ซ้ายไปขวา: เอ็ดมุน บอน ชุย เหม็ง เปรมฤดี ดาวเรือง และชาร์ล ซานติอาโก (ผ่านสไกป์)

Posted: 12 Dec 2018 07:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-12 22:02


รำลึกครบรอบ 6 ปี การหายตัวไปของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมชาวลาวที่ถูกอุ้มหายกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ภรรยาสมบัดระบุ ครอบครัวต้องผู้สูญหายต้องทำให้เรื่องราวเหยื่อคงอยู่ ผู้แทนจากกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนเผย ปี 2523-2557 นักสิทธิฯ อาเซียนหายตัวพันกว่าราย ส่วนมากยังไม่ได้รับการไขคดี เสนอให้ภูมิภาคมีเวทีสาธารณะให้เหยื่อผู้สูญหายมีที่ทางในการพูดโดยให้ภาครัฐเข้าร่วมด้วย

12 ธ.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานรำลึกหกปีการบังคับสูญหายของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมชื่อดังของลาวที่หายตัวไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 โดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-ASIA) รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) และโกลบอลเซาธ์

งานมีการเชิญชุย เหม็ง ภรรยาของสมบัด เปรมฤดี ดาวเรือง นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชาร์ล ซานติอาโก ตัวแทนมาเลเซียจาก APHR และเอ็ดมุน บอน ตัวแทนมาเลเซียจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) มาเป็นวิทยากร

ชาร์ลระบุว่า หลังสมบัดหายตัวไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 ก็มีความพยายามในการตามหาตัว หรือแกะรอยแต่ถูกทางการลาวปฏิเสธ คณะค้นหาความจริง 3-4 ชุดก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถูกทางการลาวเมินเฉย การหายตัวไปของสมบัดนั้นถือเป็นการละเลยต่อหลักนิติรัฐ หลักการสิทธิมนุษยชน และอาเซียนเองก็มีท่าทีที่เงียบงันในทางปฏิบัติ ทั้งๆ ที่กรณีสมบัดนั้นถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีการรับผิดรับชอบใดๆ ตลอดหกปีที่ผ่านมา

เอ็ดมุนกล่าวว่า ยอดของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมในอาเซียนที่หายตัวไปนั้นมีค่อนข้างสูง โดยสถิติตั้งแต่ปี 2523-2557 พบว่ายอดสูญหายอยู่ที่ 1,025 กรณี โดยร้อยละ 85 ของการสูญหายนั้นยังคงไม่สามารถชี้ชัดได้ จำนวนการสูญหายมากที่สุดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับอาเซียนนั้นถือว่ายังทำไม่พอ AICHR / Parl ควรจะทำได้มากกว่านี้ ควรจะต้องทำลายขนบทางการทูตและพูดถึงประเด็นการสูญหายของนักกิจกรรมรวมถึงประเด็นอื่นด้วย อย่างเช่นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศพม่าในขณะนี้

ผู้แทนมาเลเซียใน AICHR เสนอว่าควรให้มีเวทีสาธารณะในภูมิภาค เพื่อให้ครอบครัวของเหยื่อ หรือตัวผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์อย่างการสูญหายหรือความรุนแรงต่างๆ ออกมาพูดว่าชีวิตพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไร โดยให้ตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ แม้การสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจะมีความสำคัญ แต่ว่าการหาแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปก็มีความสำคัญเช่นกัน

ชุย เหม็ง กล่าวว่า ตลอดหกปีที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมบัดไปในแนวว่า สมบัดเป็นใคร มีบุคลิกเป็นอย่างไร เป็นความพยายามทำให้สมมติฐานว่าสมบัดหายตัวไปด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือไม่ก็ด้วยปัญหาจากการทำธุรกิจ


ในเวทีการทบทวนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่มีการโต้แย้งข้อคิดเห็นโดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนลาว ด้วยการบอกว่าสมบัดมีบ้านหลายหลัง มีเงินจำนวนมาก และปฏิเสธสถานะภรรยาของเธอนั้นเป็นภาวะสะท้อนว่ารัฐไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องพลเมืองสัญชาติลาวอย่างสมบัดที่หายตัวไปเลย

