ชานชาลาที่สถานีรถไฟนานกิงใต้ เมืองนานกิง มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ภาพถ่ายในเดือนพฤษภาคม 2017 (ที่มา: Kristoffer Trolle/Flickr/CC BY 2.0)

Posted: 17 Dec 2018 09:07 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-18 00:07


จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงเคยมีการให้ทุนกู้ยืมสำหรับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศเพื่อเปิด "เส้นทางสายไหมแห่งใหม่" แต่ประเทศต่างๆ ในเอเชียก็เริ่มต่อต้านการกู้ยืมจำนวนมหาศาลจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในบางประเทศเช่น ศรีลังกา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะที่อีกหลายประเทศมีการใช้การต่อต้านโครงการจีนมาเป็นนโยบายหาเสียงเอาใจผู้คน เหตุใดผู้คนถึงเริ่มไม่ชอบโครงการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' นี้

ประธานาธิบดีอับดุลเลาะห์ ยามีน แห่งมัลดีฟส์เคยกล่าวชื่นชมการเปิดตัว "สะพานมิตรภาพจีน-มัลดีฟส์" สะพานเชื่อมเกาะซึ่งสร้างโดยจีนว่าเป็น "ทางผ่านไปสู่วันพรุ่งนี้และเป็นโอกาสทอดสู่หนทางไกล" เขาพูดถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แต่อีกหนึ่งเดือนถัดจากนั้นเขาก็ถูกโหวตออกและมีรัฐบาลใหม่เริ่มจัดการกับหนี้สิ้นที่ท่วมเป็นภูเขา ตัวยามีนเองก็เป็นผู้นำแบบชอบแสดงอำนาจอิทธิพลที่สั่งจำคุกคนที่ต่อต้านเขารวมถึงผู้พิพากษา ขณะที่ตัวเขาเองสนับสุนนจีนและกู้หนี้ยืนสินจากจีนเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างโครงการต่างๆ ในมัลดีฟส์

อย่างไรก็ตามรัฐบาลใหม่ของมัลดีฟส์ดูจะไม่พอใจการกู้หนี้มหาศาลจากจีนเช่นนี้ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ( Belt and Road Initiative) มีการยกตัวอย่างกรณีการขอสร้างโรงพยาบาลด้วยงบประมาณ 54 ล้านดอลลาร์ จากการกู้ยืมจีน 140 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกตีตกไปในรัฐบาลก่อนหน้านี้

ไม่เพียงแค่มัลดีฟส์เท่านั้นที่เริ่มรู้สึกว่าคำสัญญาเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิของจีนฟังดูดีเกินไป ประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็เริ่มรับรู้เรื่องนี้แล้วเช่นกัน จีนพยายามเข้าไปยื่นข้อเสนอกู้ยืมงบประมาณสร้างทางรถไฟหรือทางด่วนในประเทศที่จนกว่าหลายประเทศในเอเชีย แต่ประชาชนในประเทศอย่างมาเลเซียและศรีลังกาก็เริ่มไม่พอใจข้อตกลงเหล่านี้จากจีนและมองว่ามันไม่เป็นธรรม เป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่ต้องมีการตรวจสอบ-สืบสวน หรือยับยั้งโครงการที่ทำร่วมกับจีนเหล่านี้ไปก่อน

แอนดรูว สมอลล์ นักวิชาการอาวุโสจากโครงการเอเชียของมูลนิธิเยอรมันมาแชลล์กล่าวว่านโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนผ่านพ้นระยะเริ่มต้นไปแล้วโดยที่ยังไม่มีโมเดลใหม่สำหรับโครงการนี้จากที่โมเดลเดิมของพวกเขาคือการเน้นเรื่องความรวดเร็วและขนาดที่ใหญ่โตของโครงการไม่ได้มีความยั่งยืนอีกต่อไป

ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ทางการจีนผู้ไม่ประสงออกนามบางคนก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาดและการดำเนินโครงการอย่างไม่ดีพอซึ่งจะทำลายชื่อเสียงของจีน มีโอกาสทำให้ผู้คนเกลียดชังจีนได้ จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขแผนการก่อรูปโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอื่นๆ อีกครั้ง โดยเรื่องนี้มีการสะท้อนถึงภายในรายงานทางการของจีนด้วย

สื่อบลูมเบิร์กระบุว่าในเอเชียหลายประเทศมีความต้องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต้องการให้เข้ามาตรฐานการลงทุนขนาดใหญ่และมีจีนเท่านั้นที่เข้าหาพวกเขาในเรื่องนี้ ในขณะที่มีการจับตามองประเด็นการต่อกรกันด้านการค้าระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับสีจิ้นผิงของจีนนั้นเน้นเรื่องการแย่งเข้าถึงตลาดและเทคโนโลยีจากยุโรป ออสเตรเลียกับญี่ปุ่นก็เริ่มพยายามสกัดกั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนอย่างท่าเรือสำคัญและระบบโครงข่ายต่างๆ มากขึ้น และในเอเชียก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์และความกังขาต่อเจตนาของจีน

