ภาพจากเฟสบุ๊กแฟนเพจ Prism Digital Magazine

Posted: 03 Dec 2018 10:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-04 01:02


กาญจนพงค์ รินสินธุ์ รายงาน

เวทีความหลากหลายทางเพศ ตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมแสดงความเห็น สนับสนุนนโยบายคู่ชีวิต 'พรรคเพื่อชาติ' ดันสมรสถูกกฎหมาย รับมรดก เซ็นตกลงยามเจ็บป่วย 'อนาคตใหม่' ชี้ต้องแก้ กม.แพ่งฯ ให้สุดทาง 'พรรคเกียน' เสนอ “เครื่องเพศศึกษา” เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ

3 ธ.ค. 2561 ในงาน 10 ปี วันความหลากหลายทางเพศ: สิทธิและความเสมอภาคในการตั้งครอบครัว ซึ่งจัดที่อาคาร เฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่าน ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อถกประเด็นถึงความไม่เสมอภาคในสังคมที่มีต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และยืนยันถึงสิทธิที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องมีเสมอเหมือนคนอื่นๆ โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือ เวทีแสดงวิสัยทัศน์ของบรรดาพรรคการเมืองต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ซึ่งดำเนินรายการโดย วิทยา แสงอรุณฺ, เจ้าของรายการ PinkMangoTV


ตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์นี้ได้แก่ ศิริ นิลพฤกษ์ ตัวแทนจากพรรคเกียน, ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, ณหทัย เล็กบำรุง ตัวแทนจากพรรคไทยรักษาชาติ, ชื่นชอบ คงอุดม ตัวแทนจากพรรคพลังท้องถิ่นไท, สุไพรพล ช่วยชู ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ, ชมพูนุท นาครทรรพ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์, อภิรัต ศิรินาวิน ตัวแทนจากพรรคมหาชน, พักตร์วิไล สหุนาฬุ ตัวแทนจากพรรคสามัญชน, เรวัต วิศรุตเวช ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย และศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่

ช่วงแรกของเวทีเป็นการสะท้อนเสียงจากประชาชน โดยตัวแทนจากชุมชนความหลากหลายทางเพศที่ได้รับผลกระทบจาก “กฎหมาย” ประเด็นแรกของเวทีสะท้อนเสียงเป็นเรื่องของสิทธิของคนที่รักกันและต้องการจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ซึ่งปัญหาก็คือ ในกรณีที่เพศในบัตรประชาชนเหมือนกัน ต่อให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน กระนั้นกฎหมายก็ไม่ได้รับรองความสัมพันธ์นี้ ปัญหาที่ตามมาจึงเกิดขึ้นในกรณีที่มีเหตุต้องที่จะต้องเซ็นเอกสารประกันชีวิต มีเหตุต้องแจ้งความเมื่อคนรักหายตัว หรือเซ็นยินยอมให้รักษาคนรัก ซึ่งกลุ่มความหลากหลายทางเพศไม่อาจทำได้อย่างผู้ชายผู้หญิงทั่วไป อีกประเด็นหนึ่งคือการรับบุตรบุญธรรมที่คู่รักซึ่งเป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถรับจดทะเบียนบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ซึ่งไม่ยุติธรรมและอาจเป็นปัญหาสำหรับคู่รักที่ร่วมดูแลเด็กกันมา
10 พรรคการเมืองหนุน LGBT ไม่แตกต่าง มีสิทธิเท่าเทียมคนทั่วไป

สำหรับมุมมองต่อ LGBT ลดาวัลย์ จากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตอนที่เธอทำงานด้านสื่อนั้น ยังไม่รู้จัก LGBT เท่าไหร่นัก เพียงแต่เห็นภาพลักษณ์ของกลุ่มนี้บนสื่อที่ดูไม่ค่อยสง่างามนัก แต่พอได้เข้ามาทำงานการเมืองก็ได้มองเห็นในมุมของปัญหาสิทธิที่ยังไม่ครอบคลุมของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเธอเห็นว่าเธอต้องช่วย

ณหทัย จากพรรคไทยรักษาชาติกล่าวว่า เธอไม่เห็นความแตกต่างของมุมมองที่ตัวเองมีต่อความหลากหลายทางเพศ ตลอดการเติบโตของเธอ เธอล้วนมีคนรู้จักที่เป็น LGBT

