ.' เสียใจ พร้อมเปิดสถิตินำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะโรคหัวใจกว่า 3 แสนราย

11 ต.ค.2561 จากกรณีวานนี้ (10 ต.ค.61) นิวัฒน์ สุรโชติเกรียงไกร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง ระหว่างร่วมสนทนารายการสถานีประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในประเด็น “ค้านสร้างสะพานข้ามแยกพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์” ได้เกิดหมดสติกะทันหันกลางรายการในเวลาประมาณ 14.49 น. และเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
'ไทยพีบีเอส' แถลงอาลัย

ต่อมา เว็บไซต์ ไทยพีบีเอส เขียนข้อความอาลัยต่อ นิวัฒน์ โดยระบุว่า นิวัฒน์ ได้ทำหน้าที่ข้าราชการอย่างสมบูรณ์จนถึงนาทีสุดท้าย ในการชี้แจงประชาชนอย่างนุ่มนวล เกี่ยวกับโครงการสร้างสะพานข้ามแยกพยุหะคีรี ในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกคัดค้าน ไทยพีบีเอสขอร่วมไว้อาลัยด้วยภาพการทำหน้าที่สุดท้ายของเขา

นิวัฒน์ พยายามชี้แจงถึงโครงการสร้างสะพานข้ามแยกพยุหะคีรี ที่ถูกคัดค้านด้วยข้อมูลที่เตรียมมาอย่างดี และนำเสนอด้วยท่าทีที่สุภาพนุ่มนวล โดยไม่แสดงอาการเจ็บป่วย หรือความผิดปกติใดๆ หลังจากที่ชี้แจงได้ประมาณ 5 นาที นายนิวัฒน์ ก็ล้มลงและหมดสติ

แถลงของไทยพีบีเอส ยังระบุด้วยว่า ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ประจำคลินิกพิเศษสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เข้าให้การช่วยเหลือกู้ชีพทันที พนักงานไทยพีบีเอสคนหนึ่งซึ่งเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ได้นำอุปกรณ์ประจำรถฉุกเฉิน ให้การช่วยเหลือและเร่งนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดีอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากที่แพทย์ให้การช่วยเหลือประมาณ 1 ชั่วโมง ก็แจ้งว่า นิวัฒน์ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
เลขา สพฉ.เสียใจ พร้อมเปิดสถิตินำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะโรคหัวใจกว่า 3 แสนราย

วันนี้ (11 ต.ค.61) เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนคิดว่าภาวะอาการป่วยของคุณนิวัฒน์ที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากภาวะทางหัวใจที่ทำงานผิดปรกติซึ่งจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ค่อนข้างเร็ว ทั้งนี้โดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ซึ่งเป็นการเต้นในจังหวัดปรกติ และถ้ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปรกติ อาทิมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ที่ทำให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติ อาการในช่วงแรกๆ ของคนที่เป็นจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือมีอาการใจสั่น ซึ่งถ้าหากเป็นไม่รุนแรงก็จะมีเวลาในการบอกคนข้างๆ หรือบอกเพื่อนๆ ให้พาไปหาหมอ แต่ถ้าหากบางคนมีอาการรุนแรงหรือเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดใหญ่ของหัวใจ อาการจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะที่ทำให้หัวใจล้มเหลวและจะทำให้สมองขาดเลือดก็จะทำให้เกิดอาการหมดสติ

“การเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นเป็นการเจ็บป่วยในอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตของคนไทยซึ่งจากสถิติการนำส่งผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือภาวะเจ็บแน่นทรวงอก เจ็บแน่นหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านหัวใจนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้นำส่งผู้ป่วยไปแล้วมากถึง305,313 ราย ดังนั้นเมื่อเราพบเห็นผู้ป่วยด้วยอาการของโรคหัวใจหรือผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดเราต้องช่วยให้เร็วที่สุด เพราะโดยปรกติแล้วสมองของคนเราจะขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที ซึ่งภายใน 4 นาทีจะต้องได้รับการช่วยเหลือหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพบคนหมดสติ ให้ประเมินด้วยการปลุกเรียกและดูการหายใจ หากหมดสติไม่หายใจ ให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ระหว่างนี้ให้ทำการปั้มหัวใจผู้ป่วยทันที ขั้นตอนคือวางส้นมือประสานกันบนกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลงไปให้ลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร ต่อเนื่องที่อัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่ารถกู้ชีพจะมาถึง นอกจากนี้ให้สอบถามว่าบริเวณนั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED หรือไม่ หากมีให้นำมาใช้ร่วมกับการทำ CPR โดยทำการแปะแผ่นนำไฟฟ้าและกดช๊อตไฟฟ้าตามคำแนะนำของเครื่อง AED " เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าว

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) โดยในปีพ.ศ. 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ประกาศให้เครื่อง AED เป็นเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเลยทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ทำได้มากขึ้นและเร็วขึ้นซึ่งขณะนี้จำนวนของเครื่อง AED ที่สพฉ.ได้รณรงค์และกระจายการติดตั้งไปในพื้นที่สาธารณะไว้เป็นจำนวนมากซึ่งหากเราใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ที่ถูกวิธีจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนป่วยด้วยโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากมีความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ออกกำลังกาย และใช้เวลาอยู่กับการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งความเครียดจะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจบีบตัวและเต้นเร็วขึ้น หรืออาจส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีไขมันในเลือดสูงและเกิดอุดตันหลอดเลือดได้ง่าย อีกทั้งอาจะทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกหัวใจวายได้ด้วย สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้คือ จุกเสียดแน่นตรงกลางหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวกเหมือนมีอะไรมีบีบรัด หรือกดทับ อาจปวดร้าวไปที่คอ แขนซ้าย หรือกราม ร่วมกับอาการคลื่นไส้ เหงื่อออกท่วมตัว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย หรือทำงานหนักๆ แต่ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาการแน่นหน้าอกอาจรุนแรง และอาการไม่ดีขึ้น แม้หยุดพักจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจอาจหยุดเต้นอย่างกะทันหันได้หากใครมีอาการดังกล่าวเหล่านี้หรือพบเห็นคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวนี้ให้รีบโทรหาสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ทั้งนี้ เรืออากาศเอก นพ. อัจฉริยะ แนะนำให้ทุกคน เรียนรู้ขั้นตอนในการทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED สพฉ.ได้จัดทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์ไว้โดยประชาชนสามารถคลิกรับชมคลิปวีดีโอได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้ https://www.youtube.com/watch?v=-BrFVo1tdw0&t=23s หรือคลิกรับชมได้ที่แฟนเพจสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ https://www.facebook.com/pg/niem1669/videos/

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.