Posted: 11 Dec 2018 09:26 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-12 00:26



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออก 5 ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ระบุอำนาจในการควบคุมและจำกัดเสรีภาพประชาชนนั้นยังคงมีอยู่


11 ธ.ค.2561 จากกรณีที่วันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อปลดล็อคการทำกิจกรรมทางการเมืองอันจะนำไปสู่การเลือกตั้ง นั้น

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกข้อสังเกตทางกฎหมายต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 โดยระบุว่า แม้ คสช. จะผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง แต่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า อำนาจในการควบคุมและจำกัดเสรีภาพประชาชนนั้นยังคงมีอยู่ในประเด็นสำคัญต่อไปนี้

1. หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และมาตรา 265 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งอำนาจดังกล่าวจะคงอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ อันหมายความว่าหัวหน้าคสช. จะยังมีอำนาจอย่างเด็ดขาดที่จะออกคำสั่งใดๆ ก็ตาม เพื่อควบคุมเเละบริหารประเทศตลอดระยะเวลาก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง โดยคำสั่งนั้นยังเป็นที่สุด เพราะปราศจากการตรวจสอบจากศาล อีกทั้งยังชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ

2. เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ยังคงมีอำนาจในการจับกุม เข้าไปในเคหสถาน ยึด ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน หรือ “การปรับทัศนคติ” จะยังมีอยู่ และเป็นปฏิบัติการหลักที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการใช้สิทธิเสรีภาพตลอดมา

3. ความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งยกเลิกแล้วแต่กำหนดเงื่อนไขไม่ให้กระทบกระเทือนคดีนั้นขาดความชัดเจน ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวยังคงมีภาระในการต่อสู้คดีเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ นอกจากนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งกำหนดความผิดแบบเดียวกันยังไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

4. ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 นั้นยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ในคดีที่เกิดขึ้นระหว่าง 25 พ.ค. 2557 - 11 ก.ย. 2559 ซึ่งมิได้ถูกยกเลิกไปด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ทำให้บุคคลไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่

5. นอกจากประกาศและคำสั่ง คสช. แล้ว คสช. ยังมีเครื่องมือในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

อ่านทั้งหมดที่นี่ https://www.tlhr2014.com/?p=10035

หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อกทำกิจกรรมการเมืองได้ แต่ให้ดำเนินคดีเก่าต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.