ทั้งนี้สมอลล์ก็วิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานการพิจารณาปรับปรุงโครงการของทางการจีนว่า พวกเขาต้องการเน้นการเจรจาข้อตกลงใหม่อีกครั้ง เน้นเรื่องประสิทธิภาพของโครงการ และพยายามแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นในฐานะประเทศคู่ตกลงที่สาม ไปจนถึงพิจารณาความเสี่ยงระดับเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น

ประเทศปากีสถานซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดีกับจีนมาหลายสิบปีก็มีเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธไม่พอใจการลงทุนของรัฐบาลจีนในเขตพื้นที่รอบนอกจึงก่อเหตุระเบิดและโจมตีสถานกงสุลจีนในนครการาจีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย

ประเทศศรีลังกาเริ่มมีความไม่พอใจว่าจีนจะเข้าไปมีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของพวกเขา ที่ปรึกษารัฐบาลในพม่ากก็วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณโครงการท่าเรือจีนที่มากผิดปกติซึ่งเป็นโครงการที่มีการตกลงกันในช่วงยุคสมัยรัฐบาลทหาร

ในมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งใหม่กลางปีนี้ก็ระงับโครงการหลายพันล้านที่ทำร่วมกับจีน และวิจารณ์ว่าข้อตกลงจีนเหมือนเป็น "การล่าอาณานิคมแบบใหม่"

ส่วนประเทศอินเดียก็ต่อต้านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมานานแล้วเพราะโครงการนี้มีการให้ทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่ปากีสถานรวมถึงในพื้นที่ๆ เป็นข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในแคชเมียร์ด้วย นอกจากนี้อินเดียยังวิจารณ์ว่าจีนพยายามล่อลวงให้ประเทศอื่นๆ ตกสู่ห้วงกับดักหนี้สิน

ถึงแม้ว่าอินเดียจะเป็นคู่แข่งจีนที่ไม่มีเงินทุนมากพอจะทำแบบเดียวกัน แต่ข้อวิจารณ์นี้ก็มีที่มาที่ไป มีรายงานของศูนย์เพื่อการพัฒนาโลกระบุว่ามี 8 ประเทศที่เสี่ยงต่อปัญหาภาวะหนี้สินจากการกู้ยืมจีน เช่น ปากีสถาน, มัลดีฟส์, ลาว, มองโกเลีย และ จิบูตี ซึ่งในจิบูตีมีฐานทัพนอกประเทศแห่งแรกของจีนตั้งอยู่ด้วย

ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากมาเลเซียแล้วก็มีเวียดนามที่ไม่พอใจจีนในเรื่องความขัดแย้งพื้นที่ทะเลจีนใต้ซึ่งเสี่ยงต่อเรื่องความมั่นคงจนกลบเรื่องโครงการลงทุนของจีนไป ส่วนอินโดนีเซียก็เริ่มนำประเด็นการต่อต้านการลงทุนจากจีนมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

เคลซี โบรเดอริก จากฝ่ายเอเชียของบริษัทให้คำปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง ยูเรเซียกรุ๊ป กล่าวว่าผู้สมัครเลือกตั้งทั่วโลกเริ่มอาศัยความกังวลของประชาชนต่อหนี้สินที่มีต่อจีนมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง ไม่ว่าจะในบราซิล และแม้แต่ในเคนยา แซมเบีย และไทย ก็อาจจะมีการถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องนี้ด้วย

สาเหตุที่ผู้คนต่อต้านในเรื่องนี้เพราะมองว่าโครงการของจีนสร้างหนี้ เอื้อประโยชน์ให้จีนเอง และขาดความยั่งยืน แม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เปิดเผยในที่ประชุมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานนี้ว่าสหรัฐฯ "จะไม่เสนอนโยบายแบบเข็มขัดที่บีบรัดหรือเส้นทางแบบไปได้ทางเดียว" ซึ่งเป็นการเล่นคำกับนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (one belt, one road) ของจีน

อย่างไรก็ตามถึงแม้สหรัฐฯ จะให้การกู้ยืมด้านโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขของจีน ขณะที่เอเชียกำลังต้องการโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากและจีนก็กำลังศึกษาเรื่องโครงการนี้ใหม่เพื่อเน้นเรื่องการควบคุมความเสี่ยงอีกครั้ง

เรียบเรียงจาก

How Asia Fell Out of Love With China’s Belt and Road Initiative, Bloomberg, 11-12-2018
https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-12-10/how-asia-fell-out-of-love-with-china-s-belt-and-road-initiative

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.