“เราไม่อยากใช้คำว่าคนกลุ่มนี้กับกลุ่ม LGBT เพราะสำหรับเรา เขาเท่าเทียมกันหมดทุกอย่าง” ณหทัย กล่าว

ชื่นชอบ จากพรรคพลังท้องถิ่นไทมองว่า กลุ่ม LGBT ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป เขาเองก็มีคนรู้จักที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

“เราเคยคิดว่าแค่เราเองยอมรับ LGBT ได้ก็พอ แต่ตอนนี้เมื่อเราได้เห็นแรงกดดันบางอย่างที่กลุ่ม LGBT เจอ จึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาของ LGBT เยอะมาก ทำให้เขาอยากผลักดันเรื่องความเท่าเทียมแก่กลุ่มคนกลุ่มนี้” ชื่นชอบ กล่าว

อภิรัต จากพรรคมหาชนได้กล่าวในนามของพรรคว่า พรรคมหาชนนั้นให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBT มาตั้งปี 2548

“เราไม่สบายใจกับคำว่าต้องยืนอยู่บนขอบ เราเพิ่งเปิดตัวการรับสมาชิกที่เป็นคนกลุ่มหลากหลายไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า เราต้องการพวกท่านให้มาอยู่ตรงกลาง” อภิรัต กล่าว ทั้งนี้เขาเห็นว่าความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBT ยังคงต้องผลักดันกันต่อไป

เรวัต จากพรรคเสรีรวมไทยมองว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนบุคคลซึ่งทุกคนมีสิทธิมีเสรีภาพที่จะรักใครก็ได้ไม่ว่าเพศสภาพจะเป็นอย่างไรก็ตาม

สิริกัญญา จากพรรคอนาคตใหม่เล่าว่า เธอเองมีความสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำงานการเมือง แต่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากนัก จนเมื่อเธอได้มาทำงานการเมืองและได้รู้จักกับกลุ่ม Non-Binary เธอก็ได้รู้ว่าความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้มีการขีดเส้นแบ่งอย่างชักเจน แต่เพศมีความลื่นไหลมาก

ศิริ จากพรรคเกียน ในฐานะที่เธอคือผู้ที่ได้รับผลกระทบเองจากการถูกระบุว่าเป็น “จิตเภท” ตอนเกณฑ์ทหารจนมีปัญหาด้านการสมัครงาน เธอเสนอว่า สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ไม่ควรจะแบ่งแยกกันในเรื่องเพศ

สุไพรพล จากพรรคเพื่อชาติซึ่งก็เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เขาเข้าใจความยากลำบากของ LGBT ในแง่ของการถูกกีดกันในการสมัครงาน ซึ่งนโยบายของรัฐเป็นสิ่งจำเป็นที่จะแก้ปัญหานี้

ชมพูนุท จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เธอภูมิใจที่เป็นหญิงรักหญิงมาตลอด ส่วนตัวเธอไม่ได้มีปัญหาแต่ได้ทราบปัญหาจากคนรู้จัก เธอจึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยงานการเมือง

พักตร์วิไล จากพรรคสามัญชนกล่าวว่า ตนเติบโตมากับความหลากหลายทางเพศ จากประสบการณ์ที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ได้เห็นความเจ็บปวดทั้งของตนและคนรอบข้างมากพอแล้ว จึงออกมาเคลื่อนไหวในงานการเมือง


ภาพจากเฟสบุ๊กแฟนเพจ Prism Digital Magazine

หนุนนโยบายคู่ชีวิต ผลักดันสมรสถูกกฎหมาย รับมรดก เซ็นตกลงยามเจ็บป่วย

พักตร์วิไล กล่าวว่า พรรคสามัญชนมีกระบวนการพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ กรรมการของพรรคมาจากทุกเพศทุกวัย ทุกฐานะ มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาด้วยในสัดส่วนหญิงชาย ในการทำงานมีการให้ความสำคัญแก่ความหลากหลายทางเพศตลอดเวลา

