แจ็ค หม่า (ที่มา: Flickr/UNCTAD)

Posted: 27 Nov 2018 02:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 17:32


ดูสถานะ หน้าที่ และการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และความสัมพันธ์รัฐ-ทุน เมื่อมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง ‘แจ็ค หม่า’ เป็นสมาชิกพรรค และสองผู้ก่อตั้งกิจการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่างเท็นเซ็นต์และไป่ตู้จ่อได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาชี้ ชนชั้นนายทุนเป็นสมาชิกพรรคมากขึ้นหลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสังคมนิยมสู่เสรีนิยม

27 พ.ย. 2561 เป็นที่ฮือฮาเมื่อสำนักข่าวพีเพิลเดลี สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) เผยแพร่รายชื่อของคนจำนวน 100 คนที่จะได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศที่เริ่มในสมัยประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อปี 2521 ซึ่งในรายชื่อและแถลงการณ์นั้นมีชื่อแจ็ค หม่า อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นอกจากแจ็ค หม่าแล้ว ในรายชื่อผู้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ยังมีชื่อของผู้ก่อตั้งกิจการด้านอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าวโพนี่ หม่า ซีอีโอของบริษัทเท็นเซ็นต์ และโรบิน ลี่ ซีอีโอของบริษัทไป่ตู้ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นผู้มีส่วนในการผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัว แจ็ค หม่านั้น ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย

นอกจากแวดวงธุรกิจแล้วยังมีคนจากแวดวงอื่นๆ ปรากฏในรายชื่อไม่ว่าจะเป็น เหยา หมิง อดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอชาวจีน หรือหลาง ผิง โค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนที่อยู่ในโผดังกล่าวร่วมกับบุคคลจากแวดวงวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ไปจนถึงศิลปิน ซึ่งส่วนมากก็เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยรายชื่อดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่และเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศจนถึงวันที่ 30 พ.ย. นี้

สถานะของแจ็ค หม่า ที่เพิ่งมีการยืนยันอย่างเป็นทางการและชัดเจนในฐานะสมาชิก พคจ. กลายเป็นที่พูดถึงตามหน้าสื่อไทยและเทศ ในการนี้ ประชาไทชวนเข้าใจที่มา หน้าที่ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นสาเหตุว่า ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกเป็นชนชั้นนายทุน และเป็นนายทุนที่รวยที่สุดในประเทศไปเสียได้
รู้จักสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ ‘ชนชั้นนายทุน’ เป็นกันมากขึ้น

ปัจจุบัน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของ พคจ. มีจำนวนประมาณ 90 ล้านคน กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศจีน ซึ่งมีประชากรราว 1,400 ล้านคน โดยสมาชิกนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางหรือนโยบายของพรรค สื่อเดอะสเตรตไทม์ให้ข้อมูลว่า การจะเป็นสมาชิกพรรคได้นั้นจะต้องได้รับการคัดเลือกจากพรรคซึ่งใช้เวลานานและผ่านหลายกระบวนการ ผู้สมัครที่เข้ามานั้นผ่านมาได้จากสมัครหรือได้รับการแนะนำ แต่ก็มีที่ พคจ. ส่งคำเชิญให้บุคคลเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ ผู้เป็นสมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านสถานะทางสังคม หลายคนถือเป็นช่องทางในการได้รับทุนการศึกษาหรือมีหน้าที่การงานในหน่วยงานราชการ

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ให้ข้อมูลว่าการที่มีนายทุนเข้ามาเป็นสมาชิก พคจ. คือภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดเศรษฐกิจและการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หลังนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 40 ปีก่อน

“ก่อนที่ พคจ. จะปฏิรูปเมื่อปี 1979 คนที่เป็นสมาชิกพรรคนั้นส่วนใหญ่จะมาจากชนชั้นกรรมกร ชาวนา และปัญญาชน แต่หลังการปฏิรูปไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อกลางทศวรรษ 1990 พคจ. ก็เปลี่ยนนโยบายการรับสมาชิกใหม่ นั่นคือ แต่เดิมซึ่งเป็นแต่กรรมกร ชาวนา และปัญญาชน ก็เพิ่มนักธุรกิจ หรือถ้าเราพูดภาษาแบบซ้ายๆ ก็คือชนชั้นนายทุนนั่นเอง ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ กับการปฏิรูปเพราะการปฏิรูปของจีนเป็นการเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจจากสังคมนิยมเป็นเสรีนิยม เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลเหล่านี้ ที่อาจเริ่มต้นจากคนที่ทำงานระดับล่าง รายได้ไม่สูง ก็กลายมาเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาก็มีคนเหล่านี้ทั่วประเทศ และรับคนเหล่านี้เป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น”