“หกปีที่ไม่มีคำตอบ ที่ต้องพุ่งชนกำแพงต่อไป การฟังคำโกหกทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากๆ อย่างชัดเจน”

ภรรยาของสมบัดกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายจะทำได้ ก็คือการทำให้เรื่องราวของผู้สูญหายไม่หายไปด้วย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทางการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐอยากให้ลืมๆ กันไป ในอาเซียนมีการสูญหายอยู่หลายกรณี แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกกรณีนั้นคือการสูญหายของมนุษย์หนึ่งคน หนึ่งคนที่มีครอบครัว มีเพื่อน และแต่ละคนมีเรื่องราวของตัวเอง มีหลายคนที่บอกให้เธอลืมสมบัดแล้วเดินหน้าต่อไป แต่เธอทำไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่คนที่เธอรักถูกทำให้หายไปอย่างไม่มีความเป็นธรรมและถูกปฏิเสธซึ่งศักดิ์ศรี และสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้รับความยุติธรรม

ชุย เหม็งเรียกร้องให้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะถ้าสามารถไขคดีการบังคับสูญหายได้หนึ่งคดี คดีการบังคับสูญหายอื่นๆ ก็จะมีความหวัง และยังเห็นด้วยที่จะมีเวทีให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหายออกมาพูดว่าชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ถูกทำลายลงไปอย่างไร

เปรมฤดีกล่าวว่า หลังสมบัดหายตัวไป ภาคประชาชนในอาเซียนเริ่มมีความพยายามใส่ชื่อสมบัดลงไปในเวทีการประชุมประชาสังคม ภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) มาตั้งแต่ปี 2558 แต่การทำเช่นนั้นก็ได้รับการโต้เถียงจากประชาสังคมจากลาวว่าเป็นการทำให้อับอาย ทำไมถึงไม่ใส่ชื่อหรือเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศอื่นเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเดียวกับเวลาที่มีคนพูดเรื่องข้อเสียของเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในลาวก็มักจะได้รับการตอบโต้จากประชาสังคมลาวว่ามันก็มีข้อดีอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะสร้างทำไม การตอบโต้เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ส่วนเหตุที่ชื่อสมบัดไม่ปรากฏในแถลงการณ์ของเวทีภาคประชาชนอาเซียนในปีนี้ที่สิงคโปร์นั้นเป็นเพราะปัญหาของการจัดการมากกว่า

เปรมฤดีกล่าวต่อไปว่า หลังสมบัดหายตัวไป ภาคประชาสังคมมีการรณรงค์อย่างแข็งขันเรื่อยมา สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่ภาคประชาชนอาเซียนตัดสินใจไม่ส่งต่อตำแหน่งเจ้าภาพให้กับลาวในปี 2559 ซึ่งเหตุหนึ่งก็เพราะประชาสังคมลาวที่มานั้นส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกษียณ

เปรมฤดีกล่าว่า หลังจากการหายตัวของสมบัด มาจนถึงกรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกเมื่อเดือน… ที่ผ่านมา ทำให้ลาวกลายเป็นที่จับจ้องของประชาคมโลกมาต่อเนื่องว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศลาวกันแน่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในวาระที่ปีนี้ไทยเริ่มเป็นประธานอาเซียน ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับคำว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ที่อาเซียนประกาศเอาไว้ด้วยการหาแนวทางเดินหน้าต่อไปอย่างไรในกรณีการหายตัวไปของสมบัด รวมทั้งกรณีอื่นๆ ด้วย

เมื่อ 15 ธ.ค. 2555 กล้องวงจรปิดของสถานีตำรวจที่กรุงเวียงจันทน์มีการบันทึกภาพเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวสมบัดจากบนถนน มีการหยุดรถจี๊ปของเขาก่อนที่จะพาตัวเขาส่งขึ้นรถบรรทุก ชุย เหม็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของสมบัดเปิดเผยว่ามีพยานพบเห็นสมบัดและรถจี๊ปของเขาในที่กักขังของตำรวจ นับจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน การดำเนินคดี การสืบสวนสอบสวนในกรณีนี้ยังไม่สามารถไขความกระจ่าง ถึงผู้กระทำ แรงจูงใจ หรือชะตากรรมของสมบัดได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.