อภิรัต กล่าวว่า สำหรับพรรคมหาชน ประเด็นความหลากหลายทางเพศคือเรื่องสำคัญในนโยบายของพรรค มีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางเพศซึ่งก็เป็นกลุ่ม LGBT เองเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย การพูดคุยกันนั้นจะเกิดขึ้นบ่อยทุกวัน

ชมพูนุท กล่าวว่า ทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ด้านพรรคเองก็ได้มีการร่วมกันทำวิดีโอที่ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเรื่องนโยบายเพื่อความเท่าเทียมและเรื่องคู่ชีวิต

สุไพรพล กล่าวในแง่นโยบายของพรรคเพื่อชาติว่า พรรคมุ่งผลักดันให้คู่ชีวิตที่สามารถสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย การรับมรดก การเซ็นตกลงยามเจ็บป่วย และจะจัดศูนย์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่ม LGBT และผู้ที่ไม่ใช่ LGBT รวมถึงการจัดที่พักพิงสำหรับกลุ่ม LGBT ที่มีปัญหา

ศิริ เสนอคำว่า “ผสมเพศ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่กำลังผลักดันในพรรคเกียน เป็นแนวคิดว่าด้วยการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลาย ในพรรคเองก็มีข้อถกเถียงกันและยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรค เป็นเวรกรรม ซึ่งเธอก็บอกว่า เธอจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในพรรคก่อนที่จะไปสร้างความเข้าใจข้างนอก

ด้านพรรคพลังท้องถิ่นไทนั้น ชื่นชอบ กล่าวว่า ทางพรรคก็มีการเปิดให้กลุ่ม LGBT เข้ามาอยู่ในพรรค เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งก็มีคนในพรรคไม่แน่ใจว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ทางหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา ต่อมาก็มีการทำเวิร์กช็อปเพื่อหาปัญหาในกลุ่ม LGBT และแนวทางที่พรรคจะสนับสนุนกลุ่มนี้

ลดาวัลย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยปฏิบัติตามหลักสากลในเรื่องของความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ และทางพรรคก็เคยทำแคมเปญเพื่อสนับสนุนพื้นที่ความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้เองก็มีการนำข้อเรียกร้องต่างๆ บรรจุในข้อมูลของพรรค ซึ่งจะมีการเวิร์คช็อปกันหลังจากนี้
จากความล้มเหลวในไต้หวัน อนาคตใหม่ชี้ต้องแก้ กม.แพ่งฯ ให้สุดทาง

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อกรณีของไต้หวันที่มีการโหวตแล้วได้ผลว่าไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมายสมรส ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ เสนอว่า ก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่าต้องมีการรณรงค์กันอย่างแข็งขัน เธอกล่าวต่อไปว่าทางพรรคอนาคตใหม่สนับสนุนการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สุดทาง ในบางประเด็นแม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ผลักดันให้สุดทาง เรื่องสำคัญคือต้องรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ

ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า กฎหมายไม่อาจครอบคลุมความพึงพอใจได้ทุกกลุ่ม จุดยืนของเขาคือให้ความหลากหลายเป็นสิทธิเสรีภาพตามความต้องการของตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพในการเลือก ไม่ต้องกำหนดเรื่องเพศหรือจำนวนคนในครอบครัว ส่วนเรื่องกฎหมายถ้าต้องการให้ครอบคลุมก็ต้องรื้อแก้กันตั้งแต่ต้น

ขณะที่ ตัวแทนจากพรรคไทยรักษาชาติ บอกว่า กว่าจะไปถึงสุดทางในความหมายที่ LGBT ได้รับความเท่าเทียม เรื่องระหว่างทางในความหมายที่กลุ่ม LGBT ยังต้องเจอกับอคติและความไม่เท่าเทียมก็เป็นเรื่องสำคัญ สังคมยังมีปัญหาการตัดสินการตราหน้า สิ่งที่เธอเห็นว่าสำคัญคือ ระหว่างการผลักดันความเท่าเทียมแก่ LGBT สังคมควรไร้ซึ่งอคติ สำหรับพ.ร.บ. คู่ชีวิต ส่วนตัวเธอสนับสนุน ส่วนทางพรรคก็เห็นว่าจะต้องแก้กันในเชิงรายละเอียดภายใน
พรรคเกียนเสนอ 'เครื่องเพศศึกษา' เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ

ศิริ จากพรรคเกียนเสนอการปฏิรูป “เครื่องเพศศึกษา” เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ เรียนรู้ที่จะให้เกียรติกัน เล็งเห็นให้ว่าต้องปฏิรูปกันตั้งแต่ปฐมวัย สร้างความเข้าใจให้กับครอบครัวในเรื่องเครื่องเพศศึกษา

“ครอบครัวเป็นโรงเรียนแรกของลูกๆ ที่จะสามารถสอนลูกได้ว่าเครื่องเพศศึกษาที่ควรเป็นจริงๆ เป็นยังไง เราถึงจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไรให้เป็นสุข” ศิริ กล่าว

ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าได้เสียงข้างมากในสภา ก็พร้อมที่จะชี้แจง อธิบาย เป็นปากเป็นเสียงแทนถ้ามีใครออกมาต่อต้าน นอกจากนี้ยังจะเพิ่มประเด็น LGBT เข้าไปในวาระแห่งชาติ

ชื่นชอบจากพรรคพลังท้องถิ่นไทกล่าวว่าความเข้าใจในกลุ่ม LGBT ของคนในสังคมคือเรื่องสำคัญ พรรคมุ่งผลัดดัน LGBT โมเดลเพื่อสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคม ว่า LGBT ไม่ใช่คนไม่ดี อยู่ในสังคมได้ และพรรคยังต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ LGBT ของโลก

สุไพรพล กล่าวว่า พรรคเพื่อชาติสนับสนุนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกกันไม่ว่าจะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือรสนิยมทางเพศ ทางพรรคจะคอยจัดการอุปสรรคต่อกลุ่ม LGBT พร้อมทั้งสนับสนุนเรื่องงบประมาณเพื่อสร้างความเข้าใจต่อ LGBT ในสังคม ส่วนประเด็นพ.ร.บ. คู่ชีวิต

สุไพรพล มีความเห็นว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นพ.ร.บ. ที่อนุรักษ์นิยม ไม่สามารถที่จะมีสาระให้เกิดประโยชน์กับกลุ่ม LGBT ได้ ต้องให้เกิดรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเท่านั้น

ชมพูนุท จากพรรคประชาธิปปัตย์กล่าวว่า สิ่งที่ทางพรรคผลักดันคือสิทธิประโยชน์ที่พึงมีและพึงได้กันอย่างถ้วนหน้าซึ่งรวมถึงกลุ่ม LGBT

อภิรัต จากพรรคมหาชน กล่าวว่า ทางพรรคได้มีการคุยถึงเรื่องคำนำหน้าชื่อ ยังมีการคุยถึงเรื่องกระทรวงแรงงาน การยอมรับในที่ทำงาน เรื่องของสาธารณสุขและรับประกันสุขภาพ

พักตร์วิไล กล่าวว่า ยึดหลังประชาธิปไตยฐานรากสิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศก็คือสิทธิมนุษยชน พรรคสามัญชนจะแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ออกมาต้องมีความเป็นธรรม ทางพรรคยึดหลักประชาธิปไตยจากฐานราก ทุกคนมีสิทธิออกเสียง

เรวัต พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เรื่องกฎหมายกับประเด็นชีวิตคู่จะต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด

“ในวันหนึ่ง สิ่งที่ผมคิดว่า ไม่ต้องกำหนดเพศเลย แค่เกิดมาเป็นคน ควรจะมีความเสมอภาค หรือสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน” เรวัต กล่าว

ส่วนอนาคตใหม่นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจากเรื่องการสมรส ก็ยังมีการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม มีการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เสนอนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ในสภาก็มุ่งแก้กฎหมายกัน ส่วนนอกสภา ยังต้องมีการทำความรู้ความเข้าใจกันต่อไป เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมนี้ ซึ่งเธอได้จากบทเรียนที่สังคมยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ได้มีการสนทนาถกเถียงในสังคมจนมีปัญหาในการออกฎหมาย

สำหรับ กาญจนพงค์ รินสินธุ์ ผู้รายงานฉบับนี้ ปัจจุบันฝึกงานกับประชาไท เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.