Posted: 14 Dec 2018 09:57 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-12-15 00:57


เวที Thammasat Resolution Talk ตั้งโจทย์พรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้าง ‘รัฐรวมศูนย์’ แต่ไร้เอกภาพ ทำนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกือบ 8 พันแห่งทั่วประเทศชะงัก กระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านนายกเทศมนตรีนครยะลา ชี้ปัจจุบันท้องถิ่นเหมือนถูกมัดตราสัง ตรวจสอบทุกกระเบียดนิ้ว แนะจับเข่าคุยกันทั้งส่วนกลางและภูมิภาค หวังเชื่อมโยงบทบาท ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

15 ธ.ค.2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มธ., สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย และ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดเวทีเสวนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต : วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การกระจายอำนาจและปฏิรูประบบราชการ” เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ อยู่ในภาวะติดกับดัก 3 แพร่งคือ กับดักความเหลื่อมล้ำ กับดักระบอบอำนาจนิยม และกับดักรายได้ปานกลาง แต่การแก้ไขปัญหายังขาดประสิทธิผล เพราะมีการรวมศูนย์อำนาจของรัฐแบบไร้เอกภาพ เปรียบได้กับ “ปิรามิดสามเหลี่ยมที่แตกกระจาย” จึงไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายหรือบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้

โดยในปี 2561 มูลค่าทรัพย์สินของคนรวยที่สุด 50 ลำดับแรกในประเทศไทย คิดเป็น 35.58% ของจีดีพี ขณะที่คนชั้นกลางระดับบนก็รู้สึกถึงความไม่มั่นคง จึงมีความพยายามปกป้องความมั่งคั่งด้วยการสนับสนุนกลุ่มอำนาจนิยม ต่อต้านการกระจายทรัพยากรและการกระจายรายได้

รศ.ดร.อภิชาต มองว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็สถาปนาให้เกิดรัฐราชการที่รวมศูนย์ ทั้งๆ ที่พลังทางสังคมเติบโตขึ้นมาก การปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจขนานใหญ่ จะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดพลังทางสังคมในวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่จนสามารถบังคับให้รัฐต้องรับผิดต่อประชาชน

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา กล่าวว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นขณะนี้ยังไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง องค์กรปกครองท้องถิ่นเหมือนอยู่ในภาวะถูก “มัดตราสัง” จากระบบการตรวจสอบที่เข้มงวด มาตรการกำกับดูแลจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งมุ่งมั่นทำงานเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนได้ดีและมีนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อน สุดท้ายก็ถูกมองว่าบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ

“รัฐกลางต้องเข้าใจว่าวันนี้ชาวบ้านมีความสามารถในการจัดการตนเองแล้ว ถ้ายังคิดแบบเดิมอยู่กงล้อจะหมุนกลับไปสู่รัฐเองว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมจึงไม่ปฏิรูป” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว

พงษ์ศักดิ์ เสนอแนะว่า สิ่งที่ท้องถิ่นต้องการก็คืออิสระในการทำงานภายใต้กรอบหน้าที่ เพราะประชาชนจะเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาและทุกคนต้องการเห็นเมืองของตนพัฒนาเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา การกระจายอำนาจถือเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมือง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะติดขัดระบบราชการเดิมจึงปรับเปลี่ยนได้ยาก ดังนั้น แนวทางใหม่คือมุ่งเน้นเฉพาะจุดที่เสียงของคนในพื้นที่เข้มแข็ง อย่างเช่น จังหวัดขอนแก่น หรือนครแม่สอด จังหวัดตาก ฯลฯ ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง

“การปฏิรูประบบราชการไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกของประเทศไทย รัฐบาลใหม่ควรขับเคลื่อนอย่างแรงและต้องไปต่อ ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่” แนวทางที่ ผศ.ดร.อรทัย เสนอคือเปลี่ยนระบบบริหารเดิมที่กำหนดให้ทุกอบจ. เทศบาล อบต.ดำเนินการแบบเดียวกันทั้งประเทศหรือ “ระบบสมมาตร” เปลี่ยนเป็นระบบที่ทุกพื้นที่สามารถพัฒนาในสิ่งที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้ และมีสภาพลเมืองทำหน้าที่เรียกร้องตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่น

ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเติบโตมาตลอด 20 ปี ปัจจุบันมีท้องถิ่น 7,853 แห่งทั่วประเทศ เป็นกลไกและสถาบันทางการเมืองระดับชุมชนที่จัดบริการสาธารณะได้หลากหลายและได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น การศึกษา สาธารณสุข และการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น การกระจายอำนาจต้องดำเนินต่อไป จะหยุดนิ่ง แช่แข็งหรือถูกบอนไซไม่ได้ เพราะมุมมองทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ล้วนเห็นตรงกันว่าทำให้สังคมได้ประโยชน์สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

ในส่วนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น ผศ.ดร.วสันต์ มองว่า กำหนดหลักการกระจายอำนาจแบบกว้างๆ แม้ไม่ถอยหลัง แต่ก็ไม่เห็นทิศทางข้างหน้าชัดเจน ท่ามกลางโลกปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 จึงท้าทายบทบาทของรัฐบาลในอนาคต ต้องเน้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพของทั้ง 3 ฝ่ายคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันหาทางออกในการจัดแบ่งบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.