“เราก็ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ถ้าเอารายชื่อสมาชิกพรรคมากางไว้แล้วดูภูมิหลัง มันจะเหลือคนที่มีภูมิหลังเป็นกรรมกร ชาวนาสักกี่คน ก็คงมี แต่ไม่เท่ากับสมัยที่เขาไม่ปฏิรูป ตรงนี้ผมก็รวมถึงคนที่จบการศึกษาสูงแล้วเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ประเภทที่ใช้มันสมอง อย่างวิศวกร สถาปนิก นายแพทย์ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่กรรมกร ชาวนาแล้ว เรียกว่าเป็นชนชั้นกลางก็ได้”

วรศักดิ์กล่าวถึงหน้าที่ของสมาชิกพรรคว่าเป็นการทำหน้าที่ในประเด็นสาธารณะ เช่น เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนที่มีวิกฤตโรคซาร์ส สมาชิกพรรคเมื่อเลิกงานก็ต้องประชุม ปรึกษาหารือเรื่องความตื่นตระหนกของประชาชนที่มีต่อโรค หรือในปัจจุบันที่มีนโยบายเรื่องหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road - OBOR) สมาชิกพรรคก็ต้องมานั่งประชุม ศึกษาเรื่อง OBOR ว่าดีอย่างไร จะช่วยกันผลักดันนโยบายให้เป็นจริงได้อย่างไร นอกจากนั้นยังต้องคอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอีกด้วย

ต่อคำถามว่าจะมีผลกระทบอะไรกับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจากอาลีบาบาและตัวละครทางเศรษฐกิจของจีนอยู่หรือไม่นั้น วรศักดิ์ยังไม่คิดว่ามี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจและการเมืองไม่ชัดเจนมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนมีดำริให้ พคจ. มีบทบาทนำในทุกแง่มุมของสังคม ทำให้มีความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ของนักธุรกิจไปขัดกับส่วนของภาครัฐ ที่ผ่านมา ธุรกิจเกมในจีนต่างก็ประสบปัญหาในการวางจำหน่ายและเก็บรายได้จากเกมเมื่อรัฐบาลจีนมีนโยบายป้องกันปัญหาเด็กติดเกมและตรวจสอบเนื้อหาในโลกออนไลน์


อุตสาหกรรมเกมจีนสะเทือน หลังรัฐบาลคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์-จ่อแก้เด็กติดเกม

ทำความเข้าใจการเมือง-กฎหมายจีน โอกาสเศรษฐกิจไทย ย้อนดู AI ในรัฐเผด็จการ

แจ็ค หม่า ปัจจุบันมีอายุ 54 ปี เขาประกาศไว้ว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทอาลีบาบาในปีหน้า เขาคือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นจำนวน 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอาลีบาบานั้นก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก่อนที่จะขยายเครือข่ายกิจการออกไปในธุรกิจอื่นๆ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินจำนวน 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก โดยที่ผ่านมา แจ็ค หม่า เคยพูดวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในจีนอยู่บ้างเป็นระยะไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษ หรือเรื่องอำนาจของ พคจ. แต่ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง บทบาทของแจ็ค หม่า ก็เปลี่ยนไปเป็นการช่วยปกป้องรัฐบาลต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เอง นอกจากนั้น เขายังเคยพูดสนับสนุนนโยบายของสีจิ้นผิงในปี 2559 โดยเสนอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศใช้บิ๊กดาต้าป้องกันอาชญากรรม และยอมรับการที่จีนสร้างระบบการตรวจตราโลกออนไลน์กับประชากรหลักพันล้านด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก

Jack Ma Confirmed as Chinese Communist Party Member, Bloomberg, Nov 27, 2018

Beijing to honor founders of three internet giants, The People's Daily, Nov. 26, 2018

How Jack Ma Made Rich Capitalists Acceptable in Communist China, Bloomberg, Sep. 11, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.